สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เตรียมความพร้อมในการส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยเดินหน้าทำความร่วมมือกับชาติยุโรป ได้แก่ สาธารณรัฐโปรตุเกส และราชอาณาจักรสวีเดน เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมที่จำเป็นสำหรับผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสเติบโตในเวทีนานาชาติได้มากขึ้น เช่น ความร่วมมือในการผลักดันสตาร์ทอัพด้านอาหารภายใต้โครงการ SPACE-F เพื่อขยายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารและการเกษตรสู่ตลาดโปรตุเกส ความร่วมมือในการจัดงาน Startup X Innovation Thailand Expo 2023 (SITE 2013) นอกจากนี้ ยังเตรียมนำกลไกการสนับสนุนด้านการเงินจากสวีเดนมาปรับใช้กับสตาร์ทอัพไทย และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนเทคโนโลยีเชิงลึก เช่น เทคโนโลยีอวกาศ เกษตรขั้นสูงให้กับสวีเดน เป็นต้น
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ภาครัฐยังคงเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการผลักดันสตาร์ทอัพ เนื่องจากสามารถกำหนดนโยบาย แนวทางส่งเสริม พร้อมทั้งเครือข่ายที่จะส่งต่อให้เกิดการลงทุน หรือกระจายนวัตกรรมเข้าไปในภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงโอกาสการเติบโตในต่างประเทศ ทั้งนี้ NIA จึงได้เตรียมความพร้อมสนับสนุนผ่านการศึกษาแนวทางและทำความร่วมมือกับหน่วยงานส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมในต่างประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐโปรตุเกส และราชอาณาจักรสวีเดน โดยมีเป้าหมายยกระดับสตาร์ทอัพไทยให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และนำต้นแบบระบบนิเวศที่จำเป็นต่อสตาร์ทอัพมาปรับใช้กับประเทศไทย รวมถึงการนำเสนอศักยภาพทางด้านนวัตกรรมและแบรนด์สตาร์ทอัพที่มีความโดดเด่น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและมีช่องทางตลาดต่างประเทศ
สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยและโปรตุเกส NIA ได้เข้าร่วม Web Summit 2022 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกกว่า 70,000 ราย จาก160 ประเทศ โดยได้ศึกษาแนวทางการจับคู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ การทำให้งานอีเว้นท์ด้านนวัตกรรมมีความน่าสนใจและมีส่วนในการผลักดันภาพลักษณ์นวัตกรรมของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้หารือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติของสาธาณรัฐโปรตุเกส เพื่อสร้างความร่วมมือในการนำงานวิจัยและเทคโนโลยีไปเชื่อมต่อกับภาคธุรกิจ การกระชับการทูตนวัตกรรมของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะด้านระบบนวัตกรรมที่เชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพ/เอสเอ็มอีเติบโตได้ดียิ่งขึ้น
–บิสกิต โซลูชั่น ยกระดับนครปฐม ด้วย “ระบบรับฟังเสียงประชาชน” AI ครั้งแรกในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้หารือกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน เพื่อต่อยอดความร่วมมือโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการปั้นสตาร์ทอัพด้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารและการเกษตรเข้าสู่ตลาดของโปรตุเกส และการจัดงาน Startup X Innovation Thailand Expo (SITE) 2023 เพื่อถ่ายทอดความโดดเด่นของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมจากโปรตุเกสสู่ไทย เช่น ด้านพลังงานหมุนเวียน และการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรที่หลากหลาย
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนราชอาณาจักรสวีเดน NIA ได้ทำความร่วมมือกับ Vinnova ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านนวัตกรรม ภายใต้กระทรวงวิสาหกิจและนวัตกรรม เพื่อนำความรู้และแนวทางการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมมาปรับใช้กับผู้ประกอบการไทย โดยได้แลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานร่วมกับ Ignite Sweden ซึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Vinnova มีหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกระหว่างเอกชนรายใหญ่ในการร่วมทุน/ร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ
ปัจจุบันมีฐานข้อมูลสตาร์ทอัพมากกว่า 10,000 บริษัท และมีบริษัทขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจที่เป็นพันธมิตรมากกว่า 200 บริษัท แม้ว่าจะมีสำนักงานอยู่ที่กรุงสตอกโฮล์ม แต่สามารถทำงานครอบคลุมทั่วสวีเดนผ่านหน่วยบ่มเพาะขององค์กร และอุทยานวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการการจัดงานจับคู่ธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังได้หารือกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮลม์ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและนโยบายสนับสนุนการลงทุนธุรกิจสตาร์อัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกมาสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อการส่งออก เกษตรขั้นสูง และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมถึงการขยายความร่วมมือกับศูนย์ Thailand and Nordic Countries Innovation Unit (TNIU) ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระหว่างประเทศไทยและภูมิภาคนอร์ดิก โดยเฉพาะการหาพาร์ทเนอร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การส่งเสริมการเชื่อมโยงการลงทุนภาคธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและสวีเดน การสนับสนุนสตาร์ทอัพฝั่งนอร์ดิกมายังประเทศไทยไทยเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพให้เข้มแข็ง รวมถึงการสร้างความตระหนักในศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศไทยในภูมิภาคนอร์ดิก เพื่อเปิดมุมมองและภาพลักษณใหม่ด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่ไม่ได้มีเพียงแค่เป็นตลาดการส่งออกหรือแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น
NIA ได้มีโอกาสศึกษา The Stockholm Royal Seaport ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน มีพื้นที่ทอดยาวไปตามริมฝั่งทะเลบอลติก ห่างจากใจกลางกรุงสตอกโฮล์มด้วยการขี่จักรยานเพียง 10 นาที ในอดีตเคยเป็นนิคมอุตสาหกรรมท่าเรือ โรงไฟฟ้าและก๊าซ แต่ปัจจุบันมีเป้าหมายในการเป็น “เมืองแห่งความยั่งยืนระดับโลก” โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกของคนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ภายในปี 2030 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาย่านนวัตกรรมของ NIA โดยจะนำแนวทางด้านนวัตกรรม เช่น หลักการชุมชนขนาดกระทัดรัด (compact community) ที่เชื่อมโยงคน สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การเดินทางที่มีความอัจฉริยะ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาคารประหยัดพลังงาน การแบ่งปันการใช้ยานพาหนะ มานำร่องใช้กับย่านนวัตกรรมที่มีศักยภาพ
“ปัจจุบันราชอาณาจักรสวีเดนเป็นชาติที่มีความโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งได้รับการจัดอันดับจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกให้มีดัชนีนวัตกรรมอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก โดยเฉพาะความสามารถด้านวิจัยของบุคคลและสตาร์ทอัพ องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานและความเชี่ยวชาญการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมที่อยู่ในลำดับที่ 1 ของโลก ส่วนโปรตุเกสถือเป็นชาติที่มีความสัมพันธ์ในเชิงการทูตกับไทยมาช้านาน และสามารถพัฒนาไปสู่ความร่วมมือทางการทูตนวัตกรรมต่อไป” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป