สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ประกาศความพร้อมในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลก” ด้วยการผนึกกำลังพันธมิตรยักษ์ใหญ่ อาทิ ไทยยูเนี่ยน, มหาวิทยาลัยมหิดล, ไทยเบฟ, ล็อตเต้ ไฟน์ เคมิคอล, เนสท์เล่ และ ดีลอยท์ เดินหน้าโครงการ SPACE-F ปีที่ 5 บ่มเพาะและเร่งการเติบโต 18 สตาร์ทอัพฟู้ดเทค โดยมุ่งเน้น “ความยั่งยืน” และ “อาหารแห่งอนาคต” ซึ่งสอดรับกับเมกะเทรนด์ของโลก และความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยโครงการ SPACE-F ถือเป็นหนึ่งในโครงการเรือธงของ NIA ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สามารถปั้นสตาร์ทอัพกว่า 80 รายจาก 18 ประเทศ ดึงดูดเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีโลก
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA เปิดเผยว่า NIA ภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “ชาตินวัตกรรม” ด้วยแนวคิด Groom – Grant – Growth – Global ครอบคลุมทั้งมิติการสนับสนุนเงินทุน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ NIA ให้ความสำคัญ คือ “นวัตกรรมอาหาร” ซึ่งโครงการ SPACE-F ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาด และเสริมความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมอาหารไทย สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
SPACE-F เปรียบเสมือนแพลตฟอร์ม ที่เชื่อมโยงสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร เข้ากับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน เปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาแผนธุรกิจ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต โดยโครงการนี้สอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น “ครัวของโลก” ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งหลายประการ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การลงทุนด้านนวัตกรรมอาหาร มาตรฐานความปลอดภัย และความหลากหลายของผลิตผลทางการเกษตร ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี
ธวัช สุธาสินีนนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม (GIC) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยน ในฐานะผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก เล็งเห็นถึงความสำคัญของ “นวัตกรรม” และ “ความยั่งยืน” ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งเน้นการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของโครงการ SPACE-F ที่สนับสนุนการพัฒนาแหล่งโปรตีนใหม่ ลดขยะอาหาร และเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ โดยเชื่อมั่นว่า สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหาร ให้มีความยั่งยืน
รศ. ดร.ยศชนัน วงศสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและรักษาการผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน “Thailand Future Food Initiative” เพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต โดยพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการฟู้ดเทค ด้วยทรัพยากร เครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ และคำแนะนำ ซึ่งที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัพหลายราย ที่เกิดจากการบ่มเพาะโดยบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล เช่น MUI Robotics, Nutricious และ Advanced GreenFarm โดยมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมต้อนรับสตาร์ทอัพ ที่สนใจพัฒนาโซลูชั่นด้านอาหาร ให้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหาร สู่ระดับโลก
วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า เนสท์เล่ รู้สึกประทับใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SPACE-F และได้เห็นการทำงานของเหล่าสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจ และช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับบริษัทขนาดใหญ่อย่างเนสท์เล่ โดยเนสท์เล่ พร้อมสนับสนุน ให้คำปรึกษา แบ่งปันแหล่งข้อมูล และพาผู้ประกอบการ ไปเยี่ยมชมโรงงานและศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพ เข้าใกล้ความฝันมากยิ่งขึ้น
ไทยเบฟ มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงาน Proof of Concept (POC) ให้กับสตาร์ทอัพ เพื่อทดลองและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในสภาพแวดล้อมจริง ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ และต่อยอดสู่การพัฒนา ที่ตอบโจทย์ตลาด โดยไทยเบฟ มุ่งเน้นการส่งเสริมความยั่งยืนในระบบนิเวศธุรกิจ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการด้านพลังงานสะอาด และการยกระดับความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน
18 สตาร์ทอัพฟู้ดเทค ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ SPACE-F ปีที่ 5 ประกอบด้วย
โครงการบ่มเพาะ (Incubator Program)
- Full Circle Co., Ltd: ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์เพียงครั้งเดียว รายแรกในประเทศไทย มุ่งเน้นการสร้างระบบ ที่ช่วยให้ผู้บริโภค สามารถนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำได้
- Another Food: พัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟ จากเซลล์พืช ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างทางเลือกใหม่ สำหรับผู้บริโภค
- Cantrak: พัฒนาซอฟต์แวร์ สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการติดตาม ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการผลิต ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ
- Nanozeree: พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ที่ประกอบด้วยโปรไบโอติกและพรีไบโอติก ด้วยเทคโนโลยีการห่อหุ้มระดับนาโน (Nano Encapsulation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการดูดซึมสารอาหาร
- Anuvi Food Sciences: พัฒนาส่วนผสมอาหารจากจุลินทรีย์ ที่ได้จากอุตสาหกรรมเอทานอล ด้วยกระบวนการหมัก ให้เป็นไมโครโปรตีน เพื่อสร้างแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่
- Algrow Biosciences Pte. Ltd.: พัฒนาส่วนผสมโปรตีนสูงจากสาหร่าย ด้วยนวัตกรรมการสกัดที่สะอาด และมีคุณค่าสูง เป็นทางเลือก สำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
- Flavour: พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ด้วยเทคโนโลยีการหมัก เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นรสชาติ และใช้ผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อลดขยะ และเพิ่มมูลค่า
- Beijing BangyaBangya Technology: พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากถั่วงอก ที่สามารถป้องกันอาการเมาค้างได้ โดยใช้นวัตกรรม ในการสกัดสารสำคัญจากถั่วงอก
- KronoLife Co., Ltd.: พัฒนาอาหารเสริมและเครื่องสำอางต่อต้านริ้วรอย โดยมุ่งเป้ากำจัดเซลล์ชรา เพื่อสุขภาพผิวที่ดีขึ้น
โครงการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Accelerator Program)
- SEATOBAG PTE LTD: พัฒนาจุลินทรีย์ เป็นสารอาหารสำคัญในอาหารสัตว์น้ำ เพื่อช่วยในการย่อย และการดูดซึมของสัตว์
- N&E Innovations: พัฒนาสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และแผ่นฟิล์มเคลือบอาหาร จากเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เพื่อลดการใช้สารเคมี และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้
- Biodefense led by BioShield: พัฒนาสารเคลือบอาหาร ที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา ให้ยาวนานขึ้น ลดการสูญเสียของผลผลิตทางการเกษตร ใช้ได้กับทั้งผักผลไม้และเนื้อสัตว์
- UniFAHS: พัฒนาเทคโนโลยีเฟจ สำหรับควบคุมแบคทีเรียก่อโรค ในกระบวนการผลิตปศุสัตว์และประมง ด้วยกลไกทางธรรมชาติ ช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะ
- Prefer Pte Ltd: พัฒนาสารทดแทน ที่มีกลิ่นและรสชาติคล้ายกาแฟ ด้วยเทคโนโลยีการหมักขนมปัง ถั่วเหลือง และข้าวบาร์เลย์ เพื่อสร้างทางเลือก สำหรับผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ
- Fattastic Technologies Pte Ltd: พัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม สำหรับผลิตไขมันจากพืช ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนคุณสมบัติ ให้เหมาะสม ไปตามการใช้งานของผลิตภัณฑ์ หลากหลายรูปแบบในอุตสาหกรรมอาหาร
- MUI Robotics Co., Ltd.: พัฒนาเทคโนโลยีสัมผัสประดิษฐ์ (Artificial Sense) ด้านกลิ่นและรสชาติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานกระบวนการผลิต ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
- Aquivio: พัฒนาเครื่องจ่ายน้ำอัตโนมัติ และบริการน้ำดื่มฟังก์ชัน ที่ให้ผู้บริโภค สามารถเลือกและปรับแต่งคุณสมบัติ ได้ตามความชอบ และความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน
- Ingrediome Inc.: พัฒนากระบวนการผลิตโปรตีนสัตว์ ด้วยสาหร่าย ทำให้ได้โปรตีน ที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง โดยกระบวนการผลิต มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
SPACE-F ปีที่ 6 เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ สำหรับฟู้ดเทคสตาร์ทอัพทั่วโลก โดยสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงเครือข่าย ทรัพยากร แหล่งทุน และผู้เชี่ยวชาญ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.space-f.co/
โครงการ SPACE-F เป็นความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อผลักดันประเทศไทย สู่การเป็น “ศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลก” โดยมุ่งเน้น “ความยั่งยืน” และ “อาหารแห่งอนาคต” ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์โลก และความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยโครงการนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้กับประเทศไทย และประชากรโลก