กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ บริษัท ไทยโซล่าเวย์ จำกัด เดินหน้าพัฒนาโครงการหอฟอกอากาศอัจฉริยะโดยพลังงานแสงอาทิตย์และระบบควบคุมดูแลผ่านเทคโนโลยีไอโอที เพื่อการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่สาธารณะ หลังผู้เชี่ยวชาญพบว่าปัญหาฝุ่นเกินมาตรฐาน 37 – 45% มาจากกการจราจร ซึ่งหอฟอกอากาศอัจฉริยะมีประสิทธิภาพปล่อยอากาศดีออกมาทดแทนได้ถึง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สามารถฟอกอากาศได้ในระยะ 100 ตารางวา ได้ถึงร้อยละ 90 ของพื้นที่ พร้อมตั้งเป้าพัฒนาส่วนต่างๆ ของหอฟอกอากาศอัจฉริยะสู่สมาร์ทซิตี้ในอนาคต
–SCGP x Origin Materials พัฒนานวัตกรรม ‘Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ’
กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ที่มีปัจจัยการเกิดมาจากการจราจรเป็นประเด็นที่กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรไทยเป็นอย่างมาก ความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ส่งเสริมให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. พร้อมที่จะให้การสนับสนุน บริษัท ไทยโซล่าเวย์ จำกัด ดำเนินการวิจัย “โครงการการศึกษาและพัฒนาหอฟอกอากาศอัจฉริยะโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และระบบควบคุมดูแลผ่านเทคโนโลยีไอโอที เพื่อการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่สาธารณะ” โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวร และเทศบาลพิษณุโลกอำนวยความสะดวกด้านการติดตั้ง มีการนำเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เปลี่ยนอากาศเสียให้เป็นอากาศบริสุทธิ์ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของฝุ่นควันที่เกิดจากการจราจร ให้กับประชาชนตามบริเวณต่างๆ ที่ใกล้กับจุดการสัญจรในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
“ปัญหาสภาพแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ไทยและหลายประเทศทั่วโลก มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพราะภาวะอากาศที่มีสิ่งเจือปนรวมอยู่ในอากาศที่เราสูดดมเข้าไป เช่น ฝุ่นละออง ก๊าซธรรมชาติ หรือมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ เป็นต้น ถือเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่สร้างผลกระทบและอันตรายต่อสุขภาพได้อย่างมากมาย ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองใหญ่ที่แออัด หรือในเขตอุตสาหกรรมเท่านั้น กลับกันสามารถแพร่กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศได้อย่างรวดเร็ว กทปส. เป็นหนึ่งหน่วยงานที่เห็นความสำคัญกับปัญหาทางสังคม มีการให้ทุนกับผู้ที่ทำวิจัยที่นำเทคโนโลยีการสื่อสารที่นำมาผสานกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหอฟอกอากาศเป็นหนึ่งผลงานที่ได้รับทุน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
เอกสิทธิ์ วันสม หัวหน้าโครงการการศึกษาและพัฒนาหอฟอกอากาศอัจฉริยะโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และระบบควบคุมดูแลผ่านเทคโนโลยีไอโอที เพื่อการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่สาธารณะ กล่าวว่า ปัญหาค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานมีปัจจัยการเกิดมาจากการจราจรมากถึง 37 – 45% ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า ฝุ่นริมถนนที่เกิดจากไอเสียรถดีเซล ในช่วง 7.00 – 10.00 น. และช่วง 15.00 – 19.00 น. จะมีค่าฝุ่นจากการจราจรเกินมาตรฐานตั้งแต่ 50-250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหอฟอกอากาศอัจฉริยะ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. มีการทำงานด้วยระบบม่านน้ำร่วมกับเทคนิคทางกลและเคมี เป็นการดูดอากาศเสียเข้าไปฟอกเพื่อปล่อยอากาศดีออกมาทดแทน ที่ปริมาณ 5ถึง 7ลูกบาศก์เมตรต่อนาที หรือ 300-400 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สามารถฟอกอากาศได้ในระยะ 100 ตารางเมตรในพื้นที่สาธารณะ ได้ถึงร้อยละ 90% นอกจากนี้การสนับสนุนของ กทปส. ยังช่วยทำให้ผสานเทคโนโลยีไอโอที (IoT) ไปในหอฟอกอากาศอัจฉริยะ ทำให้สามารถวัดค่าฝุ่นได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงสามารถบอกได้ว่ามีปริมาณอากาศที่ถูกฟอกไปแล้วเท่าไร ทำให้ผู้ที่อยู่บริเวณหอฟอกอากาศอัจฉริยะได้เห็นข้อมูลต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ได้
“ปัจจุบันหอฟอกอากาศอัจฉริยะนำร่องติดตั้งใน 2 จุด คือ ศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณต้านหน้าโรงพยาบาลพุทธชินราช และ ศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณต้นหลังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงพื้นที่บริเวณป้ายรถเมล์ให้มีลักษณะกึ่งเปิดกึ่งปิด เพื่อให้หอฟอกอากาศอัจฉริยะทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยเริ่มติดตั้งหอฟอกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา พบว่า หอฟอกอากาศมีประสิทธิภาพการทำงานดีมาก เนื่องจากจังหวัดพิษณุโลกเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิของอากาศสูงมาก แต่ความชิ้นมีน้อย ทำให้ที่ผ่านมาประชาชนต้องประสบปัญหาทางสภาพภูมิอากาศ ทั้งความร้อน ความแห้งแล้ง รวมถึงฝุ่น แต่หลังจากติดตั้งเครื่องฟอกอากาศอัจฉริยะที่มีการใช้ระบบสเปรย์น้ำเข้ามาเพิ่มความชื้นในอากาศและ ยังสามารถช่วยทำให้อากาศบริเวณโดยรอบจุดที่ติดตั้งเหลือเนื้อฝุ่นอยู่เพียง 10% เท่านั้น ทั้งนี้ ทีมวิจัย ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาหอฟอกอากาศไปสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต โดยการต่อยอดจากหอฟอกอากาศไปเป็นสวนแนวตั้ง (Vertical Garden) เพิ่มเติม เพื่อทำให้ดีไซน์ดูสวยงามและสร้างความร่มรื่นให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากหอฟอกอากาศจะเข้ามาช่วยพัฒนาชีวิตประชาชนแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นได้อีกด้วย”