ในช่วงเวลาที่บริษัทต่าง ๆ กำลังหันมาทบทวนการใช้งบประมาณภายในองค์กรเพื่อหากลยุทธ์ในการรับมือกับภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบัน สองบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์ อย่าง บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL) และ กลุ่มบริษัทหน่ำเซียน (NSG) ได้เข้าร่วมงานเสวนาจัดโดย เอสเอพี ประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “Thailand SAP User Group Forum: Journey to Sustainability Development & Best Run Awards Ceremony” ตอกย้ำถึงความสำคัญในการลงทุนด้านคลาวด์และการพลิกโฉมองค์กรสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งจะอยู่ในแผนการลงทุนหลักขององค์กรปีนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจเติบโต เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจหดตัวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
อินโดรามา เวนเจอร์ส เป็นหนึ่งในบริษัทปิโตรเคมีครบวงจรชั้นนำของโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีพนักงานมากกว่า 26,000 คน ทำงานอยู่ในโรงงานผลิต 140 แห่งใน 35 ประเทศ ซึ่งปี 2564 ที่ผ่านมา อินโดรามา เวนเจอร์ส มีรายได้รวม 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ บริษัทยังมีรายชื่ออยู่ใน Dow Jones Emerging Markets และ World Sustainability Indices (DJSI) อีกด้วย
เอสเค อากาวาล ประธานและผู้อำนวยการโครงการ Global ERP and Digital Transformation บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “ในปี 2563 IVL ได้เริ่มเปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัลโดยร่วมมือกับ เอสเอพี และ เอคเซนเชอร์ ผ่านโครงการ IVL Olympus ในการพัฒนาองค์กรสู่อนาคตของการเป็นองค์กรอัจฉริยะ มีจุดมุ่งหมายในการลดค่าใช้จ่ายให้ได้ถึง 600 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2566 จากการแทนที่ระบบไอทีมากกว่า 70 ระบบด้วยแพลตฟอร์ม ERP แบบบูรณาการ ทำให้ IVL ได้รับประโยชน์จากการใช้ข้อมูลขององค์กรร่วมกันทั่วทั้งหน่วยงานแบบองค์รวม นอกจากนี้ การสร้างมาตรฐานของกระบวนการทำงาน ข้อมูล และการรายงานในทุกฟังก์ชันของธุรกิจ ช่วยให้ IVL เข้าซื้อกิจการใหม่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”
–สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) เผย 5 ข้อเสนอเร่งด่วน แนะแนวทางเร่งฟื้นเศรษฐกิจ
สำหรับปีนี้ IVL ได้เข้าซื้อกิจการ Oxiteno ในบราซิล เพื่อก้าวสู่การเป็นซัพพลายเออร์ชั้นนำระดับโลกในตลาดสารลดแรงตึงผิวที่มีมูลค่าสูง การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ทำให้ IVL ขยายการเติบโตไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพสูงในละตินอเมริกาและสหรัฐอเมริกา พร้อมวางแผนขยายธุรกิจในยุโรปและเอเชีย ขณะเดียวกัน IVL ยังได้ขยายฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์ PET ชั้นนำระดับโลกไปยังเวียดนามอีกด้วย
ทั้งนี้ IVL ตั้งเป้าหมายในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนผ่านแนวทาง Vision 2030 “ด้วยแพลตฟอร์มธุรกิจแบบบูรณาการ ทำให้ IVL สามารถเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลได้ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่เราได้ตั้งเอาไว้ ขณะที่ยังคงรักษามาตรฐานและประสิทธิภาพของบรรจุภัณฑ์ได้” นายเอสเค กล่าวเสริม
ในฐานะบริษัท PET ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิลที่ใช้สำหรับขวดเครื่องดื่ม IVL ถือเป็นหัวหอกในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วและแปรรูปขวด PET ที่ผ่านการใช้งานไปแล้วกว่า 70 พันล้านขวดตั้งแต่ปี 2554 โดยมีเป้าหมายในการรีไซเคิล 50 พันล้านขวดต่อปี และต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนในแง่มุมอื่น เช่น การดักจับคาร์บอน โดยรวมบริษัทลงทุนราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
“เทคโนโลยีระดับองค์กรและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจที่สำคัญเพื่อช่วยให้เราบรรลุผลกำไร ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน โดยบุคลากร แพลตฟอร์ม และระบบ จะเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทในอนาคต เรามุ่งเน้นที่การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการจัดการข้อมูล และใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลขั้นสูงสำหรับการตรวจสอบและการรายงานแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ในการตัดสินใจและสร้างแผนธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น”
ภายในงาน กลุ่มบริษัทหน่ำเซียน (NSG) ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีชั้นนำในอาเซียนที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมซัพพลายเชนเคมีภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การผลิต การบริการห้องปฏิบัติการ และการค้าปลีก มีมุมมองในทิศทางเดียวกับ IVL ทางด้านการลงทุนเทคโนโลยี โดยมองว่าจะไม่มีการลดงบประมาณด้านเทคโนโลยีในปีนี้
ชัยวัฒน์ กลางวิจิตร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของกลุ่มบริษัทหน่ำเซียน มองว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลทำให้ NSG สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด และให้ความเห็นว่า “ในปี 2563 เราร่วมมือกับเอสเอพี ประเทศไทย และ เนทติเซนท์ เพื่อเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลสำหรับสำนักงาน 4 แห่งของเราในไทย
จากการย้ายระบบการทำงานเดิมมาอยู่บนแพลตฟอร์ม ERP อย่าง SAP S/4HANA ที่มีความเสถียร ทำให้ระบบซัพพลายเชนด้านเคมีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การค้า การผลิต การขายส่งและการขายปลีก ทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน ช่วยให้เราสนับสนุนการทำงานของทุกฝ่ายได้ง่ายขึ้น ตลอดจนปรับปรุงความถูกต้องของการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน ประสิทธิผล ความรวดเร็วของการจัดการเอกสาร และลดการทำงานแบบแมนนวลหรืองานที่ต้องทำซ้ำบ่อย ๆ ได้มากขึ้น”
“แม้เศรษฐกิจตอนนี้จะอยู่ในช่วงชะลอตัว เรากลับมองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัท เราจะเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและโซลูชันด้านกระบวนการทำงานอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน รองรับการขยายตลาดอาเซียนของเราในอนาคต ที่ผ่านมา ความร่วมมือกับ เอสเอพี และ เนทติเซนท์ ได้พิสูจน์แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลสามารถสร้างประโยชน์ให้กับฟังก์ชันหลักของธุรกิจ โดย NSG มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น สามารถจัดการเอกสารได้เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 40% และมีความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเพิ่มขึ้น 35%” ชัยวัฒน์ กล่าวเสริม
อินโดรามา เวนเจอร์ส และ กลุ่มบริษัทหน่ำเซียน เป็นเพียงสองบริษัทจากประเทศไทยที่ได้รับการเสนอชื่อในฐานะองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านการพลิกโฉมองค์กรสู่ระบบดิจิทัล โดยผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการชิงรางวัล SAP Best Run Awards ประจำปี 2564 ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรางวัล SAP Best Run Awards นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกย่ององค์กรชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงให้เห็นวิธีคิดใหม่ ปรับตัวให้เข้ากับบรรทัดฐานใหม่ ตลอดจนใช้เทคโนโลยีสร้างมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมของตน เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
เอทูล ทูลิ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี อินโดไชน่า กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ผู้นำธุรกิจในประเทศไทยให้ความสำคัญ แต่การแพร่ระบาดของโควิดได้ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะทุกบริษัทต่างต้องการเพิ่มความคล่องตัว เพิ่มความฉับไวในการทำงาน และใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการตัดสินใจมากขึ้น ที่ผ่านมา เอสเอพีได้ยืนหยัดร่วมมือกับลูกค้าเพื่อให้ก้าวพ้นช่วงการแพร่ระบาดของโควิดไปได้ และเราพร้อมแล้วที่จะเพิ่มขีดความสามารถให้กับลูกค้าในประเทศไทย ตลอดจนเสริมสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน”