ถ้าเราได้ดูคลิปโปรโมทของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในวันที่เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta จะเห็นว่าทิศทางของโลก Metaverse นั้นถูกวางมาไว้อย่างสวยงาม จากในโปรโมทจะเห็นว่า มาร์ก มองไปที่ตัวละครในโลกเสมือนของตัวเอง และกำลังเปลี่ยนชุด เพื่อออกไปพบกับเพื่อนๆ
แต่ในวันที่เปิดให้ทดลองเล่น Horizon Worlds ตัวละครกลับมีเพียงแค่หัว แขน และมือเท่านั้น ทำไมถึงไม่มีขา?
หลายบริษัทต่าง สามารถติดตามร่างกายส่วนบนของบุคคลได้ดีพอสมควรด้วยชุดหูฟังและตัวควบคุม (Controller) แต่การติดตามขานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ในโลกเสมือนจริง เพราะเมื่ออยู่ในโลก Virtual Reality (VR) เราจะไม่ได้เดินจริง แต่นั่งอยู่เฉยๆ ในห้อง
–เซ็นทรัลพัฒนา เปิดแคมเปญ ‘Meta-Luck’ สักการะพระตรีมูรติผ่านร่างอวตารด้วยเทคโนโลยี VR
–Sony เผย PlayStation VR2 รองรับ 4K HDR พร้อมระบบเลียนแบบความรู้สึก
ในเซสชั่น Instagram AMA (Ask Me Anything) แอนดรูว์ บอสเวิร์ธ รองประธานฝ่าย Reality Labs ของ Meta รู้ถึงความยากในการพัฒนาและกล่าวว่าบริษัทกำลังพิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไร
“การติดตามขาอย่างแม่นยำนั้นยากมาก และโดยพื้นฐานแล้วไม่สามารถทำได้จากมุมมองทางฟิสิกส์ จากการใส่ชุดหูฟังที่มีอยู่” บอสเวิร์ธ กล่าวเสริม
ซึ่งตรงนี้หมายความว่าจะต้องมีอุปกรณ์เสริมอย่างอื่นเข้ามาช่วย เช่น ติดเซ็นเซอร์ที่ขาเพิ่มเติม เหมือนกับนักวิ่งบนลู่ที่เชื่อมต่อกับแอปฯ Zwift เพื่อให้ระบบสามารถจับความเร็วและจำนวนก้าวที่วิ่งได้อย่างแม่นยำ
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างความรู้สึกว่ามีตัวตนใน VR แต่อุปกรณ์ก็ค่อยๆ พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
อย่าง Meta’s Quest 2 เป็น ชุดหูฟัง VR ไร้สายแบบ all-in-one พร้อมเซ็นเซอร์ในตัว ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (นักวิจัยตลาด IDC ประมาณการชุดหูฟังที่ทำขึ้นสามในสี่ของการจัดส่งชุดหูฟังล่าสุดทั้งหมด)
ด้วยความที่พกพาสะดวกกว่ารุ่นก่อน ง่ายต่อการติดตั้ง และใช้งาน รวมถึงมีความแม่นยำของเซ็นเซอร์ในการควบคุม แต่ก็ยังสามารถแทร็กได้เฉพาะศีรษะและมือ ซึ่งหากต้องการให้ตัวละครสมจริงมากขึ้นในโลก VR บริษัทจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาจับการเคลื่อนไหวของขาให้ตรงกับในชีวิตจริง จะต้องเพิ่มเซ็นเซอร์ลงในชุดหูฟัง อาจจะเป็นกล้องที่ส่องไปที่พื้น หรือเซ็นเซอร์ที่ติดไว้ที่ขา
Bar-Zeev ที่ปรึกษา VR และ AR ในโอ๊คแลนด์ แคลิฟอร์เนียสำหรับสตาร์ทอัพและอดีตพนักงานของ Apple และ Amazon ที่ทำงานเกี่ยวกับ HoloLens ของ Microsoft กล่าวว่า ร่างกายคนมีรูปร่างและขนาดมากมาย และจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หมายความว่ากล้องเหล่านั้นจะไม่มีมุมมองที่ดีต่อขาและเท้าของเรา ทำให้ยากที่จะจับการเคลื่อนไหวอย่างแม่นยำเพื่อสรุปว่าขาทำท่าอะไรอยู่ในโลก VR
ด้านอุปสรรคอื่น ๆ หากเอียงหรือหันศีรษะ กล้องที่หันหน้าไปทางพื้นดินในชุดหูฟังจะมองไม่เห็นแขนขาที่พยายามติดตาม
อีกหนึ่งบริษัททีพัฒนาอุปกรณ์ VR พร้อมเซ็นเซอร์ทางกายภาพ คือ HTC จำหน่ายชุดหูฟัง Vive VR หลายรุ่น แต่เจาะกลุ่มผู้ใช้ระดับองค์กร มีอุปกรณ์สำหรับติดตามแขน ขา หรืออุปกรณ์อย่างไม้เทนนิส เพียงแค่คาดเอาไว้ แต่อุปกรณ์ชุดนี้ต้องเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ซึ่ง HTC มีแผนจะเริ่มขายเครื่องติดตามแบบสวมข้อมือราคา 129 ดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถติดตามแขนจากปลายนิ้วจนถึงข้อศอกได้ เพื่อใช้งานกับ Vive Focus 3 (ราคา 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันจำหน่ายให้กับบริษัทต่างๆ มากกว่าผู้ใช้ทั่วไป) เป็นขั้นตอนในการทำให้ผู้คนมีมือและแขนที่เหมือนจริงมากขึ้นใน VR มากกว่าอุปกรณ์ควบคุมแบบใช้ตัวควบคุม (Handheld Controller) ที่มีให้ในปัจจุบัน และอาจช่วยให้มีการติดตามแขนขามากขึ้น
Daniel O’Brien ผู้จัดการทั่วไปของ HTC America กล่าวว่า เมื่อเวลาผ่านไป เขาคาดหวังว่าจะสามารถติดตามจุดต่างๆ บนร่างกาย เช่น เท้าและสะโพกได้มากขึ้น
“การติดตามร่างกายด้วยชุดหูฟังแบบ all-in-one เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการและทุกคนกำลังทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย” O’Brien กล่าว
การติดตามและการแสดงร่างกายที่สมจริงยิ่งขึ้นสามารถช่วยดึงความสนใจโลก VR ได้มากขึ้น แต่การพัฒนาทางเทคโนโลยีก็อาจจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกยุ่งยากมากขึ้น และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายกับอุปกรณ์มากขึ้น
Timoni West รองประธานฝ่าย Augmented และ Virtual Reality ของ Unity แพลตฟอร์มพัฒนาเกม แนะนำว่า สุดท้ายแล้วการเคลื่อนไหวของขาอาจจะทำได้ด้วยการใช้ AI โดยคาดการณ์จากข้อมูลของชุดหูฟัง อย่างไรก็ตาม หากจะพัฒนาออกมาให้ดีจะต้องใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลเกี่ยวกับวิธีการเดินของผู้คน เป็นต้น (Meta ใช้ AI ร่วมกับเซ็นเซอร์ในการติดตามชุดหูฟัง ตัวควบคุม และมือ)
“ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการตัว VR ที่เลียนแบบร่างกายที่พวกเขามีในชีวิตปกติ ผมชอบอวตารที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น อวตารเนยแท่งที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ใน VRChat” Timoni West กล่าว
Timoni West ยังเชื่อว่า เมื่อเวลาผ่านไปคนจะถามเกี่ยวกับขาในโลก VR น้อยลง
ที่มา edition.cnn
ภาพประกอบจาก unsplash