หัวเว่ย จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศโครงการแข่งขันสำหรับสตาร์ทอัพ ‘Spark-Ignite Pitching Day & Award Ceremony’ ในงาน Spark Founders Summit 2022 ซึ่งถือเป็นงานสตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย โดยจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับงาน ‘Huawei Connect 2022’ ซึ่งเป็นมหกรรมประจำปีระดับโลกด้านเทคโนโลยีไอซีที การแข่งขันจัดขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสตาร์ทอัพและอีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพดิจิทัลของไทย โดยผู้ชนะจะได้รับเครดิตคลาวด์มูลค่า 125,000 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 4 ล้านบาท พร้อมการให้คำปรึกษาจากหัวเว่ยในการผลักดันธุรกิจให้เติบโต เพื่อเป็นขุมพลังสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน
อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานว่า “ผมขอขอบคุณผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกท่านสำหรับการนำเสนอผลงานที่น่าประทับใจ ทุกทีมได้แสดงแนวคิดที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับการผสานโซลูชันเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับโมเดลธุรกิจ สตาร์ทอัพถือเป็นขุมพลังขับเคลื่อนการค้นพบใหม่ ๆ และต้นคิดเกี่ยวกับนวัตกรรม นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราทุกคนพบกันในวันนี้ โดยหัวเว่ยเชื่อมั่นในศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยในการสร้างโอกาสใหม่ทางด้านอาชีพ และเติมพลังงานสดใหม่ในภูมิทัศน์ดิจิทัลเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมื่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ไม่เคยหยุดนิ่ง เราจะมุ่งต่อยอดการสนับสนุนอีโคซิสเต็มดิจิทัลของประเทศไทยอยู่เสมอ และพร้อมที่จะถ่ายทอดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและขยายความร่วมมือสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพในวงกว้าง ผมหวังว่าหัวเว่ยจะได้เดินเคียงข้างกันบนเส้นทางของผู้ประกอบการเพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน และเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในประเทศไทย”
“ในฐานะตัวแทนจากหัวเว่ย ประเทศไทย ผมขอแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะเข้ารอบในการแข่งขันครั้งนี้ และขอให้กำลังใจทุกทีมที่สมัครเข้าร่วมโครงการให้ยังมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของตัวเองต่อไป เมื่อมองไปยังอนาคต เรายังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยเน้นการปลูกฝังความรู้ให้บุคลากรที่มีความสามารถด้านไอซีที ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นพาร์ทเนอร์ไอซีทีชั้นนำระดับโลกและร่วมสนับสนุนคุณค่าทางสังคมในประเทศไทยมานานกว่า 23 ปี เรามุ่งมั่นสานต่อพันธกิจ ‘เติบโตในประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย’ และจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ” อาเบล กล่าวเสริม
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้ให้เกียรติขึ้นกล่าวในงานครั้งนี้ว่า “การสร้างอีโคซิสเต็มส์สำหรับสตาร์ทอัพถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการพัฒนาประเทศ ทาง NIA ต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่ได้มีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมอีโคซิสเต็มของสตาร์ทอัพอย่างจริงจังในประเทศไทย รวมถึงขอขอบคุณที่จัดการแข่งขัน Spark-Ignite Pitching Day ในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ที่ให้การสนับสนุนทั้งด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ทางธุรกิจ รวมถึงการช่วยการจัดหาเงินทุน การทำตลาดและได้ให้โอกาสให้สตาร์ทอัพสัญชาติไทยในการเข้าถึงโครงการดีๆ และจะเป็นการต่อยอดการลงทุนในอนาคต สิ่งที่ผมอยากแนะนำสตาร์ทอัพของไทยก็คือการให้ความสำคัญกับการวางโมเดลธุรกิจที่ดูน่าเชื่อถือและประสบความสำเร็จได้จริง”
ลีโอ เจียง ประธานบริหารด้านดิจิทัล หัวเว่ย คลาวด์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวเสริมถึง Spark Founder Summit 2022 ว่า “งาน Spark Founders Summit 2022 เป็นโครงการต่อยอดความสำเร็จในการจัดงานที่สิงคโปร์และฮ่องกงในปีที่ผ่านมา งานในปีนี้จึงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เราเชิญผู้นำจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการบ่มเพาะอีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ตลอดจนการรับมือกับโอกาสและความท้าทายในแง่ของเทคโนโลยี สังคม และเศรษฐกิจดิจิทัล”
ด้าน วิธวินท์ อิทธิภาณุวัต กรรมการบริหาร Vertex Ventures เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ (Venture Capitalist) ในอีโคซิสเต็มของ Huawei Spark กล่าวเสริมว่า “ในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ เรายินดีที่ได้สนับสนุนงาน Spark Founders Summit ของหัวเว่ย ซึ่งเป็นงานที่แสดงถึงความเชื่อมั่นและความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพในประเทศไทย เห็นได้ชัดว่ามีงานที่ท้าทายรอเราทุกคนอยู่เบื้องหน้า แต่เราก็เชื่อว่าปีนี้จะเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าตื่นเต้น ในการร่วมมือกันและเติบโตอย่างแข็งแกร่งไปพร้อมกันเพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาที่ท้าทาย”
–Thrive Venture Builder เชื่อธุรกิจสามารถแก้ปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน
ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เปิดตัวการแข่งขัน ‘Spark-Ignite 2022’ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และเหล่าพันธมิตร การแข่งขัน ‘Spark Ignite Thailand’ เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพไทยได้เข้าร่วมโครงการ Huawei Spark Accelerator เพื่อผลักดันบริษัทของพวกเขาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และขยายศักยภาพการเติบโตสู่ระดับสากล จนถึงปัจจุบัน โครงการนี้สามารถเข้าถึงสตาร์ทอัพในประเทศไทยมากกว่า 1,700 ราย และงานประชุมสุดยอด Spark Founders Summit จะเป็นการรวมตัวของผู้เล่นสำคัญในอีโคซิสเต็ม เชื่อมโยงเจ้าของกิจการ ผู้กำหนดนโยบาย องค์กร และนักลงทุนเข้าด้วยกัน เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตด้านดิจิทัลของทวีปเอเชีย เกี่ยวกับไอเดียจากผู้นำทางความคิดและแนวปฏิบัติเพื่อความสำเร็จรวมทั้งจัดแสดงผลิตภัณฑ์และสตาร์ทอัพที่โดดเด่นอีกด้วย
Globish ชนะเลิศในโครงการการแข่งขัน Spark-Ignite 2022
สำหรับทีมชนะเลิศในโครงการการแข่งขัน Spark-Ignite 2022 ครั้งนี้ ได้แก่สตาร์ทอัพโกลบิช (Globish) ผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์ตออนไลน์สอนภาษาอังกฤษที่เน้นด้านทักษะการพูด สำหรับลูกค้าองค์กรและโรงเรียน โดย นส.ชื่นชีวัน วงษ์เสรี ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “จุดประสงค์ในการเข้าร่วมโครงการนี้ก็เพราะเราต้องการขยายไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน บังคลาเทศ ประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น การได้มาเข้าร่วมกับโครงการนี้ ก็จะทำให้เราสามารถขยายไปประเทศอื่นๆ ที่หัวเว่ยดำเนินธุรกิจอยู่ได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญเรายังต้องการใช้ระบบคลาวด์จากหัวเว่ยสำหรับบันทึกการเรียนการสอนในห้องเรียน และอาจต่อยอดนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาช่วยในการเรียนการสอนได้ด้วย”
ทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งคือทีมสตาร์ทอัพฟินีม่า (Finema) ซึ่งส่งมอบบริการโซลูชันยืนยันตัวตนด้วย Public Key ในอุปกรณ์มือถือ สำหรับป้องกันการถูกขโมยตัวตนในโลกดิจิทัล และรองรับกับการใช้งานกับระบบลงทะเบียนยืนยันตัวตนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ภาคการเงิน ภาคสาธารณสุข ภาคการท่องเที่ยว และภาคการศึกษา เป็นต้น โดยนายชัชชัย ชาญเวชช์ หัวหน้าทีมพัฒนาธุรกิจ บริษัท ฟินีม่า จำกัดมองว่าการแข่งขันครั้งนี้จะช่วยทำให้สตาร์ทอัพไทยรู้จักผลิตภัณฑ์และบริหารของหัวเว่ยมากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับธุรกิจของตัวเองได้
ทั้งนี้ ทางฟินีม่า จะนำโซลูชัน OCR ของหัวเว่ยมาใช้ในการช่วยตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงหาทางต่อยอดทางธุรกิจกับพาร์ทเนอร์ของหัวเว่ย ส่วนทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับสองได้แก่ทีมสตาร์ทอัพ BKK Management Group โดยนายเกรียงไกร พิพัฒน์วิไลกุล Managing Partner & Co-Founder BKK Management Group ได้ให้ข้อมูลว่าทางบริษัทได้ให้บริการโซลูชัน ERP (enterprise resource planning) สำหรับรวบรวมข้อมูลและนำเสนอรายงานอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในสายการผลิตและลดต้นทุน โดยเขามองว่าตลาด ERP มีมูลค่าสูงถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การที่หัวเว่ยจัดโครงการการแข่งขันในลักษณะนี้จะช่วยทำให้สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสได้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญและได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อผลักดันให้เติบโตขึ้นไปอีกระดับได้
นอกจากนี้ ทีมสตาร์ทอัพที่ได้รับรางวัลอันดับ 4 ถึงอันดับ 8 ในโครงการการแข่งขันครั้งนี้ ได้แก่ Dynamic Intelligence Asia, Edvisory “We Assess”, Covest, Vecabo “Fleetex” และ Easy Rice ทั้งนี้ สตาร์ทอัพทั้ง 8 รายจะได้รับคำปรึกษาทางธุรกิจแบบตัวต่อตัวกับผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ย โดยผู้ชนะรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 จะได้รับเครดิตคลาวด์ 125,000 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 4 ล้านบาท และได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และพันธมิตรทางการตลาดของหัวเว่ย ทีมรองชนะเลิศอันดับที่ 2 และ 3 ตลอดจนทีมอันดับที่ 4 และ 5 และอันดับที่ 6-8 จะได้รับรางวัลเป็นเครดิตคลาวด์ 80,000 เหรียญสหรัฐ 20,000 เหรียญสหรัฐ และ 5,000 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ เพื่อสนับสนุนธุรกิจให้พวกเขาสามารถเติบโตทำกำไรได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ผู้ร่วมแข่งขันทุกทีมจะได้รับโอกาสในการเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark ระดับ ‘Accelerate’ Tier หรือระดับ ‘Incubate’ Tier รวมถึงโครงการ Huawei Spark Fire, และโครงการ Spark Go China อีกด้วย