ไทยยูเนี่ยน เผยแพร่รายงานความยั่งยืนประจำปี 2566 เพื่อรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานตามเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030
รายงานความยั่งยืนฉบับนี้สรุปภาพรวมผลการดำเนินงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน และการผลักดันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในโครงการต่าง ๆ ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจในการดูแลสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับพันธกิจด้านความยั่งยืน และเราจะยังคงมุ่งมั่นสร้างความแข็งแกร่งให้กับงานด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้นในแต่ละปี ซึ่งจากรายงานและผลความก้าวหน้าที่เราสามารถทำได้ในปี 2566 นับเป็นเครื่องยืนยันถึงความทุ่มเทของเรา ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่อุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งกลยุทธ์ SeaChange® 2030 ของเราไม่เพียงแต่มีการตั้งเป้าหมาย แต่เรามีกระบวนการที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย ดังนั้นเราจึงยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมาก ซึ่งผมก็ภูมิใจในความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ และเราจะยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ที่จะผลักดันไม่ใช่แค่ในการดำเนินงานของเราแต่เพื่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก”
สำหรับผลงานด้านความยั่งยืนตามกลยุทธ์ SeaChange® 2030 ในปี 2566 ที่โดดเด่น ประกอบด้วย
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 และ 2 ลง 8.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565
- เพิ่มสัดส่วนการรับซื้อปลาทูน่าจากเรือประมงที่มีอุปกรณ์ตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์ และมีผู้สังเกตการณ์ จากเดิมที่ 71 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564 เป็น 79 เปอร์เซ็นต์
- 85 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณปลาทูน่าทั้งหมดของบริษัทที่จัดซื้อ มาจากแหล่งประมงที่ผ่านการรับรองและการประเมินผลตามมาตรฐานจาก MSC หรือโครงการพัฒนาการประมง (Fishery Improvement Program; FIPs) ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์จากปี 2566
- การลงนามร่วมในโครงการสิ่งแวดล้อมระดับโลก 2 โครงการ ได้แก่ Ocean Breakthroughs และ Transforming our Food Systems ระหว่างการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 (COP27)
- เปิดตัวโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มกุ้ง ร่วมกับ องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก The Nature Conservancy (TNC) และ บริษัท อาโฮลด์ เดอแลซ สหรัฐอเมริกา (Ahold Delhaize USA) หนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกระดับโลก เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงกุ้ง
- เผยแพร่ผลของกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมปรับปรุงนโยบายสิทธิมนุษยชน
กลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 คือ ความมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในวงกว้างให้แก่อุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อผู้คนและโลก สอดคล้องกับแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) โดยเป้าหมายของกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ประกอบด้วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42 เปอร์เซ็นต์ในขอบเขตที่ 1, 2 และ 3 ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 การฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนงบประมาณ 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศสำคัญ นอกจากนี้ ยังลดการปล่อยน้ำเสียสู่สิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ พัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ ไทยยูเนี่ยนได้ปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ในโรงงานหลักห้าแห่งทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการทำประมงอย่างรับผิดชอบ โดย 100 เปอร์เซ็นต์ของอาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติจะต้องผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และไทยยูเนี่ยนยังคงเดินหน้าสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีคุณค่า ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มีความเท่าเทียม
อดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราพยายามเดินหน้าขยายขอบเขตด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องทุกปี และจากรายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุดของเรา แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange® 2030 เพื่อเดินหน้าปกป้องมหาสมุทรและผู้คน เพื่อโลกของเรา และภารกิจที่สำคัญและท้าทายนี้จะสำเร็จไม่ได้หากปราศจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก”
ไทยยูเนี่ยนมุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 บริษัทฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI เป็นปีที่ 10 ติดต่อกัน และยังครองอันดับ 1 ดัชนีอาหารทะเลยั่งยืน Seafood Stewardship Index (SSI) ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านความยั่งยืนและเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และต้นปี 2567 บริษัทยังได้รับผลการประเมินดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับ B จากสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือระดับโลก Carbon Disclosure Project (CDP) สะท้อนความความโปร่งใสและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
–TikTok ดัน 50 ครีเอเตอร์ทั่วโลก สร้างการเปลี่ยนเแปลงเชิงบวกผ่านโครงการ TikTok Change Marker