การสร้างตัวตนของประเทศไทยในระดับโลก เป็นสิ่งที่คนไทยทำมาตลอด 50 ปี ไม่ว่าจะเป็น ดินแดนแห่งรอยยิ้ม ครัวไทยสู่ครัวโลก ฯลฯ และมันส่งผลต่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของเราในปัจจุบันอย่างยิ่ง ที่สำคัญอานิสงส์ที่ส่งตรงต่อธุรกิจต่างๆ ที่รองรับตัวตนของประเทศนั้นมหาศาลเหลือเกิน จนเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างตัวตนที่ชัดเจนต่อสายตาชาวโลกนั้นเป็นมรดกตกทอดไปสู่คนยุคใหม่ๆ อย่างน้อยช่วงหนึ่งอายุคนกันเลยทีเดียว
“ประเทศไทยจะเป็นผู้นำทางด้าน Green Business ในภูมิภาคอาเซียนใน 5 ปีต่อจากนี้” ปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ได้กล่าวถึงทิศทางนวัตกรรมของประเทศไทย และสิ่งที่ไทยกำลังจะเป็นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นี้
Green Business หรือธุรกิจสีเขียวคืออะไร ทำไมไทยต้องเป็นผู้นำด้วย คำถามนี้แทบไม่ต้องมีใครมาตอบ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยได้วางรากฐานธุรกิจสีเขียวไว้ลึกมาก มันกลายเป็น new normal ที่ซึมเข้าทุกหย่อมหญ้าในไทยแบบที่หลายคนไม่รู้ตัว พอรู้สึกอีกทีมันกลายเป็นมาตรฐานที่ใครต่อใครก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดา และต่างชาติก็เริ่มมองไทยว่า สินค้าและธุรกิจในไทยต่างก็เป็นเช่นนี้ และถ้าจะบริโภคสินค้าจากไทย ก็การันตีเรื่องนี้ได้เลย
“เหมือนต่างชาติรู้จัก Street Food จากประเทศไทยว่าอร่อย คุ้มค่า ราคาไม่แพง” ภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อเวทีโลกก็คือ เราจะผลิตสินค้าหรือบริการที่เป็น Zero Waste, Low Carbon ฯลฯ เข้าสู่ชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องปกติ เราจะผลิตสินค้าประเภทนี้ทั้งในและต่างประเทศ ถ้าจะซื้อสินค้าจากประเทศไทยรับรองว่า Green แน่นอน
การขับเคลื่อนในการเป็น Green Business ในขณะนี้ พัฒนาไปถึงขั้นไหน ต้องมองไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศ แทบจะทุกแห่งมีการคิดค้นวิจัย ในทุกห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain เช่น ปลูกพืช ทำดิน ทำปุ๋ย ปลูกป่า นำผลผลิตมาแปรรูป นำของเสียจากการแปรรูปมาสร้างผลผลิตใหม่ๆ สนับสนุนสตาร์ทอัพ ทำแอปพลิเคชันตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้า เช็คว่าสินค้าแต่ละตัวมันกรีนจริงไหม หรือว่าทำระบบกำจัดขยะในรูปแบบต่างๆ เรื่อยไปถึงการบริหารจัดการทั้งในรูปแบบธรรมดาหรือดิจิทัล ฯลฯ
ส่วนกลุ่มภาคเอกชนก็ไม่ได้มองว่า Green Business ในไทยจะเป็นแค่ภาคส่วนของ CSR หรือการช่วยเหลือสังคม ที่ต้องมารณรงค์อนุรักษ์โลกให้สวยงามอีกต่อไป (แม้จะมีเอกชนหลายแห่งยังเป็นเช่นนี้อยู่ก็ตาม) แต่มันเป็นสินค้า หรือบริการใหม่ ที่จะต่อยอดและสร้างฐานธุรกิจของตนเองในระยะยาว
ทำไมไทยถึงสามารถเป็นผู้นำใน Green Business ได้ และเป็นไปได้อย่างดี ทั้งที่ในช่วงแรกนั้นรับรู้กันว่า นี่คือการผลักดันจากเวทีการค้าโลก ขณะเดียวกันก็เป็นเงื่อนไขกีดกันทางการค้าวิธีหนึ่งไปในตัวด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะ เส้นทางนี้มันถูกจริตกับคนไทย
หลายแนวโน้มโลก เช่น สร้างชิป ผลิตเอไอ อีคอมเมิร์ซ สร้างอาวุธ ฯลฯ ถามว่าไทยทำได้ไหม คำตอบคือพอได้ แต่สู้คนอื่นไม่ได้ โลกไม่จดจำ คนไทยไม่ได้ถูกสอนให้เป็น ไม่ได้ถูกสอนให้เก่ง แต่สำหรับ Green Business แทบจะไม่ต้องสอนคนไทย คนซื้อรับง่าย คนขายไม่ต้องพูดเยอะ คนผลิตทำได้เลย ไม่ต้องเรียนรู้ใหม่ มันเหมือนอยู่ในสายเลือดของคนไทยโดยไม่ต้องพยายาม จนมันต่อยอดออกมามากมายแบบหลายคนไม่รู้ตัว เผลอนิดเดียวก็อยู่กับมันไปแล้ว
พลวัตนี้กำลังขยายตัวแบบ Exponential คือขยายมาจนถึงจุดหนึ่งก็โตพรวดพราด ยกระดับสังคมขึ้นไปเป็นขั้นเป็นยุคได้เลย และเป็น S-curve สวยๆ ให้เราได้เห็น แน่นอนจะมีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในตลาด มีทั้งโตและตาย จนมันคัดเลือกผู้อยู่รอดด้วยตัวมันเอง จนมาถึงขั้นเติบโตจนแข็งแกร่งแบบธรรมชาติ โดยไม่มีการอัดฉีดหรือมีตัวแบกมาช่วยแต่อย่างใด
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะภาครัฐไทยแค่ทำหน้าที่ไปรับปากในเวทีโลกว่า ไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้า Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และบรรลุเป้า Net Zero Emissions ภายในปี 2065
ในการประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
“Carbon neutrality” หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น ส่วน “Net Zero Emissions” หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุล เท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งในสภาวะสมดุลนี้ก็ไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ และหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า Net Zero Emissions ได้ ก็แปลว่าเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนเกิน ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้
เมื่อไปรับเป้ามา รัฐบาลไทยคงจะไม่เฉย ถ้าจะทำก็ทำได้สองอย่าง อย่างแรกคือสนับสนุนส่งเสริมพวก Green Business เช่นลดภาษี ส่งเสริมการลงทุน ฯลฯ หรือลงโทษพวกปล่อยคาร์บอน เช่น ขึ้นภาษี จับ ปรับ อาจจะเป็นเพราะไทยเริ่มธุรกิจนี้ไปได้ดี ภาครัฐจึงเข้ามาสนับสนุนไม่มาก เล่นไปตามน้ำเท่านั้น แต่กลับมาจริงจังเรื่องภาษีแทน โดยมีความพยายามจะเพิ่มภาษีในธุรกิจสร้างมลภาวะต่างๆ แม้จะดูจริงจัง แต่มาตรการนี้ต้องใช้เวลา และกำลังคนเพื่อบังคับพอสมควร รัฐไทยจะเข้มแข็งกับมันหรือไม่ อนาคตยากตอบได้
สุดท้ายไม่ว่าเช่นไร การมีเป้าหมายเพื่อกำหนดทิศทางประเทศย่อมไม่เลว สามถึงห้าปีต่อจากนี้เราจะเป็นเบอร์หนึ่งอาเซียน และถ้าสิบปีนี้ขึ้นเป็น Top 3 เอเชียก็ถือว่ายอดเยี่ยม เพราะ Green Business นอกจากจะยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยแล้ว ไทยมีแต่ได้ ไม่มีเสีย และเหมาะกับคนไทยที่สุด
–ยุค AI ครองเมือง: 3 ทักษะสำคัญที่มนุษย์ต้องมี เพื่อโดดเด่นในตลาดแรงงาน