เอ็นไอเอ สะท้อนภาพเมืองกรุงที่ต้องปรุงแต่งเป็น เมืองนวัตกรรม หมุดหมายสำคัญเพื่อ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว

เอ็นไอเอ สะท้อนภาพเมืองกรุงที่ต้องปรุงแต่งเป็น เมืองนวัตกรรม หมุดหมายสำคัญเพื่อ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว

“กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ข้อความที่ถูกพูดถึงในหลากหลายเวทีเพื่อแสดงถึงความสะดวกสบายและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมืองหลวง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ หลังจากห่างหายมาถึง 9 ปี ซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถามในทิศทางเดียวกันว่าผู้สมัครคนไหนที่จะมาทำให้คำว่า “ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” เป็นจริงได้ และนโยบายหาเสียงแบบไหนที่ควรให้ความสำคัญในยุคปัจจุบันที่บริบทเมืองมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อส่องแว่นขยายในหลาย เมืองทั่วโลกที่มีการเลือกตั้ง เรามักจะเห็นนโยบายที่น่าสนใจที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และการสร้างเมืองให้น่าอยู่ แต่เรื่องหนึ่งที่เป็นที่น่าจับตาอย่างมากก็คือ “การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี” เข้ามาใช้เพื่อยกระดับเมืองสู่ความเป็นเมืองที่ชาญฉลาด และรองรับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้คลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อฉายภาพให้ทุกคนตระหนักและเห็นถึงนโยบายด้านนวัตกรรมว่าทำไมถึงมีความสำคัญกับบริบทของผู้นำและความน่าอยู่ของเมือง “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มีคำตอบของนโยบายดังกล่าวมาตอกย้ำให้คนเมืองได้ตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม พร้อมผลักดันให้เกิดผู้นำด้านดังกล่าวให้มากขึ้นในประเทศไทย

ผู้กำกับสารคดีชาวญี่ปุ่นเผยเบื้องหลังความสำเร็จของ หัวเว่ย ประเทศไทย
ทายาทลัมโบร์กีนีรุ่นที่ 3 เตรียมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Iso UNO-X สัญชาติอิตาลี บุกตลาดเอเชีย

ดร.พันธุ์อาจ เผยว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เติบโตขึ้นทุกปี การขยายตัวของเมืองถือเป็นเรื่องสำคัญและเกี่ยวพันกับนโยบายการส่งเสริมหรือสร้างพื้นที่ให้เอื้อต่อการทำนวัตกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประเด็นดังกล่าวถือเป็นสมการสำคัญที่จะรองรับวิถีชีวิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหลวงและประเทศ อีกทั้งยังเป็นดัชนีชี้วัดความสามารถที่ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ หรือผู้ที่มีความสามารถต้องร่วมกันผลักดันอย่างจริงจัง

สร้างเมืองให้เอื้อต่อการทำนวัตกรรม

การเกิดขึ้น มีอยู่ และเจริญเติบโตทางนวัตกรรมนั้น สิ่งสำคัญสำหรับความเป็นเมืองก็คือ จะต้องมีองค์ประกอบที่เอื้อต่อการทำนวัตกรรม ซึ่งหลายเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Smart City หรือ Innovation City เช่น เซินเจิ้น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ รวมทั้งเมือง ในยุโรป ล้วนมีความสามารถในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานภายในเมือง แล้วก็มีเทศบัญญัติ ที่เอื้อต่อความเป็นอยู่ของนวัตกร อีกทั้งยังมีภาพลักษณ์ของเทศบาลเมืองที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเมืองด้วยนวัตกรรม ซึ่งเมื่อเมืองเหล่านี้ถูกพูดถึงก็จะมีภาพจำที่ชัด เช่น ความเป็นเมืองสีเขียว เมืองเทคโนโลยีสะอาด เมืองศูนย์กลางค้าปลีก ฯลฯ จนกระทั่งกลายเป็นแบรนด์ของเมืองในที่สุด

สำหรับการสร้างแบรนด์กรุงเทพมหานคร ควรสร้างภาพจำให้มีมากกว่าการเป็นเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว สิ่งที่จะต้องผลักดันอย่างเข้มข้นคือ “ธุรกิจนวัตกรรม” ทั้งที่เป็นของคนไทยและนานาชาติว่าจะเกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างไร เช่น การอยู่อาศัยของนวัตกร สตาร์ทอัพ หรือเจ้าของบริษัทที่จะลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ กฎระเบียบ การวางแผนและออกแบบพื้นที่บนหลักการของการพัฒนาเมืองที่ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังต้องทำให้เห็นภาพการเชื่อมโยงไปสู่เมืองอื่น เพื่อลดการกระจุกตัวของความเจริญและโอกาสใหม่ในการใช้ทรัพยากรที่แต่ละพื้นที่มีอยู่ โดย NIA เชื่อว่าผู้นำหลายคนมีนโยบายและความคิดในเรื่องเหล่านี้ และหลังจากนึ้จะได้เห็นการปลดล็อกบางสิ่งบางอย่าง โดยเฉพาะโครงสร้างระบบการบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เอื้อต่อการสร้างเมืองนวัตกรรมได้มากขึ้น

กรุงเทพฯ เมืองหลวงแห่งสตาร์ทอัพ

เมื่อวัดกันที่ระดับความสามารถทางนวัตกรรมจาก 1,000 เมืองทั่วโลก กรุงเทพมหานครอยู่ในอันดับที่ 71 ของเมืองที่เอื้อต่อการทำสตาร์ทอัพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีอยู่ของโครงสร้างพื้นฐาน บริบทเมือง ฯลฯ ที่ไม่น้อยหน้าเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแม้แต่ในระดับทวีปอย่างเอเชีย และเมื่อมองถึงตัวชี้วัดจากการจัดอันดับยังพบอีกว่า กรุงเทพมหานครยังมีความโดดเด่นในเรื่องของอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีการค้าปลีก ซึ่งได้อันดับที่ 33 ของโลก มีความเพียบพร้อมด้วยปัจจัยเชิงปริมาณ เช่น โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ สิ่งอำนวยความสะดวก จำนวนบริษัท/สาขาของบริษัทที่ดำเนินงานด้านการวิจัยและเทคโนโลยี ความสะดวกและความเร็วอินเทอร์เน็ต แต่อย่างไรก็ตาม ภาพจำของสตาร์ทอัพไทยในกรุงเทพฯ อาจไม่ได้เหมือนกับจาการ์ตา อินโดนีเซียที่มียูนิคอร์นเกิดขึ้นมากมาย หรือสิงคโปร์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของสตาร์ทอัพทางด้านการเงิน แต่ไทยมีความโดดเด่นจากความหลากหลาย และสามารถนำความหลากหลายนี้เข้าไปเชื่อมต่อกับปัญหาของไลฟ์สไตล์คนเมืองกรุงได้ โดยความหลากหลายเหล่านี้ ยังสร้างความน่าสนใจให้กับภาคการลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนกับสตาร์ทอัพประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะสายเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) ที่รัฐบาลรวมถึง NIA กำลังส่งเสริมอย่างจริงจัง

กรุงเทพฯ กับเมืองนวัตกรรมทางด้านการเงิน

โอกาสอีกด้านหนึ่งของกรุงเทพมหานครคือมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมการเงิน ซึ่งในอาเซียนเป็นรองแค่เมืองสิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการจะขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ ไปถึงเป้าหมายนี้ได้ สิ่งสำคัญคือต้องมีสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีโอกาสสำหรับคนที่มีความสามารถ หรือทำในเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว และยังต้องพยายามส่งเสริมองค์ความรู้ โอกาสการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ หรือเชื่อมโยงกับธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะในส่วนขององค์ความรู้นั้นในกรุงเทพฯ มีสถาบันการศึกษาอยู่มากมายที่สามารถเป็นแหล่งอัพสกิล – รีสกิล องค์ความรู้นวัตกรรมทางด้านบริการการเงิน พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในแง่การเพิ่มรายได้ การทำให้เกิดความคุ้นชินกับนวัตกรรม โดยเมื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ได้จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบทั้งในเชิงการดึงดูดเม็ดเงินจากภายในและต่างประเทศ และโอกาสอื่นที่จะตามมาอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม จากภาพความเป็นเมืองที่เอื้อต่อการทำนวัตกรรมการเงิน ได้ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจร่วมลงทุนระดับโลกตัดสินใจเลือกที่จะลงทุนในกรุงเทพฯ ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทดังกล่าวมีตัวเลือกระหว่างสิงคโปร์ และจาการ์ตาสำหรับการลงทุน จากกรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ภาพของกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่อยู่สบาย มีความพร้อมรองรับการลงทุนได้ ซึ่งส่วนที่ดีเหล่านี้ต้องพยายามดึงออกมาให้คนเห็นมากขึ้น

ศูนย์กลางด้านการบิน เมื่อโลกกลับมาเชื่อมต่อได้อีกครั้ง

จุดแข็งของกรุงเทพฯ อีกด้านหนึ่งก็คือ การเป็นฮับในการขนส่งทางอากาศของโลก ซึ่งในอาเซียนมีเพียงสิงคโปร์ และกรุงเทพฯ เท่านั้น ทำให้คนที่อยากไปมาในย่านนี้มีความสะดวกสบาย สามารถเดินทางไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ง่ายขึ้น หลังจากนี้ หากสถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลายลง เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม และสิ่งสำคัญที่กรุงเทพฯ ต้องเตรียมตัวคือ โซลูชันในการรองรับนักเดินทาง สร้างความสะดวกให้กับกลุ่มนักธุรกิจ มีความสามารถรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากด้านการบิน พร้อมด้วยการทำให้เห็นถึงสิ่งที่เอื้อต่อการเมืองแห่ง Global Citizen ที่จะดึงดูดคนทั่วโลกที่เป็นนวัตกรให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่แห่งนี้ เพื่อทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ

ย่านนวัตกรรมพื้นที่แห่งโอกาสที่ต้องสานต่อ

หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่คนเข้ามาในกรุงเทพฯ ล้วนมองหาคือ ความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ รวมถึงประโยชน์ที่จะได้จากพื้นที่เหล่านั้น และเมื่อมองถึงโอกาสทางด้านนวัตกรรมในเขตกรุงเทพฯ ก็หนีไม่พ้น “ย่านนวัตกรรม” ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีทั้งที่เป็นย่านการแพทย์ ย่านด้านดิจิทัล ย่านท่องเที่ยว ย่านด้านโลจิสติกส์ ฯลฯ ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกร ผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรม และเป็นคันเร่งการสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ จากความมุ่งมั่นในการพัฒนาย่านนวัตกรรมยังได้ทำให้เกิดมาตรการด้านสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมาย และกรุงเทพมหานคร ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ได้ร่วมผลักดันให้ย่านต่าง ๆ เกิดขึ้น โดย NIA เชื่อว่ากรุงเทพมหานคร จะยังคงเป็นหนึ่งในกำลังหลักที่ช่วยสานต่อให้มีพื้นที่ที่เอื้อต่อการยกระดับเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอนาคต

“การที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมที่สามารถดึงดูดนักลงทุนและนวัตกรจากต่างประเทศได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยมากมาย ทั้งความร่วมมือจากองค์กร องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ความสามารถในการจัดการ สถาบันการศึกษา การวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และสิ่งสำคัญ คนในเมืองต้องหันมาสนใจและมองนวัตกรรมให้เป็นเรื่องใกล้ตัว และนำมาปรับใช้กับการทำงานและการทำธุรกิจต่อไป โดยหวังว่าการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ จะทำให้กรุงเทพมหานครเฉิดฉายด้านการเป็นเมืองนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย

Scroll to Top