ซิสโก้ เผยกลยุทธ์ธุรกิจสู่ตลาด 4 ด้านในปี 2566 เร่งพัฒนาไทยแลนด์ 4.0

ซิสโก้ เผยกลยุทธ์ธุรกิจสู่ตลาด 4 ด้านในปี 2566 เร่งพัฒนาไทยแลนด์ 4.0

ซิสโก้ ประกาศกลยุทธ์และแผนธุรกิจสู่ตลาด (Go-to-market) สำหรับปีงบประมาณ 2566 เพื่อปลดล็อคไทยแลนด์ 4.0 ในงานแถลงข่าวประจำปี โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานแอปพลิเคชัน งานแถลงข่าวดังกล่าวมีการเจาะลึกรายละเอียดเกี่ยวกับกลยุทธ์ของ  ซิสโก้ และความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่เอื้อประโยชน์แก่คนทุกกลุ่มในไทย, แผนธุรกิจสู่ตลาดสำหรับประเทศไทย และอัปเดตความเคลื่อนไหวของโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในประเทศไทย (Country Digital Acceleration – CDA) ของซิสโก้

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) และการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยจะช่วยปลดล็อคมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 2.5 ล้านล้านบาทต่อปี[1] ภายในปี 2573 จากรายงานผลการศึกษาฉบับล่าสุดเกี่ยวกับโอกาสทางเศรษฐกิจจากการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทย  สำหรับปีงบประมาณ 2566 ซิสโก้ได้กำหนดกลยุทธ์และแผนงานธุรกิจสู่ตลาด 4 ด้านโดยร่วมงานกับภาครัฐ ลูกค้า และพาร์ทเนอร์ ได้แก่ การปรับโฉมแอปพลิเคชัน, การทรานส์ฟอร์มโครงสร้างพื้นฐาน, ความปลอดภัยขององค์กร, การขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบไฮบริด

  • การปรับโฉมแอปพลิเคชัน: แอปพลิเคชันเป็นศูนย์กลางของประสบการณ์ลูกค้าไม่ว่าจะในแง่ของวิธีการให้บริการ หรือวิธีที่บริษัทสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า องค์กรในประเทศไทยต้องปรับใหม่ว่าพวกเขาจะสร้างประสบการณ์การใช้งานแอปพลิเคชันที่เหมาะสมที่สุดได้อย่างไร เช่น ใช้งานได้เร็วขึ้น, ลดต้นทุนและความล่าช้าของเครือข่าย และการจัดการง่ายขึ้น นวัตกรรม full-stack observability ของซิสโก้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มองเห็นกระบวนการทำงานของแอปพลิเคชันทั้งหมด รวมถึงให้ข้อมูลเชิงลึก และแนะนำการดำเนินการอย่างครบถ้วนสำหรับทีมปฏิบัติการเพื่อประเมินประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ต เครือข่ายคลาวด์ และบริการแอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้ใช้ปลายทางได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด
  • ทรานส์ฟอร์มโครงสร้างพื้นฐาน: ในสภาพแวดล้อมที่เน้นแอปเป็นหลัก เครือข่ายเปรียบเสมือนระบบประสาทที่ช่วยให้ทุกอย่างทำงานร่วมกันได้ ปัจจุบันมีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 20,000 ล้านเครื่อง และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 29,000 ล้านเครื่องภายในปี 2566 แต่ละอุปกรณ์จะมีจุดเชื่อมต่อ ทำให้เครือข่ายทำงานหนักมากขึ้น และจะต้องได้รับการจัดการแบบเรียลไทม์ องค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานโดยเน้นเครือข่ายเป็นหลัก โดยการสร้างและปรับใช้นโยบายที่เน้นการจัดการแบบอัตโนมัติเพื่อมอบประสบการณ์ที่ราบรื่น สถาปัตยกรรม Secure Access Service Edge (SASE) ของซิสโก้รวมฟังก์ชันเครือข่ายและความปลอดภัยในระบบคลาวด์เพื่อเชื่อมต่อผู้ใช้กับแอปและข้อมูลในทุกสภาพแวดล้อมจากทุกที่ และบริหารจัดการการเข้าถึงโดยบังคับใช้ชุดความปลอดภัยระดับองค์กรที่สอดคล้องกัน
  • ความปลอดภัยขององค์กร: ในโลกของการทำงานแบบไฮบริด การรักษาความปลอดภัยไม่เพียงมีความสำคัญแต่ยังมีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยประสบการณ์การรักษาความปลอดภัยแบบรวมศูนย์ที่รักษาความปลอดภัยให้กับผู้ใช้แอปพลิเคชัน และอุปกรณ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรในไทยในการสร้างความคล่องตัวและความยืดหยุ่นทางธุรกิจ โดย Cisco Security Cloud ได้นำเสนอแพลตฟอร์มแบบครบวงจรสำหรับการรักษาความปลอดภัยแบบ end-to-end ในสภาพแวดล้อมทั้งแบบไฮบริดและมัลติคลาวด์ โดยช่วยให้องค์กรปกป้องและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลาได้
  • ขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบ Hybrid: การทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำงานที่ไหนอีกต่อไป แต่อยู่ที่ว่าคุณกำลังทำอะไร ในโลกใหม่ของการทำงานแบบไฮบริด พนักงานจะทำงานจากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ใดก็ได้ องค์กรต้องใช้เทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงานทุกคนในทุกสถานการณ์ผ่านเครือข่าย การทำงานร่วมกัน และการรักษาความปลอดภัย โดยซิสโก้มีนวัตกรรมแบบ end-to-end ที่สามารถตรวจสอบการใช้งาน รักษาความปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน และรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงจากการติดต่อสื่อสารทุกประเภทได้อย่างราบรื่น

ทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และพม่า กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังอยู่บนเส้นทางของการเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ในขณะที่กำลังวางแผนกรเติบโตในเฟสต่อไป องค์กรและธุรกิจต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานเพื่อก้าวให้ทันกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเฟื่องฟู ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ ความรู้ และความเชี่ยวชาญที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ซิสโก้ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรในอีโคซิสเต็มของเราเพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับอนาคต ปลดล็อกโอกาสของไทยแลนด์ 4.0 และขับเคลื่อนอนาคตของทุกคน”

Intel เร่งพัฒนานวัตกรรมสำหรับนักพัฒนาด้วยแนวทางที่เปิดกว้างแบบ Software-First

เพื่อสนับสนุนประเทศไทยและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ซิสโก้ได้เริ่ม “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล (CDA Program)” ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยให้ความสำคัญกับ 4 ด้านหลักได้แก่: Connected Healthcare, 5G สำหรับองค์กร, สมาร์ทซิตี้และระบบขนส่ง, ความปลอดภัยทางไซเบอร์

ที่งาน Cisco Thailand Media Kick-off ประจำปี 2565 ซิสโก้ได้นำเสนอไฮไลท์ที่สำคัญของโครงการที่กำลังดำเนินการภายใต้ Connected Healthcare และ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ดังนี้:

  • Connected Healthcare: ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระดับสูงสุด ซิสโก้ทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรคเพื่อควบคุมอุณหภูมิและการจัดเก็บวัคซีนโควิด-19 ให้คงประสิทธิภาพสูงสุดระหว่างการใช้งาน ด้วยความร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายวัคซีน ซิสโก้ได้นำเสนอโซลูชัน Meraki ให้กับโรงพยาบาล 10 แห่งทั่วประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยทางกายภาพสำหรับการจัดเก็บวัคซีน การใช้วัคซีนอย่างยืดหยุ่นด้วยการกระจายวัคซีนแบบโมบายล์ และการมอนิเตอร์ทราฟฟิกแบบรีโมทซึ่งช่วยในการรักษาระยะห่างทางสังคม กล้องอัจฉริยะและเซ็นเซอร์ของ Cisco Meraki จะจำกัดการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่ได้รับอนุญาต รักษาการควบคุมการบริหารวัคซีนอย่างมีคุณภาพ และควบคุมระบบเปิด-ปิดประตูตู้จัดเก็บวัคซีน โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำงานได้อย่างราบรื่นบนแดชบอร์ดแบบรวมศูนย์ที่จัดการบนคลาวด์ สถาปัตยกรรมบนคลาวด์ของ Meraki ทำให้สามารถตรวจสอบและแจกจ่ายวัคซีนสำหรับสถานที่ที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนมากที่สุดนอกเหนือจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ช่วยในการจัดส่งทางไกล และลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
  • ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity): การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศเป็นสิ่งสำคัญท่ามกลางภัยคุกคามที่พัฒนาตลอดเวลา โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (Oil & Gas) ซิสโก้กำลังทำงานร่วมกับบริษัท Oil & Gas ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยเพื่อประเมินและพัฒนาความสามารถของ Security Operations Center (SOC) ที่ตรงตามหลักการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการจัดการ การตรวจจับภัยคุกคามและการตอบสนอง รวมทั้งระบบข่าวกรองภัยคุกคาม ซิสโก้ได้แต่งตั้งทีมที่ปรึกษาโดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กรเพื่อประเมินความสามารถในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเสริมความแข็งแกร่งด้านความปลอดภัย เคสที่ประสบความสำเร็จ ปรับแต่งการเรียนรู้ และให้คำแนะนำให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ

โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล (CDA Program) เป็นความร่วมมือที่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับรัฐบาลทั่วโลก เพื่อช่วยปลดล็อกคุณค่าของ digitalization และสร้างมูลค่าใหม่ ๆ ให้กับประเทศ อุตสาหกรรม และประชากรในประเทศนั้น ๆ ปัจจุบันซิสโก้ทำงานร่วมกับรัฐบาลระดับชาติ และระดับท้องถิ่นใน 44 ประเทศ โดยมีโครงการที่ดำเนินการอยู่ หรือที่ดำเนินการแล้วเสร็จมากกว่า 1,400 โครงการ เพื่อเร่งขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลของแต่ละประเทศ รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาโซลูชันที่ล้ำสมัย และการให้บริการดิจิทัลที่จำเป็นแก่ประชากรของแต่ละประเทศ

Scroll to Top