สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ลงนามร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เดินหน้าขับเคลื่อนการสนับสนุนระบบนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชนคนไทยทั้งในเชิงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการต่อยอดขยายผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะไปในวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในระดับภาคีเครือข่าย องค์กรภาครัฐ เอกชน สังคม ชุมชน และประชาชนทั่วไป
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า สุขภาวะถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัญหาสุขภาวะหลายด้านมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องอาศัยแนวคิดและเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการรับมือ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อการรับมือประเด็นด้านสุขภาวะ
–ชไนเดอร์ อิเล็คทริค โชว์นวัตกรรมอัจฉริยะ ในงาน Assembly and Automation Technology 2022
–บลูบิค ชูนวัตกรรม LISMA ใช้งาน SAP ผ่าน LINE ได้เรียลไทม์
NIA ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของประเทศจึงให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาสังคมภายใต้การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยประเด็นด้านสุขภาวะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของนวัตกรรม เช่น “Young Happy”บริษัทนวัตกรรมไทยที่มีการนำนวัตกรรมมาช่วยในการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของสังคมไทย โดยส่วนหนึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นสุขภาพ เพื่อสร้างสังคมผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดีทั้งกายใจ เป็นต้น นี่ยังไม่รวมถึงการรับมือเชิงป้องกัน ทั้งการให้ความรู้ การทำงานร่วมกันในระดับชุมชน และการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่จะนำนวัตกรรมเข้าไปมีส่วนร่วม จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในวันนี้ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทยอย่างเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม
การลงนามในครั้งนี้ จะดำเนินการภายใต้กรอบและแนวทางการดำเนินงาน 3 ประเด็น ได้แก่
1) การสร้างความร่วมมือเชิงพื้นที่ด้วยการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะที่ตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาสุขภาวะในพื้นที่ เพื่อไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์และเป็นต้นแบบในการต่อยอดขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่น
2) การพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมและแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่เครือข่ายองค์กรภาครัฐ เอกชน สังคม ชุมชน และประชาชนทั่วไป ผ่านหลักสูตรและแพลตฟอร์มเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงาน ให้คำปรึกษาแนะนำสำหรับต่อยอดไปสู่การปฏิบัติงานจริง
3) การสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะ และส่งเสริมจุดจัดการด้านนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดขยายผลในพื้นที่ ผ่านเครือข่ายของทั้งสองหน่วยงาน
ทั้งนี้ NIA คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพเชิงพื้นที่ในการรับมือประเด็นสุขภาวะ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญต่อทั้งคุณภาพชีวิต ความสามารถในการแข่งขัน และความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศไทย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. มุ่งเน้นทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น และ 1 ในนโยบายสำคัญ คือ แนวคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และการมองหากลุ่ม
คนใหม่ ๆ เพื่อมาเป็นแรงขับเคลื่อนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษที่ 3 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านนโยบาย สิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ และการสร้างทักษะและพฤติกรรมส่วนบุคคลให้มีสุขภาพดีครบ 4 มิติ คือ สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญา เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เห็นผลต่างไปจากเดิม
ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคี ได้ริเริ่ม คิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ เช่น นวัตกรรมตัวช่วยเลิกสูบบุหรี่ ได้แก่ รองเท้านวดไฟฟ้า ยาเลิกบุหรี่ “ไซทิซีน” สารสกัดจากสมุนไพร “เมล็ดจามจุรีสีทอง” นวัตกรรมด้านอาหาร เช่น ช้อนปรุงลด เครื่องวัดความเค็ม นวัตกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เช่น โต๊ะประชุมยืน ก้านตาลยืดเส้น และนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร เช่น Happinometer เครื่องมือวัดความสุขด้วยตนเอง รวมไปถึง ยังส่งเสริมการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชนให้เป็น “นวัตกรสร้างเสริมสุขภาพ” ผ่านการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ หรือ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation แม้เป็นผลงานของนักเรียน นักศึกษา ก็สามารถต่อยอดพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ ผลงานเช่น เสาหลักนำทางจากยางพารา เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด
“ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การแข่งขัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ VUCA World ซึ่ง “ปัญหาสุขภาพ” ก็ตกอยู่ในสถานการณ์นี้เช่นกัน คือมีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ การแก้ไขปัญหาสุขภาพจึงมีความท้าทายและต้องมองหาวิธีการ
ใหม่ ๆ เพื่อให้ทันและรับมือกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ “นวัตกรรม” จึงเป็นเครื่องมือและทักษะสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ทั้งที่ยังแก้ไขไม่ได้ รวมถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้ง ทักษะความรู้ด้านนวัตกรรม เป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อผู้ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งเจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย การร่วมมือกันกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทั้งสององค์กรจะได้ร่วมกันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาวะที่เป็นรูปธรรม และสามารถขยายผลสู่วงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเป็นการยกระดับสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนคนไทยต่อไป” ดร.สุปรีดา กล่าว