หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ พร้อมทูตญี่ปุ่น นำทัพเอกชนกว่า 60 ราย เยี่ยมชมเมืองนวัตกรรม EECi จ.ระยอง

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ พร้อมทูตญี่ปุ่น นำทัพเอกชนรายใหญ่กว่า 60 ราย เยี่ยมชมเมืองนวัตกรรม EECi จ.ระยอง

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ Nashida Kazuya (นะชิดะ คะสุยะ) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ Takeo Kato (ทาเคโอะ คะโต้) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce Bangkok) นำภาคเอกชนญี่ปุ่นรายใหญ่กว่า 60 ราย ลงพื้นที่เยี่ยมชมสำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เพื่อดูความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมและแสวงหาความร่วมมือวิจัยและพัฒนาในอนาคต อาทิ

  • ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) – โครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Automation, Robotics and Intelligent Electronics Platform) มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 เพื่อตอบสนองการปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่
  • โรงงานแบตเตอรี่ทางเลือกที่มีความปลอดภัยสูง (Alternative Battery Pilot Plant) – พัฒนาแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงที่มีความปลอดภัย มีต้นทุนต่ำ ทั้งยังมีบริการเพื่อสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา อาทิ บริการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีใหม่และวัสดุขั้นสูง การวิเคราะห์ประสิทธิภาพและคุณสมบัติแบตเตอรี่เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และ Energy Storage System
  • โรงเรือนฟีโนมิกส์ (Phenomics Facility) และโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) – มีเป้าหมายเพื่อเป็น Solution Center ด้าน Plant Phenomics ครบวงจร มีบริการครอบคลุมที่หลากหลาย ตั้งแต่บริการศึกษาสรีรวิทยาของพืชต่อสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อการผลิตสารสำคัญสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการทดลองเพื่อให้ได้ข้อมูลผลผลิต และวิธีการผลิตที่เหมาะสมในเชิงพาณิชย์ รวมถึงสนับสนุนการสร้างบุคลากรด้านเกษตรสมัยใหม่ทั้งการให้คำปรึกษา และเป็นแหล่งฝึกอบรมทางเทคนิคอย่างครบวงจร
  • โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery Pilot Plant) – มีเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรจากการทำเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงของเหลือทิ้งจากการเกษตร เช่น ชานอ้อย กากมันสำปะหลัง ทะลายปาล์ม แกลบ โดยสามารถนำไปผ่านกระบวนการทางชีวเคมีด้วยโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ
หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ พร้อมทูตญี่ปุ่น นำทัพเอกชนรายใหญ่กว่า 60 ราย เยี่ยมชมเมืองนวัตกรรม EECi จ.ระยอง

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ  สวทช. ได้นำคณะฯ เยี่ยมชมกลุ่มสำนักงานใหญ่ EECi พร้อมกับกล่าวต้อนรับว่า “สวทช. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมในการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เข้าร่วมเป็นพันธมิตรใน EECi และร่วมสร้างผลงานวิจัยออกสู่ตลาดร่วมกัน สวทช. ยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมอย่าง EECi ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นสะพานเชื่อม เพื่อต่อยอดงานวิจัยไปสู่การใช้งานประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้

โดยสามารถขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนากระบวนการผลิตที่สร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เพิ่มขึ้น ภาคเกษตรสามารถทำการเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตรให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสร้างความเข้มแข็งเหล่านั้น

ตลาดที่อยู่อาศัยใน EEC ทั้ง 3 จังหวัด ไตรมาส 1 แนวราบยังพยุงตลาดฟื้นตัวอัตราดูดซับ 4.7%

อย่างไรก็ตาม สวทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล EECi ซึ่งร่วมกับพันธมิตรสำคัญอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) วังจันทร์วัลเลย์ จะผนึกกำลังให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้อย่างแท้จริง สวทช. พร้อมแล้วที่จะเดินทางร่วมพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน”

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ พร้อมทูตญี่ปุ่น นำทัพเอกชนรายใหญ่กว่า 60 ราย เยี่ยมชมเมืองนวัตกรรม EECi จ.ระยอง

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) เป็นเขตนวัตกรรมแห่งใหม่ชั้นนำระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ EEC: Eastern Economic Corridor หรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรมสำคัญและขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายขนาดงานวิจัย (Translational Research) และการปรับแปลงเทคโนโลยีทันสมัยจากต่างประเทศให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย (Technology Localization) สามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานได้อย่างแท้จริง ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำนวัตกรรมเข้าไปผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และปรับฐานอุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีฐานนวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้น 6 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนี้

  1. เกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture)
  2. ไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery)
  3. แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่ (Battery and Modern Transports)
  4. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (Automation, Robotics and Intelligent Electronics)
  5. การบิน (Aviation)
  6. เครื่องมือแพทย์ (Medical Devices)

ทั้งนี้ ผู้สนใจรายละเอียดสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://www.eeci.or.th/

Scroll to Top