บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) เผยผลการใช้เทคโนโลยีฮอรัส “Horrus” อากาศยานไร้คนขับแบบอัตโนมัติช่วยอำนวยความสะดวกในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ซึ่ง เป็นการสำรวจสภาพการจราจรกับ สำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวงในการเดินทางในเส้นทางที่มุ่งสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ให้มีความสะดวกมากขึ้น มีความโดดเด่นด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี 5G ที่ช่วยให้การส่งภาพผ่านระบบออนไลน์ได้ไกลขึ้น มีการวิเคราะห์ข้อมูลเรียลไทม์ (Real time data analytics) หาแถวคอย หรือจุดรถติดว่าติดตั้งแต่กิโลเมตรที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ อีกทั้งยังช่วยควบคุมการทำงานจากระยะไกลได้ดีขึ้น มีภาพการจราจรที่มีความคมชัด สามารถจำแนกชนิดรถ วัดความเร็วในการเคลื่อนตัว ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ทันทุกสถานการณ์และแจ้งข้อมูลให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เป้าหมายในการใช้โดรนเพื่อมุ่งหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรในอนาคต เพื่อลดข้อจำกัดในกิจกรรมการเดินทาง จากการสำรวจภาพมุมสูงที่มีความครอบคลุมและกว้างขึ้น ตลอดจนต่อยอดนวัตกรรมให้มีความสามารถที่หลากหลาย เช่น การตรวจสอบโครงสร้างอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในทางการแพทย์ และความมั่นคงของประเทศ
ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) กล่าวว่า การจราจรถือเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่กำลังมุ่งบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน เนื่องจากเป็นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยในภาพรวมพบว่าความต้องการและความคาดหวังจากภาคส่วนดังกล่าวคือ แนวทางการจัดการปัญหาที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหารถติด การทำให้การจราจรเกิดความคล่องตัว ตลอดจนการทราบสภาพการจราจรที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ซึ่งความต้องการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงเฉพาะในระดับเมืองเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปในระดับภูมิภาคที่กำลังมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมพื้นที่สำคัญ ๆ ให้เป็นไปอย่างครอบคลุมอีกด้วย
ARV มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับวงการคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านเทคโนโลยีสำคัญอย่าง “ฮอรัส : Horrus” อากาศยานไร้คนขับที่ทำงานได้อย่างชาญฉลาดและมีความอัจฉริยะในการสำรวจ เก็บข้อมูล ติดตาม วิเคราะห์ และแสดงข้อมูลบนแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็ว โดยมีบทบาทสำคัญในช่วงเทศกาลที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการจัดการการจราจรร่วมกับสำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวง สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 – 2567 ที่ผ่านมานี้ได้ดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 บนพื้นที่ถนนพหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 48 – 79 ในอำเภอบางปะอินและอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการมุ่งสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางสามารถดูภาพจราจรสดผ่านทางเพจเฟซบุ๊กสำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวงก่อนเลือกเส้นทางและเวลาในการเดินทางแบบเรียลไทม์ตลอด 8 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 พร้อมมีส่วนช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตัดสินใจและบริหารจัดการการระบายช่องทางการเดินรถได้อย่างรวดเร็ว
“การบริหารจัดการเส้นทางจราจรด้วยฮอรัสในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมายังมีความพิเศษคือการผสมผสานเทคโนโลยี 5G บนโดรนฮอรัสเพื่อช่วยให้การส่งภาพผ่านระบบออนไลน์ได้ไกลขึ้น อีกทั้งยังมี Real time data analytics ตอกย้ำประสิทธิภาพของโปรแกรมและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาคน สามารถทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ ตลอดจนวิเคราะห์และประเมินเส้นทางเดินรถได้ดีกว่าการใช้ครั้งแรกในปีที่ผ่านมา โดยยังสามารถแจ้งสถานการณ์ต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ขึ้นผ่านการรับส่งภาพสภาพจราจรแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่มีความคมชัด การประมวลผลด้วย machine learning ที่จำแนกได้ทั้งชนิดรถ ความเร็วในการเคลื่อนตัว สิ่งผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนท้องถนน โดยข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกส่งไปยังห้องควบคุมการจราจรของกรมทางหลวงในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ทันทุกสถานการณ์ ช่วยประหยัดเวลาและจำนวนเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่ ตลอดจนยังช่วยแจ้งข้อมูลให้กับประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงและเลือกเส้นทางที่มีความคล่องตัวมากกว่าได้อีกด้วย”
ดร.ธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ARV ตั้งเป้าหมายให้ฮอรัสเป็นหนึ่งในองค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการคมนาคมไทยในมิติของเทคโนโลยีเชิงลึก ซึ่งไม่เพียงแต่ในช่วงเทศกาล วันหยุดยาว แต่ยังมีความต้องการที่จะใช้เทคฯ ดังกล่าวอำนวยความสะดวกอย่างครอบคลุม โดยฮอรัสได้นำไปใช้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็น การบริหารจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน จุดเกิดอุบัติเหตุ และสำรวจหาบริเวณแถว เป็นต้น ทั้งนี้ คุณสมบัติของฮอรัสในปัจจุบันที่มีการผสานเทคโนโลยี 5G นี้ ช่วยให้การออกปฏิบัติการขาเดียวสามารถบินได้ในระยะทางไกลมากกว่า 10 กิโลเมตร และกรณีการออกปฏิบัติการแบบไปกลับสามารถบินได้ในระยะไกลกว่า 6 กิโลเมตร เป็นต้นไป หากกฎหมายในอนาคตเอื้อต่อระยะการบินมากกว่าในปัจจุบันจะช่วยลดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการบินสำรวจ หรือพยากรณ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งยังจะวางแผนที่จะทำงานร่วมกับ AI เพื่อเก็บข้อมูลและคาดการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีเมืองชั้นนำเช่นกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้วางแผนที่จะเตรียมนำโดรนมาช่วยตรวจสอบสภาพการจราจรในแต่ละชั่วโมง ซึ่งโดรนจะบินสูงที่ระดับ 200 เมตรสามารถเก็บข้อมูลได้ทั่วมือง และในพื้นที่ที่ไม่มีกล้องวงจรปิด นอกจากนี้ จากการที่นำ 5G มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ARV ยังจะมีการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมให้มีความสามารถที่หลากหลายขึ้น เช่น การติดตั้งเซ็นเซอร์ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์งานเฉพาะกลุ่มได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งงานขนส่ง การตรวจสอบโครงสร้างอุตสาหกรรมต่าง ๆ การแพทย์ การสำรวจ และความมั่นคง ทั้งในกลุ่มงานภาครัฐและเอกชน ต่อเนื่องไปถึงแนวคิดในการนำโดรนมาใช้ในการช่วยในการรายงาน บริหารจัดการจราจร เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติบนทางหลวง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนต่อไป“