ผู้เชี่ยวชาญเผยปัญหาการจัดการขยะในไทยยังเรื้อรัง ระบบยังขาดมาตรฐาน เน้นย้ำการแยกขยะที่ดีตั้งแต่ต้นทางช่วยให้ขยะสามารถเทิร์นกลับมาสร้างประโยชน์ได้อีกครั้ง ชูแนวคิดกระบวนการทางวิศวกรรมช่วยจัดการขยะรีไซเคิลขยะวนกลับมาใช้ใหม่ ช่วยลดการใช้วัตถุดิบต้นทาง ลดปริมาณขยะปลายทาง ลดภาระการกำจัด ลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการกำจัดขยะ ย้ำกฎหมายไทยยังไม่มีการเจาะจงคัดแยกขยะมีเพียงแนวทาง และการขอความร่วมมือกับชุมชนเท่านั้น ทำให้ประชาชนขาดความตระหนักรู้
รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม สภาวิศวกร กล่าวว่า ปัญหาขยะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจัดการขยะในประเทศไทย เป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน ระบบการคัดแยกขยะชุมชนยังไม่มีระบบที่เป็นมาตรฐานแน่นอน ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานของแต่ละพื้นที่ ดังนั้น เพื่อการจัดการขยะให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ประเทศไทยจึงควรมีการร่วมมือกันระหว่างหลายหน่วยงานเพื่อจัดการขยะให้เป็นสัดส่วน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไข ภาครัฐควรมีการอัปเดทข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณและสถานการณ์ของขยะในปัจจุบัน และนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับการจัดการในปัจจุบัน
ในส่วนของภาคประชาชนควรให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด ปรับพฤติกรรมการทิ้ง การใช้ผลิตภัณฑ์ และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และในส่วนของสถาบันการศึกษาควรจะมีหน้าที่ป้อนความรู้และเทคโนโลยีที่สมัยใหม่และมีประสิทธิภาพในการจัดการขยะเพื่อสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความสามารถร่วมกันจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
รูปแบบการจัดการขยะชุมชนส่วนมากจะเริ่มกระบวนการตั้งแต่ ขยะออกจากแหล่งกำเนิดหรือจุดรวบรวม ขยะหลังการบริโภคผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ บ้าน ตลาด ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ที่พักต่าง ๆ จะถูกรวบรวมขนส่งไปยังสถานีขนถ่ายและสถานที่กำจัดหรือหลุมฝังกลบปลายทาง โดยการคัดแยกขยะจะเกิดขึ้นระหว่างทาง ตั้งแต่ต้นทางแหล่งกำเนิดขยะ บนรถเก็บขน โรงงานรีไซเคิลและกำจัด จนถึงสถานที่ฝังกลบ โดยส่วนใหญ่ การคัดแยกขยะชุมชนมีการแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1.ขยะที่ยังสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ หรือที่ยังมีมูลค่า อาทิ พลาสติก โลหะ ขวดแก้ว กระดาษ ฯลฯ โดยขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีผู้รวบรวมและนำไปขายให้ผู้รับซื้อไม่ว่าจะเป็น ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า หรือโรงงานรีไซเคิล เพื่อนำไปรีไซเคิล ทำเป็นเชื้อเพลง หรือแม้แต่การนำกลับมาทำเป็นเรซิ่น
2.ขยะอันตราย อาทิ หลอดไฟ สารเคมี ถ่านไฟฉาย โดยขยะอันตรายจะถูกแยกทิ้ง และแยกการเก็บเพื่อขนส่ง และนำไปโรงงานกำจัดของเสียอันตราย
3.ขยะที่ยากต่อการนำไปใช้ประโยชน์หรือไม่มีมูลค่า เช่น ขยะเปียก ขยะอินทรีย์ เศษอาหาร โดยส่วนใหญ่จะถูกเก็บขนโดยไม่มีการคัดแยก และถูกนำไปกำจัดยังสถานที่ฝังกลบ ขยะบางส่วนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้หากมีการคัดแยกจากต้นทางที่ดี เช่น นำไปทำอาหารสัตว์ ปุ๋ย หรือวัสดุดินปรับปรุงดิน
อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งแนวคิดที่มีประโยชน์ต่อการจัดการขยะ คือ กระบวนการทางวิศวกรรม ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหา ด้วยการหาข้อมูลแนวคิดที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำมาวิเคราะห์ เพื่อสร้างวิธีการ หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม สำหรับปัญหาขยะในไทย ก็วิธีการจัดการที่เหมาะสมกับบริบทบางเศรษฐกิจและสังคมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ทั้งจากขยะพลาสติก ขยะติดเชื้อทางการแพทย์ สิ่งเหลือใช้จากกิจกรรมในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม
ซึ่งปัจจุบันพลังงานจากขยะถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูง สามารถลดปัญหาได้หลากหลายมิติ เช่น ลดการสะสมของเชื้อโรค ลดปริมาณขยะที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในทุก ๆ วัน รวมถึงลดปัญหาแหล่งทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตพลังงานที่มีแนวโน้มลดลง
การฝังกลบเชิงวิศวกรรม โดยมีการฝังกลบตามหลักวิศวกรรม รวมถึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการติดตั้งระบบกันซึม รวมถึงมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่อไป หรือ แม้แต่กระทั่งการสร้างถนนจากขยะพลาสติก ที่เป็นการนำขยะมาบดย่อยผสมยางมะตอยและหิน ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ลดการซึมของน้ำ และยืดอายุการใช้งานของถนน การนำไปทำวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐบล็อก กระเบื้องปูพื้นสนาม ซึ่งชิ้นงานเหล่านี้จะมีน้ำหนักเบา ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับงานโครงสร้าง อีกทั้งยังมีการต่อยอดอื่น ๆ ทางวิศวกรรมที่น่าสนใจ อาทิ อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างที่เน้นความยั่งยืนของการใช้พลังงาน หรือลดการใช้ทรัพยากรตั้งแต่ต้นทาง
ทางด้าน รศ.ดร. ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร สมัยที่ 7 ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวิศวกรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการกำจัดขยะ และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อาคารสภาวิศวกรแห่งใหม่จึงมีเป้าหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งจากการก่อสร้างและการดำเนินงาน มีการบริหารจัดการอาคารที่มีคุณภาพ เลือกใช้วัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด รวมถึงมีการบริหารจัดการขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยในอาคารสำนักงานของสภาวิศวกรได้มีถังขยะสำหรับแยกขยะ รีไซเคิล ทั่วไป อันตราย และเศษอาหาร ไว้ตามอาคาร ส่วนกระดาษต่างๆ สภาวิศวกรได้รณรงค์ให้ใช้ในปริมาณน้อยและให้หันไปใช้เอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน อาทิ เอกสารสำหรับเสนองาน จัดประชุม จัดสัมมนา หนังสือส่งไปหน่วยงานภายนอก เป็นต้น
ติดตามข่าวสารและความรู้ใกล้ตัวเกี่ยวกับงานวิศวกรรมตลอดจนความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกร ได้ที่สายด่วน 1303 ไลน์ไอดี @coethai เพจเฟซบุ๊ก ช่องทางยูทูบ (YouTube Channel) สภาวิศวกร Council of Engineers Thailand และเว็บไซต์ https://coe.or.th