นายกฯ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565–2570) สู่การปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน เป็นรูปธรรม และยั่งยืน เน้นสร้างกำลังคนให้มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ในทุกระดับให้ได้มากกว่า 13,500 คนต่อปี รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและบริการ AI เพื่อส่งเสริมการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มกลางบริการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถเข้าถึงและนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนการใช้งานเริ่มที่ 15 ล้านครั้งในปี 2566
ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ครั้งที่ 1/ 2565 โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือถึงแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565–2570) ให้สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ที่มุ่งขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศที่ครบถ้วน และเชื่อมโยงแบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570 โดยมีเป้าประสงค์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ สร้างคนและเทคโนโลยี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
–AIS Fibre เน็ตบ้านไร้สาย เทคโนโลยี 5G mmWave บนคลื่น 26 GHz นำร่องที่ขอนแก่น และ สุราษฎร์ธานี
อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังที่ประชุมว่า ที่ประชุมซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติเห็นชอบเดินหน้า 2 วาระการดำเนินงานสำคัญ ได้แก่
- ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 13,500 คนต่อปี ผ่านหลักสูตรการอบรมพัฒนาทักษะความรู้ที่เหมาะสม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มบุคลากรปัญญาประดิษฐ์ระดับทักษะขั้นสูง คือ กลุ่มนักวิจัยและนักพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (2) กลุ่มบุคลากรปัญญาประดิษฐ์ระดับทักษะขั้นกลาง คือ กลุ่มนวัตกรและวิศวกร และ (3) กลุ่มบุคลากรปัญญาประดิษฐ์ระดับทักษะขั้นต้น คือ กลุ่มอาชีพการทำงานอื่น ๆ ที่สามารถใช้งานบริการปัญญาประดิษฐ์ขั้นต้นในกลุ่มอาชีพของตนเอง
- จัดทำแพลตฟอร์มกลางบริการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) รองรับการให้บริการปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวในการสร้างนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ให้แก่ทุกภาคส่วนภายในประเทศ
อนุชา กล่าวต่อว่า ประธานการประชุมยังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการความร่วมมือเพื่อดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน ประกอบด้วย
- ยุทธศาสตร์ที่ 1: เตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ การพัฒนาข้อกำหนด กฎหมาย มาตรฐาน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ AI ของประเทศ การสื่อสาร และการสร้างการรับรู้ด้านจริยธรรม AI
- ยุทธศาสตร์ที่ 2: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ การสร้างเครือข่ายเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พัฒนาศูนย์เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ พัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศเชิงบูรณาการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการประมวลผลและการคำนวณขั้นสูง
- ยุทธศาสตร์ที่ 3: เพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ พัฒนาทักษะและองค์ความรู้ทุกระดับการเรียนรู้ สนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรสู่ภาคธุรกิจ พัฒนากลไกความร่วมมือกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
- ยุทธศาสตร์ที่ 4: พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่
- ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่กลุ่มสาขาเป้าหมาย พัฒนาเทคโนโลยีฐาน (Core Technology) และการวิจัยเพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มด้านปัญญาประดิษฐ์
- ยุทธศาสตร์ที่ 5: ส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่ การใช้ AI ในภาครัฐ การใช้ AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเชื่อมโยง AI สู่การใช้งาน
- พัฒนากลไก และ Sand Box เพื่อนวัตกรรม ทางธุรกิจ และ AI Startup
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ผลลัพธ์ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถร่วมสร้างคนและเทคโนโลยี ไปพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการขับเคลื่อนระบบนิเวศที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงแบบบูรณาการ โดยมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญ อาทิ
- สร้างความตระหนักด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ให้แก่ประชาชนไม่ต่ำกว่า 600,000 คน
- ยกระดับดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทย ไม่ต่ำกว่าลำดับที่ 50 ของโลก
- เกิดการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี
- มีบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 คน
- เกิดต้นแบบจากผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ไม่ต่ำกว่า 100 ต้นแบบ
- สร้างผลกระทบในภาคธุรกิจและภาคสังคมได้ไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท
- เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านปัญญาประดิษฐ์ ด้วยมูลค่าตลาดไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมผลกระทบต่อประเทศ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2570 ได้แก่
(1) มีมูลค่าที่เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากบุคลากรที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล และ AI รองรับการทำงานในรูปแบบใหม่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น
(2) GDP ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการจากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ ตลอดจนการมีจำนวนผู้ประกอบการใหม่ด้านเทคโนโลยีในประเทศมากขึ้น
(3) ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม จากการที่หน่วยงานภาครัฐนำ AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานและการให้บริการ
(4) ประชาชนมีความเข้าใจและสามารถใช้ศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ได้ในวงกว้าง สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่ได้เพื่อสร้างประโยชน์และอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมถึงช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ทั้งนี้ นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ จะกำกับดูแลบูรณาการการทำงานสู่การปฏิบัติ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เชิงรุก เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง” อนุชา กล่าวทิ้งท้าย