NIA จับมือ AIEAT สร้างโอกาสดัน ARI-Tech สตาร์ทอัพ ขยายตลาดสู่การเติบโต เพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

NIA จับมือ AIEAT สร้างโอกาสดัน ARI-Tech สตาร์ทอัพ ขยายตลาดสู่การเติบโต เพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมมือกับ สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย หรือ AIEAT ดำเนินโครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์-หุ่นยนต์-เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงและไอโอที สู่การขยายตลาด หรือ ARI-Tech Startup Connext โดยเชื่อมต่อของเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านอารีเทคกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างโอกาสในตลาดใหม่ๆ เกิดเป็นระบบนิเวศที่สนับสนุนและผลักดันการเติบโตของสตาร์ทอัพสายดีพเทค เพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

ปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ได้ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมสตาร์ทอัพรายสาขาเพื่อสร้างความเข้มแข็ง (Strong Sectoral Innovation System, SIS) ให้กับประเทศ

โดยให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech Startup) ซึ่งสตาร์ทอัพด้านอารีเทค ได้แก่ 1) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 2) หุ่นยนต์ (Robotics) 3) เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง และไอโอที (Immersive, IoT) เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเกิดการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นพื้นฐานเทคโนโลยีสำคัญ ที่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดรูปแบบธุรกิจที่เกิดมูลค่าได้อย่างมหาศาล

เห็นได้จากการรวบรวม 100 สตาร์ทอัพด้าน AI ของ CB Insight ในปี 2021 มีการใช้ AI เกิดการขับเคลื่อนไปในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งในวงกว้างและเชิงลึกที่มีการขยายตัวสูงมาก เกิดการระดมทุนในปี 2021 มากกว่า 351 พันล้านบาท รวมไปถึงการพัฒนาด้านหุ่นยนต์ เทคโนโลยีเสมือนจริง ที่หลายประเทศมีเป้าหมายในการพัฒนาและได้รับการระดมสูงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

SUSTAINTECH จับมือ เทนเซ็นต์ คลาวด์ ร่วมพัฒนา ‘CircularOne’ เครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์แบบอัตโนมัติ

ดังนั้น NIA ในฐานะหน่วยงานอำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal facilitator) จึงเร่งพัฒนาการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านอารีเทค ให้มีการใช้งานตอบโจทย์ได้อย่างหลากหลาย ดังเช่นโครงการ ARI-Tech Startup Connext นี้ ด้วยการสร้างสะพานเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพได้จับคู่และทำงานจริงร่วมกับบริษัท/หน่วยงาน ให้เกิดความเข้าใจของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้เกิดการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ที่จะทำให้สามารถขยายตลาดให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก ตลอดจนสร้างโอกาสให้ได้รับการต่อยอดทางธุรกิจร่วมกันและสตาร์ทอัพมีการขยายสู่ตลาดได้เพิ่มมากขึ้นได้

ดร.ชาญวิทย์ บุญช่วย อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการได้คัดเลือก 15 สตาร์ทอัพด้านอารีเทคที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้งานต่อยอดธุรกิจนั้น โดยได้เสริมศักยภาพสตาร์ทอัพให้มีความพร้อมที่จะขยายตลาด การเข้าใจกลุ่มลูกค้า ผ่านการเรียนรู้จากสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ มาถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมทั้งข้อคิดและคำแนะนำในการปรับกลยุทธ์ให้สามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่ต้องสร้างความเข้าในการนำเทคโนโลยีเชิงลึกไปประยุกต์ใช้งานและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ 15 อารีเทคสตาร์ทอัพที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังนี้

ด้านการแพทย์ และสุขภาพ ได้แก่

1) Brain Dynamics : เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลสำหรับโรคจากการหลับ
2) Joey – AI Doctor : วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพด้วย AI ลดเวลาการทำงานจาก 30 วัน เหลือเพียง 1 วัน เชื่อมต่อโปรแกรมตรวจสุขภาพ และติดตามรูปแบบของโรคเพื่อการป้องกันและรักษาที่ดีที่สุด
3) Perceptra : การใช้งานปัญญาประดิษฐ์ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายรังสีทรวงอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
4) POPMED : การให้คำแนะนำแบบเฉพาะบุคคล เพื่อช่วยให้ผู้ใช้เรียนรู้พฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายของตัวเองและปรับปรุงเพื่อสุขภาพที่ดี

ด้านแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่

5) Crest Kernel : แพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัยด้วยระบบ AI ประมวลผลภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อลดความผิดพลาดและทดแทนแรงงาน
6) Dynamic Intelligence Asia (dIA) : ระบบตรวจจับใบหน้า พร้อมบันทึกเวลาการเข้าออกออฟฟิตด้วย AI อัจฉริยะผ่านกล้องวงจรปิด
7) MUI Robotics : จมูกอิเล็กทรอนิกส์แปลงกลิ่นเป็นข้อมูลนำไปใช้ในได้อย่างหลากหลายการใช้งาน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร สัญญาณเตือนภัยจากกลิ่น
8) TIE Smart Solutions : แพลตฟอร์มการวินิจฉัยการประหยัดพลังงานสำหรับระบบอาคาร ติดตั้งได้ง่าย สะดวก ประกันการประหยัดพลังงานลงอย่างต่ำร้อยละ 15
9) WeMove Platform : ระบบจัดจ้างรถขนส่งออนไลน์ ที่ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน เพิ่มคุณภาพการบริการ และช่วยลดต้นทุนงานขนส่ง

ด้านการศึกษา และฝึกอบรม ได้แก่

10) Blue Ocean Technology : แพลตฟอร์มจำลองการฝึกเสมือนจริง ส่งมอบประสบการณ์การฝึกปฎิบัติงาน (OJT) โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่และ
11) EasyKids Robotics : ชุดหุ่นยนต์เพื่อการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมฝึกทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3 ภาษาคอมพิวเตอ์ 3 ระดับ ในหุ่นยนต์ชุดเดียว

ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ได้แก่

12) LightWork : แพลตฟอร์มที่ผสานเทคโนโลยี Robotic Process Automation และ AI เพื่อสร้างโปรแกรมหุ่นยนต์ผู้ช่วยมาแบ่งเบาภาระการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดเวลาการทำงาน นำไปใช้ได้หลากหลายแผนก และอุตสาหกรรม
13) ManaWork : แพลตฟอร์มเพิ่มประสิทธิภาพ WFH ด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อเชื่อมต่อให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์ข้อมูล และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเป็นระบบ
14) Vulcan : สร้างอาชีพให้ผู้พิการทำงานยุคใหม่เป็น ‘AI Trainer’ เพื่อพัฒนาโมเดล AI หรือจัดทำข้อมูลเฉพาะ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้บริษัทจ้างงานผู้พิการตามกฎหมาย
15) WE Assess : ระบบสัมภาษณ์งานออนไลน์ พร้อม AI ช่วยวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของผู้สมัครงาน ที่ช่วยลดเวลากว่าร้อยละ 50

ส่วนสำคัญของการดำเนินโครงการ คือ การสร้างเวทีให้สตาร์ทอัพได้นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้รับการตอบรับจากบริษัทชั้นนำของประเทศเข้าร่วมงานและแสดงความสนใจพูดคุยกันในรายละเอียดกันเพิ่มเติม โดยมุ่งหวังให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ และเกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง

นับได้ว่าเป็นการสร้างโอกาสที่จะขยายตลาดให้เกิดการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพ อีกด้านหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมภาคธุรกิจ หรือหน่วยงานภาครัฐ ก็ได้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ด้วยความมุ่งมั่นจากฝีมือสตาร์ทอัพของไทย นับได้ว่าจะช่วยสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เอื้อต่อการเติบโตไปด้วยกัน

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในอนาคตสตาร์ทอัพด้านอารีเทคจะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับนวัตกรรมของประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญคือ เวทีแห่งโอกาสที่ให้เทคโนโลยีของสตาร์ทอัพไทยได้แสดงฝีมือ ด้วยการสร้างระบบนิเวศที่พร้อมเปิดรับการใช้งานของสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดขึ้นในประเทศไทย สุดท้ายนี้จึงขอฝากไว้ว่า ถ้าหน่วยงานหรือองค์กรใดที่มีสนใจการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ สามารถแจ้งติดต่อมาที่ NIA และ AIEAT ที่พร้อมเป็นสะพานเชื่อมประสานให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือเกิดการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน”

Scroll to Top