NIA ดึง GISTDA และ Starburst รุกดัน “Space Economy” สร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพอวกาศไทย ตั้งเป้า 10 ปี 100 ราย

NIA ดึง GISTDA และ Starburst รุกดัน “Space Economy” สร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพอวกาศไทย ตั้งเป้า 10 ปี 100 ราย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าฉลองปีนวัตกรรมไทย – ฝรั่งเศส จับมือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และ สตาร์เบิร์ส (Starburst) ภาคธุรกิจอวกาศขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศของไทยให้เติบโตสู่ตลาดโลก โดยมีแผนเริ่มโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยาน หรือ F1 พร้อมดึงสตาร์ทอัพจากต่างประเทศมาร่วมเร่งสร้างการเติบโตและเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ทั้งนี้ NIA ตั้งเป้าปั้นสตาร์ทอัพ ด้านอวกาศและอากาศยานรายใหม่เข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องประมาณปีละ 10 ราย ภายใน 10 ปี ไทยจะมีสตาร์ทอัพ ด้านอวกาศกว่า 100 ราย

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า เทคโนโลยีด้านอวกาศเป็นกระแสที่มาแรงและอยู่ในความสนใจของหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยเองก็กำหนดให้กิจการอวกาศเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องเร่งขับเคลื่อนและพัฒนาเช่นกัน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา NIA ได้บ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านเศรษฐกิจอวกาศรายใหม่ผ่านโครงการ Space Economy: Lifting Off จำนวน 24 ราย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้น และขณะนี้ได้เตรียมต่อยอดด้วยการเร่งสร้างห่วงโซ่อุปทาน ระบบนิเวศด้านอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานของประเทศ เพื่อผลักดันนโยบายให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

NIA พร้อมลุย “นิลมังกร The Reality” ซีซั่น 2 ดึงคอนเทนต์โชว์คาแรคเตอร์ แบรนด์นวัตกรรมไทย – สร้างพาวเวอร์เศรษฐกิจ

“ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสร้างสตาร์ทอัพด้านอวกาศ โดยในปี 2023 นี้ถือเป็นปีสำคัญที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งนวัตกรรมไทย – ฝรั่งเศส” NIA จึงมองว่า เป็นโอกาสดีที่ไทยจะดึงสตาร์ทอัพจากต่างประเทศมาร่วมเร่งสร้างการเติบโต เพิ่มมูลค่าธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจอวกาศรายใหม่ของไทย พร้อมทั้งดึงดูดบริษัทขนาดใหญ่มาร่วมลงทุนให้กับสตาร์ทอัพทั้งไทยและต่างประเทศ คล้ายกับโมเดลที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านอาหาร และการเกษตร อย่างโครงการ SPACE-F และ AGrowth ทั้งนี้แต่ละปีคาดว่าจะสามารถผลิตสตาร์ทอัพได้เพิ่มปีละประมาณ 10 ราย”

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวทางดังกล่าวจึงเกิดเป็นความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศประเทศไทยระหว่าง NIA GISTDA และ สตาร์เบิร์ส (Starburst) ขึ้น ซึ่งจะพัฒนาระบบนิเวศด้านอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานของประเทศด้วยการต่อยอดงานวิจัย การพัฒนาบุคลากรของประเทศให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยานในระดับอุตสาหกรรม สร้างโอกาสในเชิงพาณิชย์และการพัฒนาตลาดของสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยาน หรือ F1 ที่นำไปสู่การพัฒนา “เศรษฐกิจอวกาศ” และอุตสาหกรรมอากาศยานและการบิน รวมถึงการจัดทำมาตรการส่งเสริม ประสานงาน และผลักดันนโยบายให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ได้ 3 แสนล้านบาทในอีก 10 ปี ข้างหน้า

ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังเร่งส่งเสริมและพัฒนากิจการด้านอวกาศและอากาศยานของไทยให้ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศใหม่ โดยการออกแบบและพัฒนาดาวเทียม การทดลองและวิจัยการสำรวจอวกาศ และนวัตกรรมอื่นผ่าน 5 โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากกิจการด้านอวกาศในไทย ได้แก่ อวกาศเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า อวกาศเพื่อไลฟ์สไตล์ดิจิทัล อวกาศเพื่อรัฐบาลและรัฐบาลเพื่ออวกาศ ศูนย์กลางอาเซียนสำหรับธุรกิจอวกาศแห่งใหม่ และอวกาศสำหรับมนุษยชาติในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งการลงทุน สตาร์ทอัพ สังคม สิ่งแวดล้อม และนโยบาย เพื่อตอกย้ำว่า อวกาศคือเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย มากกว่าการเป็นเพียงเทคโนโลยีที่ไกลตัว ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องเริ่มจากการพัฒนากำลังคน โดยมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และทำให้ทุกคนเชื่อว่าเศรษฐกิจอวกาศใหม่จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงในไทย นอกจากนี้ การได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทั่วโลกก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจอวกาศใหม่ไปสู่เวทีโลก

ฟรองซัว โชปาร์ด ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารสตาร์เบิร์ส กล่าวว่า ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะเกิดโรคระบาดขึ้นทั่วโลก แต่ธุรกิจทางด้านอากาศยานและการบินยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศมีการนำเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้ในสิ่งที่ใกล้ตัว ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องถึง 8 สาขา ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับ ระบบการขนส่งทางอากาศที่ในระดับความสูงต่ำ การบินภูมิภาค ซูเปอร์โซนิค ระบบการส่งอวกาศ ดาวเทียม การสำรวจอวกาศ และระบบป้องกัน จะเห็นได้ว่าการที่วัฏจักรของธุรกิจทางด้านอวกาศ อากาศยานและการบินจะเติบโตได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลา เพราะไม่ใช่เป็นแค่การพัฒนาซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องพัฒนาไปถึงเรื่องของดาวเทียมและอุปกรณ์ที่ส่งไปยังอวกาศ และสิ่งสำคัญคือเงินทุนในการพัฒนาจึงทำให้เราต้องเร่งพัฒนาระบบนิเวศที่ดึงดูดนักลงทุนด้วยเช่นกัน

“การที่สตาร์เบิร์สได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศและอากาศยานของไทย โดยการนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาจากสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปมาช่วยพัฒนาสตาร์ทอัพรายใหม่ จะทำให้เป้าหมายในด้านการสร้างระบบนิเวศและการพาสตาร์ทอัพทะยานไปสู่ระดับนานาชาติเกิดขึ้นได้จริง การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่าไทยและฝรั่งเศสจะร่วมกันสร้างและพัฒนาศูนย์การบ่มเพาะและเร่งการเติบโต ด้านนวัตกรรมอวกาศและอากาศยาน เพื่อให้เศรษฐกิจอวกาศไทยพัฒนาสู่สายตาชาวโลก” ฟรองซัว กล่าวปิดท้าย

Related Posts

Scroll to Top