BIZCUIT ผู้ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยี AI ด้วยการเป็น AI Enabler สร้างการทรานส์ฟอร์มประสบการณ์ของผู้บริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินธุรกิจ เผย 5 เทรนด์เทคโนโลยี AI ด้าน Machine Learning รองรับตลาดโลกมูลค่า 1.48 ล้านล้านบาท ชี้ทั้งเอกชนและภาครัฐสามารถใช้ AI สร้างโอกาสที่ตอบโจทย์เป้าหมายองค์กรได้ด้วย “ความเข้าใจภาษาธรรมชาติ” หรือ “NLU” และ “เทคโนโลยีวิทัศน์” หรือ “Computer Vision” เพื่อขับเคลื่อนสู่การสร้างสรรค์ผลลัพธ์ใหม่ที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ ยกระดับกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการวิเคราะห์ประมวลผลจากเทคโนโลยี AI สร้างการเปลี่ยนแปลงตอบรับกระแสดิจิทัล
ทรานส์ฟอร์เมชัน หลังปี 2564 ประสบความสำเร็จด้วยคู่สัญญารวมมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท สวนทางเศรษฐกิจ พร้อมได้รับการร่วมทุนจาก “กลุ่มบุญรอดซัพพลายเชน” ตั้งเป้าเติบโตกว่าเท่าตัว ในปี 2565
–LINE เผยดาต้า เจาะลึกค่านิยม ความสนใจ และเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มเจน Z
–AROKAYA Wellness Sala เพ ลา เพลิน จ.บุรีรัมย์ เปิดเส้นทางท่องเที่ยวสุขภาพ เรียนรู้สมุนไพรกัญชา-กัญชง
สุทธิพันธุ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิสกิต โซลูชั่น จำกัด หรือ BIZCUIT เปิดเผยว่า “เทคโนโลยี AI ด้าน Machine learning เป็นที่จับตามองไม่เฉพาะแค่ภาคธุรกิจ แต่เรียกเป็นนวัตกรรมที่จะสามารถขับเคลื่อนในทุกหน่วยของโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจาก Machine learning สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่มนุษย์ถ่ายทอด จนเสมือนเป็นมนุษย์ สามารถต่อยอดด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย จนทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้
โดยกระแสความนิยมสะท้อนจากมูลค่าของธุรกิจ AI ในตลาดโลก ที่มีมูลค่าถึง 74,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 2.48 ล้านล้านบาท ในปี 2564 ที่ผ่านมา โดย 60% ของตลาด เป็น Application หรือ โซลูชันที่มีการใช้ Machine Learning AI คิดเป็นมูลค่า 1.48 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เกิดเทรนด์เทคโนโลยี AI ด้าน Machine Learning ที่นำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างประสิทธิภาพและขยายขีดความสามารถให้กับธุรกิจและองค์กรของภาครัฐ
สุทธิพันธุ์ ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเทรนด์ของเทคโนโลยี AI ด้าน Machine Learning ของโลกที่เน้นพัฒนาให้ AI ทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ ซึ่งโดยแบ่งออกเป็น 5 เทรนด์ คือ
เทรนด์ที่ 1: Voice is the new hand เสียงจะเป็นเหมือนแขนที่สามของมนุษย์ที่จะคอยสั่งการสิ่งต่างๆแบบไร้การสัมผัส ข้อมูลเสียง จะทำให้เราสั่งงานระบบต่างๆ พร้อมยืนยันตัวตน และแจ้งตำแหน่งของเราด้วยการพูดเพียงอย่างเดียว ทำให้ก่อเกิดการใช้งานใหม่ๆมากมาย
เทรนด์ที่ 2: Computer Generated Content การสร้างคอนเทนต์หรือเนื้อหาด้วย AI ที่เกิดจากเทคโนโลยี Natural Language Generation หรือ NLG ซึ่งเป็นอีก 1 สาขาของ Machine Learning AI โดยปัจจุบันสามารถสอนให้ AI คิดเนื้อหาขึ้นมาเอง เพื่อตอบโต้ความต้องการของมนุษย์แบบอัตโนมัติ หรือสร้างความบันเทิงให้กับมนุษย์
เทรนด์ที่ 3: Natural Language Understanding จะถูกใช้ร่วมกับ IoT ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในอนาคต AI จะสามารถเข้าใจสิ่งที่มนุษย์ต้องการ ไม่ใช่แค่เข้าใจคำสั่ง แต่เข้าใจความต้องการของเรา ประสบการณ์ที่เราจะได้จาก IoT จะยิ่งทวีคูณ เช่น เมื่อพูดว่าน้ำส้มหมด ตู้เย็นสามารถวิเคราะห์ได้ว่าต้องการซื้อน้ำส้ม และจะสืบค้นร้านค้าออนไลน์ เปรียบเทียบราคาและเสนอตัวเลือกที่ดีที่สุดให้ เป็นต้น
เทรนด์ที่ 4: Computer Vision การวิเคราะห์ภาพเรียลไทม์จะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยสามารถเพิ่มขีดความสามารถของกล้อง CCTV ที่มีอยู่แล้ว ให้มีความสามารถเป็น AI Vision Analytic ตรวจจับวิเคราะห์ภาพเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ
เทรนด์ที่ 5: ระบบการประมวลผลแบบใหม่เช่น Quantum Computer กำลังจะยกขีดความสามารถของ AI ไปแบบก้าวกระโดด เนื่องจากศักยภาพในการประมวลผลของ AI ขึ้นอยู่กับความสามารถของฮาร์ดแวร์ และ Quantum Computer คืออนาคตที่ทรงพลังของ AI
ปัจจุบันทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชนมีการนำ Machine Learning AI มาใช้งานแล้ว โดยเป็นการใช้เพื่อช่วยสร้างประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างโอกาสสำหรับภาคธุรกิจ อาทิ Machine Learning Computer Vision สามารถแยกพนักงานกับลูกค้า ซึ่งสามารถใช้ในการควบคุมการบริหารจัดการ ของร้านค้า วิเคราะห์การทำงานของพนักงาน ในหน่วยงานภาครัฐก็ได้นำไปใช้ในการพัฒนา Smart City หรือใช้ในการตรวจจับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ
BIZCUIT ในฐานะผู้นำในการให้บริการโซลูชันด้วยเทคโนโลยี AI ด้วยการเป็น AI Enabler มีความตั้งใจที่จะเป็นผู้ร่วมสนับสนุนในการการนำเทคโนโลยี AI ด้าน Machine learning มาช่วยส่งเสริมการพัฒนาในองค์กรธุรกิจและภาครัฐ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศให้ทรานส์ฟอร์มสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่กับการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจและองค์กร ผ่านเทคโนโลยี AI โซลูชัน
ทั้งนี้ BIZCUIT เป็นผู้พัฒนา Machine Learning AI ด้าน NLU และ Computer Vision ที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญ ปัจจุบันร่วมทำงานด้าน Voice Analytics คู่กับพาร์ทเนอร์ที่จดทะเบียนอยู่ใน Nasdaq อีกทั้งได้รับรางวัลชนะเลิศด้าน Customer experience solution จาก Microsoft Hack The Future อีกด้วย
“ในปี 2564 ที่ผ่านมา BIZCUIT นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยกลุ่มบุญรอดซัพพลายเชน ได้มาร่วมลงทุนกับเราเพื่อนำเทคโนโลยี AI ไปต่อยอดให้กับกลุ่มลูกค้าและบริษัทในเครือ นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าคู่สัญญารายใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยคิดมูลค่ารวมกว่า 150 ล้านบาท ปัจจุบัน BIZCUIT มีลูกค้ามากกว่า 60 องค์กร แบ่งสัดส่วนเป็นลูกค้าในประเทศ 80 % และลูกค้าในต่างประเทศ 20% ครอบคลุมในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มธุรกิจรีเทลค้าปลีก กลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มอีคอมเมิร์ซ กลุ่มภาคการผลิต กลุ่มการเงินและประกันภัย หรือ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยให้บริการโซลูชันของ BIZCUIT อยู่ใน 5 ประเทศในภูมิภาค ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งความสามารถของ AI ด้านภาษาของ BIZCUIT นั้นครอบคลุมไปถึงภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศรวม 3 ภาษา คือภาษาไทย อังกฤษ และบาฮาซาอินโดนีเซียอีกด้วย” สุทธิพันธุ์ กล่าว
ในปี 2565 นี้ BIZCUIT ตั้งเป้าธุรกิจเติบโตมากกว่าเท่าตัว หรือกว่า 100% ด้วยการเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านผู้จัดจำหน่ายและพันธมิตร เพื่อขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี AI โซลูชันให้เกิดความสามารถใหม่ ๆ รองรับในทุกสาขาของ AI Machine Learning อาทิ ด้าน NLU กำลังพัฒนา ภาษาตากาล็อกของฟิลิปปินส์เป็นภาษาที่ 4 ด้าน Computer vision จะพัฒนาเพิ่มความสามารถของ AI ในการเข้าใจภาพการปฏิบัติงานในโรงงานและในเรื่องการจราจรให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการด้าน Smart City จากหน่วยงานภาครัฐ
ปัจจุบัน BIZCUIT มีผลิตภัณฑ์เรือธงให้บริการลูกค้าองค์กร คือ FullLoop CX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าครบวงจร โดย Machine Learning และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือ Natural Language Processing (NLP) เพื่อประสบการณ์ลูกค้าที่ดีที่สุดตลอดเส้นทางโดยจุดเด่นสำคัญคือความสามารถในการสร้างระบบการทำงาน หรือ workflow ขึ้นในตัวเองได้แบบอัตโนมัติ และ BIZCUIT Vision Analytics กล้องปัญญาประดิษฐ์พร้อมวิทยาการวิเคราะห์ภาพแบบเรียลไทม์ด้วยเทคโนโลยี Computer Vision แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อศักยภาพของธุรกิจสูงสุด โดยจุดเด่นคือความหลากหลายและยืดหยุ่นในการกำหนดเงื่อนไขการวิเคราะห์