Caster อีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจของวงการ E-Sports ไทย

Caster อีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจของวงการ E-Sports ไทย

หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว คนยังไม่รู้จักว่าอีสปอร์ต (E-Sports) คืออะไร เช่นเดียวกับนักพากย์อีสปอร์ต หรือ Caster เป็นอาชีพที่พูดไปคนก็ยังสงสัยอยู่ว่าอาชีพนี้มีหน้าที่อะไร ทำให้ในยุคนั้นเติบโตได้ยากเพราะไม่มีใครเข้ามาลงทุนในวงการนี้

แต่เมื่อวงการอีสปอร์ตเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ คนเริ่มรู้จักการแข่งขันเกมมากขึ้น ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค ไปจนถึงระดับโลก การสนับสนุนก็เริ่มเพิ่มเข้ามา

หนึ่งในนักพากย์รุ่นแรกๆ ของประเทศไทยอย่าง ไซคลอป “Xyclopz” หรือ ตรีภพ เที่ยงตรง ที่ปัจจุบันเป็น ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สเปคเตอร์ อีสปอร์ต จำกัด เป็นคนหนึ่งที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำในตำแหน่งวิศวกรมาทำอาชีพนักพากย์อีสปอร์ตเต็มตัว

ซึ่งกว่า 10 ปี ที่ทำอาชีพนี้ ไซคลอป เล่าว่า “Caster เป็นอาชีพที่ให้หลายอย่าง ส่วนตัวมองว่าจะมีความมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการเติบโตของวงการ E-Sports แต่ก็ยังเป็นอาชีพที่มีการแข่งขันสูง ถ้าคุณยังไม่เป็นนักพากย์ที่พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ไม่ได้ผ่านการอบรม ไม่ค้นคว้าหาความรู้ ก็จะเติบโตได้ยาก แต่ถ้าคุณสามารถไปสู่ระดับ Top ได้ นี่เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงค่อนข้างสูง”

AIS eSports Young Caster Talent

แต่สิ่งหนึ่งที่ติดอยู่ในใจ ไซคลอป คือ อาชีพนี้ไม่เคยมีคุณวุฒิเป็นมาตรฐาน ว่านักพากย์คนไหนผ่านการอบรมอะไรมา ไม่มีหลักฐานที่เข้ามาสร้างความมั่นใจได้ว่าคนที่เข้ามาพากย์รายการนั้นๆ จะทำให้งานประสบความสำเร็จ สิ่งที่ทำได้ใกล้เคียงที่สุดสำหรับนักพากย์คือ การได้ใบรับรองผู้ประกาศข่าว แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับการเป็นนักพากย์อีสปอร์ต

“นั่นทำให้เรามานั่งคุยกับ AIS ว่าเรามาทำโครงการกันดีหรือไม่ เพื่อให้มีมาตรฐาน มีใบรับรองให้กับผู้จัดงานว่านักพากย์เหล่านี้ได้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว” ไซคลอป กล่าว

จึงเป็นที่มาของการร่วมทำโครงการ AIS eSports Young Caster Talent ในปีที่ผ่านมา ก่อนจะมาทำ Season 2 ในปีนี้ โดยร่วมมือกับ AIS และ Twitch เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพอีสปอร์ตได้มีประสบการณ์การเรียนรู้จริง และได้ทำงานจริง

รุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการพันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ AIS กล่าวว่า “เราตั้งใจที่ให้ความรู้กับเด็กที่ไม่มีประสบการณ์การพากย์ได้เรียนรู้ ได้ลองทำงาน และได้ค่าตอบแทน ซึ่งเด็กที่ได้รับการฝึกฝนและพยายามที่จะข้ามขั้นไปได้ เราก็พร้อมเข้าไปสนับสนุน”

นักพากย์ที่เข้าโครงการนั้น นอกจากจะได้เรียนรู้เทคนิคต่างๆ แล้วทั้งการเป็นนักพากย์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จาก ไซคลอป แล้ว ยังมีโอกาสได้ทำงานจริงกับ Tournament ที่ AIS เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนอีกด้วย ซึ่งมีตั้งแต่ระดับสมัครเล่น ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับโลก

Caster ต่อยอดตัวเองได้

สำหรับการเป็นนักพากย์อีสปอร์ต หรือ Caster หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามันเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถต่อยอดไปสู่อาชีพอื่นๆ ได้อีก เพราะการจะเป็นนักพากย์อีสปอร์ตที่ดีได้นั้น จะต้องเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในวงการสื่อสารมวลชน อาทิ การเขียนข่าว การเรียงลำดับเรื่องราว ก่อนจะมานั่งหน้าจอเพื่อบรรยายการแข่งขันให้คนฟังแล้วรู้สึกสนุก ได้ข้อมูลการแข่งขันที่ครบถ้วน

นอกจากนี้ยังต่อยอดองค์ความรู้ด้านการพากย์ไปเป็นผู้จัดการแข่งขันอีสปอร์ต หรือจัดอีเวนต์ที่เกี่ยวกับเกมในอนาคตได้อีกด้วย

สำหรับ Twitch แพลตฟอร์มที่เติบโตจากคอมมูนิตี้ของคนเล่นเกม พยายามผลักดันวงการนักพากย์อีสปอร์ตโดยการคิดฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้ามา หนึ่งในนั้นคือฟีเจอร์ Watch Party ซึ่ง จิรัฐติกาล สุทธิวรรณารัตน์  ผู้อำนวยการด้านคอนเทนต์ Twitch ประเทศไทย อธิบายว่า โดยปกติการแข่งขันรายการใหญ่ๆ ที่มีคนดูมาก จะมีแคสเตอร์สนใจการแข่งขันเช่นเดียวกัน ซึ่งฟีเจอร์ Watch Party จะช่วยให้นักพากย์สามารถตั้งห้องของตัวเองเพื่อพากย์การแข่งขันให้แฟนคลับที่ติดตามเข้ามาชมได้ เป็นอีกเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการอีสปอร์ต

ค่าตัวขึ้นอยู่กับความสามารถ

สำหรับเรื่องค่าตัวหรือค่าจ้างการพากย์อีสปอร์ตนั้น ไม่ได้แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ ตรงที่ไม่ได้มีเรตตายตัว ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน งบประมาณของผู้จัด และความใหญ่ของรายการแข่งขัน ซึ่งใน 1 รายการที่จัดแข่งขันนั้น นักพากย์แต่ละคนก็อาจจะได้ค่าตัวไม่เท่ากัน

ทั้งนี้โครงการ AIS eSports Young Caster Talent Season 2 แบ่งกลุ่มผู้สนใจออกเป็น 2 กลุ่มคือ นักพากย์เยาวชน อายุตั้งแต่ 12–17 ปี จะเปิดรับสมัครในเดือนพฤศจิกายน ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือก 20 คนจะได้รับโอกาสเข้าคอร์สฝึกอบรมการเป็นแคสเตอร์ระดับมืออาชีพ ทั้งหมด 24 ชั่วโมง

และกลุ่มนักพากย์รุ่นบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 18 ขึ้นไป เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม จะคัดเลือกผู้สมัครจำนวน 20 คนเช่นเดียวกัน เพื่อเข้าอบรมการเป็นแคสเตอร์ระดับมืออาชีพทั้งหมด 30 ชั่วโมง

โดยทั้งสองกลุ่มจะมีการคัดเลือกผู้เข้ารอบถัดไปจำนวน 2 คนที่มาร่วมงานระดับอาชีพกับ AIS eSports ที่มีรายการแข่งขันระดับประเทศ

Scroll to Top