ไทยยูเนี่ยน โชว์ศูนย์บำบัดน้ำ บริหารจัดการน้ำทิ้งสู่สาธารณะได้ 100% ต่อยอดกลยุทธ์ SeaChange® 2030

ไทยยูเนี่ยน โชว์ศูนย์บำบัดน้ำ บริหารจัดการน้ำทิ้งสู่สาธารณะได้ 100% ต่อยอดกลยุทธ์ SeaChange® 2030

ไทยยูเนี่ยน ต่อยอดกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 จับมือ บพข. ประกาศความสำเร็จโครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge) เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบฝีมือคนไทย พร้อมต่อยอดการเป็นศูนย์การเรียนรู้ หนุนนโยบายรัฐเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแบบยั่งยืนเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบ โดยไทยยูเนี่ยนเป็นโรงงานต้นแบบในการติดตั้งและดำเนินการโดยวิศวกรคนไทยที่สร้างมาตรฐานด้านการบริหารจัดการน้ำทิ้งในระบบได้สำเร็จเป็นรูปธรรม 100 เปอร์เซ็นต์

สุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจปลา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เม็ดเงินลงทุนวิจัยและพัฒนารวม 12 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินทุนตั้งต้นจาก บพข. 3.6 ล้านบาท และ ไทยยูเนี่ยน 8.4 ล้านบาท โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 หนึ่งในพันธกิจหลักคือการมุ่งสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ ด้วยการปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ณ โรงงานหลักของไทยยูเนี่ยน 5 แห่ง ให้สำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573

สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า โครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ที่มุ่งขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยเน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Go Green) ความพอเพียงและความยั่งยืน (Sustainability) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ และตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG (Sustainable Development Goals) ในปี 2573

รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการให้ทุนผ่านแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) บพข. ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตขึ้นจากการใช้นวัตกรรมการผลิตที่สะอาด ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียนวัสดุ และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการนำนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีของรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในประเทศ ให้ผู้ประกอบการทุกระดับ

ไทยยูเนี่ยน โชว์ศูนย์บำบัดน้ำ บริหารจัดการน้ำทิ้งสู่สาธารณะได้ 100% ต่อยอดกลยุทธ์ SeaChange® 2030

โดย “ศูนย์เรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์ การทิ้งน้ำเป็นศูนย์” ที่กำลังจะเปิดให้บริการ จะช่วยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตรงตามเจตนารมณ์และภารกิจของ บพข. ในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงสร้างความร่วมมือ และร่วมลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ 

“ในปีงบประมาณ 2567 นี้ บพข. มีได้มีการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความยั่งยืน ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยเรามุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนในแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน และแผนงานกลุ่มพลังงาน เคมีและวัสดุชีวภาพ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการนําขยะหรือของเสียจากภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือนํามาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนาพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานสะอาด เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรามีเป้าหมายในการลดการปล่อย GHG 30 Mt CO2 e , เพิ่ม 3% ของ GDP และลดการใช้ทรัพยากร 1 ใน 3 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศไทยภายในปี 2593 ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมภายในประเทศ” รศ. ดร.ธงชัย กล่าวเสริม

สำหรับแนวทางการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นศูนย์ของไทยยูเนี่ยนคือการใช้ระบบบริหารจัดการที่ต้นทางทั้งในส่วนวิศวกรรมและกระบวนการผลิตพร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เทียบเท่าและใช้แทนน้ำประปาได้ เริ่มตั้งแต่การดูแลให้เกิดของเสียน้อยที่สุดก่อนนำมาบำบัด ด้วยการแยกเลือดปลาและน้ำนึ่งปลาจนสามารถลดไขมันและเลือดปลาที่ปะปนมาในน้ำทิ้งให้น้อยลงได้ และใช้การกรองโดยระบบ Ultra Filtration (UF) จากนั้นนำไปผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อให้ได้น้ำสะอาดกลับออกมาเป็นน้ำใช้ในระบบทำความเย็นของโรงงานที่ต้องการคุณภาพน้ำสะอาดที่มากกว่าน้ำทั่วไป

ส่วนน้ำทิ้งจากกระบวนการ RO ที่ยังมีคุณภาพน้ำที่ดีจะถูกนำไปล้างพื้น ทำความสะอาดรถบรรทุกหรือล้อรถบรรทุก โดยน้ำที่ถูกนำไปใช้ทำความสะอาดเสร็จแล้วจะถูกหมุนเวียนกลับเข้าระบบ UF และ RO ไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้เหลือทิ้งออกสู่ภายนอก

โครงการนำร่อง Zero Wastewater Discharge ของไทยยูเนี่ยน ตั้งอยู่ ณ โรงงานไทยยูเนี่ยน สำนักงานใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 155,000 ตารางเมตร เริ่มทดลองระบบมาตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยสามารถบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากวันละ 7 ล้านลิตร ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนใช้น้ำเพียงวันละ 4 ล้านลิตรเท่านั้น ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงปีละประมาณ 40% หรือ 27.8 ล้านบาท

ไทยยูเนี่ยน โชว์ศูนย์บำบัดน้ำ บริหารจัดการน้ำทิ้งสู่สาธารณะได้ 100% ต่อยอดกลยุทธ์ SeaChange® 2030

อดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ Zero Wastewater Discharge ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ด้านความยั่งยืนด้วยระบบปฏิบัติการของเราเอง แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและแนวทางปฏิบัติของอุตสาหกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วยได้ โดยโครงการนี้นับเป็นความสำเร็จของไทยยูเนี่ยนที่นำเอานวัตกรรม พันธกิจ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนมาสร้างสิ่งที่ดีเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อดูแลผู้คน ดูแลโลก และมหาสมุทร

“ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือด้านทุนวิจัย ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่มีคุณค่าจาก อว. บพข. และมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงความทุ่มเทของทีมงานในการออกแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งในอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้ได้น้ำสะอาดที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนในระบบได้ใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียน และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเรายินดีให้การสนับสนุน บพข. อย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนเพื่อโลกของเรา” สุทธิเดช กล่าวสรุป

ไทยยูเนี่ยน โชว์ศูนย์บำบัดน้ำ บริหารจัดการน้ำทิ้งสู่สาธารณะได้ 100% ต่อยอดกลยุทธ์ SeaChange® 2030

สำหรับความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่าง บพข. และไทยยูเนี่ยน ได้แก่ โครงการความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และสารสำคัญเชิงหน้าที่มูลค่าสูงจากน้ำมันปลาทูน่า กว่า 4 โครงการ ที่ประสบความสำเร็จเตรียมออกสู่ตลาด และยังมีโครงการแพลตฟอร์มเพื่อการผลิตและวิเคราะห์เปปไทด์ออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์อาหาร และอาหารเสริมสัตว์

ไปรษณีย์ไทย ขอบคุณคนไทยร่วมส่งกล่อง-ซองแคมเปญ reBOX ทะลุ 5.3 แสนกิโลกรัม เดินหน้าสู่ผู้นำเทรนด์ ธุรกิจขนส่งยั่งยืน

Scroll to Top