งาน TCP Sustainability Forum 2023 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แนวทางการปรับตัวองค์กร และภาคธุรกิจจะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้อย่างไร จาก 3 ผู้บริหารองค์กร กลุ่มธุรกิจ TCP, กลุ่มมิตรผล และ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC
โดยทั้ง 3 ท่านได้แสดงวิสัยทัศน์ ถึงแนวคิดการมีส่วนร่วมในการสร้างอัตราเร่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงตามเป้าหมาย Net Zero Transition ลองมาดูกันว่าแต่ละองค์กรนั้นมีแผนการปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจอย่างไรกัน
TCP “เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม”
สำหรับกลุ่มธุรกิจ TCP นั้นมองว่า การเปลี่ยนความคิดคือปัจจัยสำคัญ หากจะสร้างความยั่งยืนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ โดยยึดหลักการ “เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม” ปรับการทำธุรกิจใน 4 แกน คือ
1.นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ สินค้าที่ผลิตออกมาจำหน่ายจะต้องตอบโจทย์ลูกค้าในทุกด้าน เพราะหากสินค้าไม่ดี ลูกค้าไม่ชอบ ก็จะกลายเป็นการสร้างขยะออกมาสู่โลก
2.ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน แพ็กเกจต้องรีไซเคิลได้ 100% ซึ่งปัจจุบันทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ TCP ใช้บรรจุเครื่องดื่มสามารถรีไซเคิลได้ 100% ส่วนกระป๋องทั้งหมดที่จำหน่ายในไทยผลิตจากจากรีไซเคิลอะลูนิเนียม รวมถึงกล่องกระดาษก็ได้รับมาตรฐาน FSC หรือเป็นไม้ที่ใช้ไม้จากป่าธรรมชาติหรือป่าปลูกที่มีการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักการที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
3.ส่งเสริมการจัดการน้ำยั่งยืน คือการมีระบบหมุนเวียนน้ำในโรงงาน เพื่อให้ใช้น้ำลดลง และตั้งเป้ามุ่งสู่น้ำสุทธิเป็นบวก หรือ (Net Water Positive) การคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตภายในปี พ.ศ. 2573
4.มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าไปหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง การใช้พลังงานทดแทนอย่าง Solar Rooftop เข้ามาทดแทนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดกว่า 23% การปรับสายการผลิตเป็น Smart Manufacturing เพื่อลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการนำรถ EV เข้ามาใช้ในภาคการขนส่ง
ซึ่ง คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้กล่าวในช่วงหนึ่งว่า “ปี 2023 นี้โลกอุณหภูมิสูงขึ้นแบบทำลายสถิติ เกิดสภาวะอากาศแบบสุดขั้วมากขึ้น หลายประเทศถึงแม้จะมีระบบระบายน้ำดี แต่ยังรับมือไม่ไหวเมื่อเจอกับฝนตกติดต่อกัน 7 วัน นั่นเป็นสาเหตุที่วันนี้เราต้องมาร่วมมือกัน”
มิตรผล “สร้างคุณค่า สร้างอนาคตที่ยั่งยืน”
ด้าน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยข้อมูลภาคการเกษตรว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรมีการจ้างงานสูงถึง 12 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 2 ของแรงงานไทย แต่กลับก่อให้เกิด GDP ได้เพียง 9% ต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ดัน GDP ถึง 32% และ 59% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเพราะผลิตภัณฑ์ที่คนไทยปลูกนั้นเป็นกลุ่มพืชที่มีมูลค่าต่ำเมื่อเทียบต่อพื้นที่เพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด หรืออ้อย
ซึ่งกลุ่มมิตรผลนั้นอยู่ในภาคเกษตรกรรม เล็งเห็นปัญหาที่เกษตรกรไทยประสบ จึงเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในไทย ไม่ว่าจะเป็น
1.การพัฒนาชลประทานเพื่อการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการช่วยเกษตรกรสร้างสระเก็บน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาล การวางระบบน้ำพุ่ง น้ำหยด ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยจาก 9 ตันต่อไร่ เป็น 15 ตันต่อไร่
2.การใช้เครื่องจักรกลเกษตร เข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และยังช่วยเพิ่มผลผลิต และการกักเก็บน้ำใต้ดิน
3.ลดการเผาไร่อ้อย ปัจจัยการเกิด PM 2.5 ผ่านการรับซื้อใบอ้อย และฟางข้าว ตันละ 1,000 บาท เพื่อ นำไปแปลงเป็นพลังงาน จนถึงนำไปเป็นอาหารสัตว์
4.ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้อีกช่องทางให้เกษตรกร ผ่านการส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล สมุนไพร และเลี้ยงปลา คู่กับไร่อ้อย เพื่อลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือและยังเป็นช่องทางเสริมรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรได้ประมาณ 12,000 บาท/ครอบครัว/ปี
“เราทำร้ายโลกมาหลายสิบปี วันนี้โลกเริ่มกลับมาทำร้ายเรา ขณะที่ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นความเสี่ยงในอนาคต เพราะหากวันนี้เราไม่มีวัตถุดิบ โรงงานเราก็จะไม่มีความหมาย” อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวในงานเสวนา
SCGC สร้างความยั่งยืนผ่านนวัตกรรม
ส่วน SCGC ที่อยู่ในธุรกิจเคมีภัณฑ์ มองการใช้เทคโนโลยี AI และ Machine Learning เข้ามาจัดการ Value Chain ช่วยด้านการทำงานที่รวดเร็ว แม่นยำ เป็นวิธีการช่วยลดคาร์บอนฯได้
โดยวิธีที่ SCGC จะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้นั้นคือการลดขยะในภาคการผลิต ไปสู่การลดคาร์บอน โดยใช้หลักการ 4R คือ
1.Reduce ลดใช้ทรัพยากรผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่ยังมีคุณภาพสูง
2.Recyclable ออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ผ่านการเลือกใช้วัตถุดิบที่รีไซเคิลง่าย แต่ตอบโจทย์ได้หลากหลายผลิตภัณฑ์
3.Recycle เดินหน้าพัฒนาวิธีการรีไซเคิลขั้นสูง ซึ่งปัจจุบัน SCGC ได้รับการรับรองมาตรฐานการรีไซเคิลเรซินเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้
4.Renewable การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน โดยเฉพาะไบโอพลาสติก ซึ่งจะเลือกใช้สารประกอบที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ