Technology IT

NIA พาเปิดเรื่องราวน่าทึ่งของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน จาก แกลบ – ขยะโซลาร์เซลล์ ปฏิวัติวงการพลังงานและสิ่งแวดล้อม

กระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก หนุนให้ความต้องการการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 80 และการที่หลายประเทศออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีการปรับตัวตาม เห็นได้ชัดจากการที่ประเทศมหาอำนาจด้านยานยนต์และชิ้นส่วนต่างแข่งขันกันผลิตเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก พร้อมนำเสนอคุณสมบัติความล้ำในการใช้งาน ขณะที่รายงานของ Wood Mackenzie บริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานและอื่น ๆ คาดการณ์ว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนทั่วโลกจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5,500 gigawatt-hour (GWh) ในปี 2030 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2021 มากถึง 5 เท่า และมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมากกว่า 300 แห่งทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย มีสตาร์ทอัพและธุรกิจที่หันมาผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการคิดค้นแนวทางการผลิตใหม่ ๆ ซึ่งหนึ่งในกระบวนการที่น่าสนใจคือ การนำของเหลือใช้ที่มีจำนวนมหาศาลในไทยอย่าง “แกลบและขยะโซลาร์เซลล์” มาใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ช่วยสร้างมูลค่าให้วัสดุของไทยในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ แถมยังสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลก โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ จากรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 จากสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนึ่งในหน่วยงานผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรมไทย ซึ่งจะพาไปอินไซด์แนวคิดและมุมมองการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นจากผู้พัฒนาและคิดค้น เรียกได้ว่าเป็นการเปิดโลกที่นำ “แกลบ” และ “ขยะโซลาร์เซลล์” เข้าไปยืนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอีกไม่ถึง 10 ปีนี้

จุดเริ่มต้นไอเดียแปลง แกลบ – ขยะโซลาร์เซลล์ สู่แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

ผลงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากแกลบ – ขยะโซลาร์เซลล์ ที่โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดค้นและพัฒนาขึ้น ได้รับแรงสนับสนุนมาจากความต้องการที่จะเปลี่ยนของเหลือใช้อย่างแกลบ และขยะโซลาร์เซลล์ให้เป็นวัสดุขั้วไฟฟ้าที่มีชื่อว่า “นาโนซิลิกอน” เพื่อใช้ในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งประเทศไทยมีแกลบเป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตรปริมาณมหาศาล แต่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมมูลค่าไม่สูงมากและมูลค่าเหล่านั้นไม่ได้กลับไปสู่เกษตรกรหรือผู้ผลิตโดยตรง รวมถึงมีขยะโซล่าร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานราว 4,000 ตัน ในปี 2565 และคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าขยะโซลาร์เซลล์จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงหลักล้านตัน มารีไซเคิลเป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่จากส่วนประกอบสำคัญอย่าง “ซิลิกอน” เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกระบวนการนำโซลาร์เซลล์ที่พังมารีไซเคิลเป็นแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ หรือผลิตเป็นอย่างอื่น เพราะมองว่าต้นทุนสูง ไม่คุ้มที่จะลงทุน ที่ผ่านมาจึงกำจัดด้วยการทิ้งในหลุมฝังกลบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อฝนตก น้ำท่วม สารเคมีที่อยู่ในนั้นก็อาจจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ อุตสาหกรรมการรีไซเคิลโซลาร์เซลล์ จึงไม่ใช่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนของประเทศ

เนรมิต “แกลบ – ขยะโซลาร์เซลล์” สู่แหล่งพลังงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนด้วยนวัตกรรม

แบตเตอรี่จะจุได้เยอะ วิ่งได้ไกล ชาร์จไฟได้มากแค่ไหน? ขึ้นอยู่กับหัวใจหลักสำคัญอย่างวัสดุที่ใช้ทำขั้วไฟฟ้า มหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่จึงได้จัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ เพื่อทำหน้าที่ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ให้กับประเทศ ดังนั้น เมื่อมีการทำวิจัยเกี่ยวกับวัสดุที่จะนำมาใช้ผลิตเป็นแบตเตอรี่ “รศ. ดร.นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น” จึงคำนึงถึงประโยชน์ที่คนในประเทศจะได้รับจากการที่ประเทศไทยมีทรัพยากรที่สามารถนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากกว่าที่จะเป็นเพียงแค่การซื้อมาขายไปเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา

รศ. ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายว่า แบตเตอรี่มีส่วนประกอบสำคัญและมีมูลค่าสูงอยู่ 2 ส่วน คือ ขั้วไฟฟ้าฝั่งขั้วบวก หรือ แคโทด (Cathode) ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นสารประเภทลิเทียม ขั้วไฟฟ้าฝั่งขั้วลบ หรือ แอโนด (Anode) มีองค์ประกอบเป็นสารประเภทกราไฟท์และซิลิกอน ปัจจุบันผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของประเทศไทยยังนำเข้าวัสดุเคมีภัณฑ์ทั้งขั้วบวกและขั้วลบจากต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไทยไม่มีเหมืองแร่อย่างเช่นประเทศออสเตรเลียและอเมริกาใต้ ซึ่งขั้นตอนกว่าจะได้วัสดุเคมีภัณฑ์ประเภทซิลิกอนมานั้น ต้องดูดทรายจากทะเลมาเผาด้วยอุณหภูมิ 2,000 กว่าองศาเซลเซียส หรือขุดภูเขาหาแร่ควอตซ์ การทำเหมืองจึงจัดเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง หากประเทศไทยมีวัสดุที่จะช่วยให้การผลิตแบตเตอรี่เกิดขึ้นได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แถมยังช่วยลดการเกิดขยะให้กับโลก ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ควรได้รับการพัฒนา

“ถ้าถามว่าประเทศไทยสามารถหาซิลิกอนจากแหล่งใดได้บ้าง จะเห็นว่าไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม และมีการใช้โซลาร์เซลล์ในหลายพื้นที่ ซึ่งโซลาร์เซลล์ 1 แผงจะมีซิลิกอนประมาณ 1 กิโลกรัม ส่วนแกลบก็เป็นพืชที่มีส่วนผสมของซิลิกอนสูงที่สุดในบรรดาพืชทั้งหมดที่เรามี ดังนั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาขึ้น จะเป็นการสกัดวัสดุที่ชื่อว่า “นาโนซิลิกอน” จากแกลบและแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้ผลิตเป็นขั้วลบในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งการเอาแกลบมาทำเป็นนาโนซิลิกอนจะใช้อุณหภูมิในการเผาต่ำกว่า 600 – 700 องศาเซลเซียส ถือว่าน้อยกว่าการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมการผลิตแร่รูปแบบเหมืองหลายเท่าตัว เพราะการทำเหมืองมันคือการขุด เผา ล้าง และทำลาย จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง ต่างจากนาโนซิลิกอนที่ได้จากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ ซึ่งนอกจากจะมีประสิทธิภาพมากกว่าวัสดุนาโนซิลิกอนรูปแบบเดิมแล้วยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีกระบวนการสังเคราะห์ที่ง่ายกว่า คนผลิตได้รับความเสี่ยงจากอันตรายที่ต่ำกว่า จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับประเทศไปได้หลายเท่า”

ส่องต้นแบบผลิตภัณฑ์ใช้นาโนซิลิกอนจากแกลบ – ขยะโซลาร์เซลล์” สู่พลังงานในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

สำหรับ “นาโนซิลิกอน” จากแกลบและแผงโซลาร์เซลล์ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาขึ้น ปัจจุบันถูกใช้เป็นวัสดุขั้วลบในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่สามารถรองรับการทำงานได้หลากหลาย ทั้งกลุ่มอุปกรณ์พกพา (Portable) กลุ่มการเดินทางและขนส่ง (Mobility) และกลุ่มกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ซึ่งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มีซิลิกอนเข้าไปเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตจะมีจุดเด่นตรงที่น้ำหนักเบา เก็บพลังงานความจุไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 15 ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้ มีระยะการขับเคลื่อนได้ไกลกว่าเดิม ลดโอกาสการระเบิด ปลอดภัยกว่าวัสดุที่ใช้ในท้องตลาดทั่วไป และรองรับการชาร์จเร็วกว่าเดิม 4 เท่า

โดยผลิตภัณฑ์ที่ทางโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลิตและจำหน่ายในปัจจุบันจะมีทั้งแบตเตอรี่แพ็กสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถกอล์ฟไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงานสำหรับโซล่าร์เซลล์ ซึ่งสถาบันมีโครงการสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่นำแบตเตอรี่ที่มหาวิทยาลัยผลิตขึ้นมาวิ่งใช้งานในบริเวณมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่นิยมใช้นาโนซิลิกอนเป็นส่วนประกอบ เช่น พาวเวอร์แบงค์ สิ่งที่เราขับเคลื่อนเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าของการผลิตวัสดุแบตเตอรี่ โดยการประยุกต์เอาวัสดุนาโนซิลิกอนไปใช้งานในอุปกรณ์และแบตเตอรี่ที่มีอยู่ตามท้องตลาดให้เกิดมูลค่ามากขึ้น

ยกระดับวงการอุตฯ แบตเตอรี่ไทย สร้าง “แกลบ – ขยะโซลาร์เซลล์” สู่วัสดุมูลค่าสูงในห่วงโซ่คุณค่าโลก

รศ. ดร.นงลักษณ์ มองว่า อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุสำหรับแบตเตอรี่เป็นห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) กลุ่มเป้าหมายของไทยจึงไม่ใช่แค่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศเท่านั้น การทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการมาลงทุนด้านการผลิตวัสดุภายในประเทศไทยมองเห็นถึงโอกาสในการขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะโอกาสของประเทศไทย คือจะทำอย่างไรให้วัสดุนาโนซิลิกอนที่เกิดจากทรัพยากรของไทยอย่างแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ สามารถเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกได้ ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีและวัสดุที่ไทยสร้างขึ้นเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพยายามสร้างและขับเคลื่อน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ทั้งในประเทศไทยและระดับโลกเห็นว่าไทยสามารถนำของที่มีมูลค่าต่ำอย่างแกลบและขยะโซลาร์เซลล์มาทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้ และยังสร้างประโยชน์และสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในประเทศจากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่

“ห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตแบตเตอรี่ ต้นน้ำคือคนทำเหมือง กลางน้ำคือคนทำวัสดุที่เกี่ยวข้อง สร้างขั้วบวก ขั้วลบ และปลายน้ำคือคนทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบตเตอรี่ ซึ่งคนที่อยู่ส่วนกลางน้ำเป็นจุดที่มีค่าแตกต่างระหว่างราคาทุนกับราคาขาย (Margin) ต่ำมาก ดังนั้น หากเราสามารถทำให้อุตสาหกรรมหรือภาคการผลิตภายในประเทศเห็นภาพว่าเราไม่จำเป็นต้องอยู่ในทุกขั้นของห่วงโซ่อุปทาน แต่เราเลือกจะอยู่ในขั้นที่มีจุดเด่น หรือเรามีวัสดุที่จะทำให้อยู่ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ได้ก็อาจเพียงพอแล้ว แม้การสร้างมูลค่าจากห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะมีมากก็จริง แต่ประโยชน์จะอยู่ในวงจรปิด ประโยชน์ถึงท้องถิ่นและประชาชนน้อยมาก ปัจจุบันประชาชนและองค์กรให้ความสำคัญเรื่อง ESG และ sustainability หากเราสามารถเป็นแหล่งขยายเทคโนโลยีเรื่องการรีไซเคิลวัสดุประเภทแกลบและแผงโซลาร์เซลล์ให้ไปอยู่ในวัสดุที่มีมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ได้จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน สิ่งที่เราวางไว้จะเกิดขึ้นได้หากทุกภาคส่วนมองเห็นภาพตรงกันและช่วยกับผลักดัน”

ยุทธนากร คณะพันธ์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในทีมผู้ร่วมวิจัย อธิบายเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นนี้ จะเปลี่ยนบริบทให้คนรับซื้อของเก่าในห่วงโซ่มูลค่าของการรีไซเคิลขยะโซลาร์เซลล์และชาวนาเป็นผู้จัดหาวัสดุ คล้ายกับคนทำเหมืองแร่ในต่างประเทศด้วยการสร้างรายได้เพิ่ม เช่น แผงโซลาร์เซลล์ 1 แผง จะมีน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม โดยปกติถ้านำไปรีไซเคิล แยกชิ้นส่วนกรอบอลูมิเนียมและกระจกแผงโซลาร์เซลล์ไปขาย จะมีมูลค่าเพียง 100-200 บาทเท่านั้น เช่นเดียวกับแกลบที่เมื่อนำไปเผาเป็นไบโอแมสออกมาเป็นขี้เถ้าจะไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ แต่หากนำมาสังเคราะห์เป็นนาโนซิลิกอนไปขายให้กับภาคธุรกิจที่ทำแบตเตอรี่จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับนาโนซิลิกอนได้ประมาณ 1,000 บาทต่อกิโลกรัม อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การรีไซเคิลขยะโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสม และสามารถใช้พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืน

เดินหน้าต่อยอดหนุนไทยใช้โซเดียมมาสร้างแบตเตอรี่โซเดียมไอออน

นอกจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ ไทยยังมีวัสดุประเภทโซเดียมที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ของประเทศในระยะยาวได้ เพราะหากใช้โซเดียมอยู่แค่ในอุตสาหกรรมทั่วไป หรืออุตสาหกรรมอาหาร อาจจะมีมูลค่าแค่หลักร้อยหรือหลักสิบเท่านั้น ดังนั้น แบตเตอรี่โซเดียมไอออนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำวัสดุประเภทโซเดียมจากแหล่งแร่เกลือหินมาผลิตเป็นขั้วไฟฟ้าที่เป็นขั้วบวกจะสามารถสร้างมูลค่าได้สูง ส่วนขั้วลบเป็นคาร์บอนแข็ง สารที่เอามาผลิตส่วนใหญ่เป็นไบโอแมสจากกะลามะพร้าว กะลาปาล์ม ถ่านยูคาลิปตัส การที่ไทยสามารถหาวัสดุมาผลิตแบตเตอรี่ได้เองทั้งขั้วบวกและขั้วลบ นอกจากจะช่วยลดการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ยังเป็นความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอีกด้วย

“รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ” เครื่องหมายการันตีคุณภาพนวัตกรรมไทยสู่เครือข่ายตลาดโลก

การที่งานวิจัย “แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์” ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลชนะเลิศ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ จากรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA รศ. ดร.นงลักษณ์ ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติที่เข้าใจเป้าหมายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการพยายามขับเคลื่อนงานวิจัย และถือเป็นใบเบิกทางแห่งโอกาสที่ช่วยให้ผลงานซึ่งทุ่มเทมานานถึง 10 ปี ได้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ นอกจากนี้ รางวัลยังเป็นตัวการันตีให้ทีมวิจัยว่าสิ่งที่เรามุ่งมั่นทำไม่ได้ต้องการสร้างแค่องค์ความรู้ แต่เราพยายามสร้างระบบนิเวศด้านการผลิตแบตเตอรี่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้คนไทยและนักลงทุนต่างชาติเห็นว่าไทยมีโอกาสที่จะนำวัสดุที่มีอยู่ในประเทศเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานโลกได้ไม่ต่างกับอีกหลายประเทศในตลาดโลก

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยว่า “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่คนไทยที่ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่น และเกิดคุณค่าที่ชัดเจนต่อประเทศชาติใน 4 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ (สร้างคุณค่าเชิงพาณิชย์ และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ) สังคมและสิ่งแวดล้อม (สร้างคุณค่าต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม) ผู้สื่อสารนวัตกรรม (ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาและวิธีการสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีและรูปแบบการสื่อสารใหม่) และองค์กรนวัตกรรม (องค์กรที่โดดเด่นด้านการบริหารจัดการนวัตกรรมในองค์กร ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ ระดับกระบวนการ ถึงระดับโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร) โดยตั้งเป้าส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมไทย สร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย และสร้างให้เกิดภาพลักษณ์สู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครผลงานนวัตกรรม โดยสามารถดูรายละเอียดและสมัครผ่านทางออนไลน์ที่ https://award.nia.or.th หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ awards@nia.or.th หรือ 080-070-2999 (พัชรีนาถ) ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 มิถุนายน 2567”

สมาร์ทซิตี้เกาสง ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มกับสมาร์ทเฮลท์

supersab

Recent Posts

แกะกล่อง Xperia 10 VI รุ่นน้องที่คลานตามรุ่นพี่มาติดๆ ในราคา 16,990 บาท

สวัสดีครับ วันนี้ Biztalk Gadget จะพามา แกะกล่อง Xperia 10 VI จากค่าย Sony ที่เปิดตัวใหม่เป็นประจำทุกปี โดยซีรีส์ 10 จะถือว่าเป็นน้องเล็กสุด…

18 hours ago

Lenovo เปิดตัว ThinkPad P1 Gen 7 เวิร์กสเตชันรุ่นพกพาที่มาพร้อม AI เทคโนโลยี

Lenovo เปิดตัวโมบายเวิร์กสเตชันพกพารุ่นใหม่ล่าสุด ได้แก่ ThinkPad P1 Gen 7, P16v i Gen 2, P16s i Gen 3…

1 day ago

AIS ร่วมกับ สพฐ และ มจธ. ปั้นครีเอเตอร์วัยทีน เปิดเวทีส่งคลิปสั้นเสริมทักษะ รู้ทันภัยไซเบอร์ กับกิจกรรม “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024”

จากการทำงานร่วมกันของ AIS สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนุบรี (มจธ.) ในการนำหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ด้านทักษะดิจิทัลหลักสูตรแรกของไทยที่ได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่วันนี้ถูกส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ที่ครอบคลุมเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245…

1 day ago

Huawei Digital Power เปิดตัว FusionCharge ใหม่ ระบายความร้อนด้วยของเหลวสำหรับโซลูชันชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วพิเศษ สุดล้ำในไทย

Huawei Digital Power เดินหน้าขับเคลื่อนเทคโนโลยีการชาร์จพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต เปิดตัวโซลูชัน FusionCharge ใหม่ ที่ใช้นวัตกรรมการระบายความร้อนด้วยของเหลว (liquid-cooled) เร็วพิเศษ (ultra-fast) ในประเทศไทย ภายในงานมหกรรมพลังงานที่ยั่งยืนแห่งอาเซียน (ASEAN Sustainable…

2 days ago

ไปรษณีย์ไทย เปิดตำนานการทายผลบอลสุดแปลก ที่นักเก็งผลกีฬาทั่วโลกต้องจารึก

ถ้าจะพูดถึงกีฬาที่แฟน ๆ ทั่วโลกตั้งตารับชมกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นฟุตบอล ที่ไม่ว่าจะบิ๊กแมตช์หรือการแข่งขันไหนก็มักจะได้ยินเสียงเฮจากบรรดากองเชียร์ อีกทั้งเราก็มักจะได้เห็นการสร้างสรรค์แคมเปญจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกกับกีฬาฟุตบอล โดยในหลาย ๆ กิจกรรมก็ต้องบอกเลยว่าสนุกและครีเอทชนิดที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว สำหรับในไทย แคมเปญการเชียร์บอลที่บรรดาคอบอลต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันส์และลุ้นที่สุดก็คือ แคมเปญเชียร์บอลให้มัน เฮลั่นรับโชค ทุกที่ทุกเวลา…

2 days ago

HONOR ชวนร่วมกิจกรรม The Ai Portrait Studio Event พบเซอร์ไพรส์พิเศษ พร้อมโปรโมชันสุดปัง 6 – 7 ก.ค.นี้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ออเนอร์ (HONOR) จัดกิจกรรมพิเศษ “HONOR 200 Series - The Ai Portrait Studio Event” เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน HONOR 200…

2 days ago