นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครบรอบ 8 ปี (DE Open House) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงดีอี ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี รวมทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ อาคารสำนักงานด้านทิศตะวันออกของโครงการพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โซน C
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงดีอี ครบรอบ 8 ปี ถือเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงดีอีเตรียมการเดินหน้าสานต่อนโยบาย The Growth Engine of Thailand การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย 3 เครื่องยนต์ใหม่ คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล 2.สร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจ สังคมดิจิทัล 3.เพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ( กันยายน 2566 – สิงหาคม 2567) กระทรวงดีอี ได้ขับเคลื่อนภารกิจต่างๆดังนี้
การแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์
– การดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) หรือศูนย์ AOC 1441 ในระยะเวลาตั้งแต่ 1 พ.ย.66 – 31 ส.ค.67 มีดังนี้
- จำนวนสายโทรเข้า (1144) 985,538 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,231 สาย
- ระงับบัญชีธนาคาร 291,256 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,107 บัญชี
– ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่ไม่เหมาะสม
- ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs เพจผิดกฎหมายโดยรวมทุกประเภท ตั้งแต่ 1 ต.ค.66 – 31 ส.ค.67 (ระยะเวลา 11 เดือน) จำนวน 138,660 URLs เพิ่มขึ้น 11 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566
- 2ปิดกั้นเพจ/URLs ที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จำนวน 58,273 URLs เพิ่มขึ้น 34.3 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566
– มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัดและตัดตอนการโอนเงิน
ผลการดำเนินงานถึง 31 ส.ค.67 มีการระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,000,000 บัญชี แบ่งเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 450,000 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 291,256 บัญชี
– มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า
ผลการดำเนินงานถึงวันที่ 31 ส.ค. 67 ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 1,000,000 หมายเลข ระงับหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการโทรออกเกิน 100 ครั้งต่อวัน จำนวน 71,122 เลขหมาย มีผู้มายืนยันยันตัวตน 418 เลขหมาย
-มาตรการแก้ไขกฎหมาย COD ซื้อสินค้าเก็บเงินปลายทาง
ดำเนินการออก “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ต.ค.67 เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีมติเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือน ก.ค.67 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการเร่งด่วนในการแก้ไขกฎหมายพิเศษ ได้แก่
- เร่งรัดการคืนเงินผู้เสียหาย
- เพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูล
- การป้องกันคนร้ายโอนเงินโดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัล
- ระงับธุรกรรมต้องสงสัยโดยการใช้ซิม การสื่อสาร
การแก้ไขปัญหาข้อมูลรั่วไหล
ผลการดำเนินการของศูนย์ PDPC Eagle Eye โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ระหว่าง พฤศจิกายน 2566 ถึง สิงหาคม 2567 รายละเอียดดังนี้
- สถิติผลการดำเนินการตรวจสอบ ค้นหา เฝ้าระวัง ทั้งสิ้นจำนวน 43,561 หน่วย โดยมีสัดส่วนการรั่วไหลของข้อมูลลดลง จากเดือน พ.ย.66 ร้อยละ 31.40 ลดลงเหลือ ร้อยละ 1.5 ในเดือน ส.ค.67
- แก้ไขปัญหาการซื้อขายข้อมูล ปิดกั้นโซเชียล 110 เรื่อง ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) จับกุมได้ 9 ราย และลงโทษปรับ บริษัทเอกชนทำข้อมูลรั่วไหล เป็นจำนวนเงิน 7 ล้านบาท
เร่งขับเคลื่อนดิจิทัลระดับภูมิภาค
เร่งรัดส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ และสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลในจังหวัดครอบคลุมพื้นที่ระดับอำเภอ โดยมีผลการดำเนินการ ดังนี้
1) โครงการ “Digital Korat: The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต”
เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนและยกระดับเมืองดิจิทัลในระดับภูมิภาค ใน 4 มิติ คือ 1. ดิจิทัลเพื่อความเท่าเทียม (ด้านสังคม) 2. ดิจิทัลเพื่อความปลอดภัย (ด้านความมั่นคง) 3. ดิจิทัลเพื่อโอกาสที่ดีกว่า (ด้านเศรษฐกิจ) 4. ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ด้านการดำเนินงานภาครัฐ) โดยดำเนินการในพื้นที่ 878 อำเภอ ทั่วประเทศ
2) โครงการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลของเด็ก เยาวชน และประชาชน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การใช้เทคโนโลยีเพื่อการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ จำนวน 2,222 แห่ง
3) ดำเนินการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน 24,654 หมู่บ้าน
4) โครงการ “ชุมชนโดรนใจ” หรือ One Tambon One Digital (OTOD) ในความดูแลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ดำเนินการในกว่า 500 ชุมชน พื้นที่ให้บริการกว่า 4 ล้านไร่ทั่วประเทศ ยกระดับทักษะเกษตรกรกว่า 1,000 คน สร้างธุรกิจบริการโดรน 50 ชุมชน สร้างอาชีพใหม่ช่างโดรนชุมชน และเกิดศูนย์สอบอนุญาตการบินโดรน 5 ภูมิภาค รวมทั้งช่วยให้เกิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท
นโยบาย Cloud First Policy
ผลักดันการใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก มุ่งสู่การเป็น Cloud Hub ของภูมิภาค โดยยกระดับการทำงานของภาครัฐด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีผลการดำเนินการดังนี้
- ให้บริการระบบคลาวด์ เพื่อพัฒนาการบริการประชาชน ในหน่วยงานภาครัฐ 220 กรม จำนวน 75,000 VM
- ประหยัดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลของประเทศ 30-50 %
- ส่งเสริมการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล และการใช้ประโยชน์ Big Data
- สนับสนุนท้องถิ่นประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการทำงาน
- ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
AI Agenda
ขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยดำเนินการใน 3 ด้านหลัก ดังนี้
1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI
- การพัฒนาแพลตฟอร์มรวมบริการด้าน AI บนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ในโครงการ National AI Service Platform
- เตรียมความพร้อมด้านจริยธรรม/กฎหมาย/สังคม AI Ethics, Governance, Regulation
2) การพัฒนาทักษะด้าน AI
- การพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี AI ผ่านกลไกสำคัญอย่าง Upskill, Reskill และ New Skill ให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน
- จัดกิจกรรมการระดมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างความรู้/ทักษะ ด้านเทคโนโลยี AI สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และประชาชน
3) เร่งรัดการจัดทำระบบ AI Use Case ในภาครัฐและเอกชน เช่น AI Use Case การพยากรณ์อากาศระยะปัจจุบันอัจฉริยะ พยากรณ์กลุ่มฝนเชิงพื้นที่ระดับอำเภอ (ระยะ 3 ชม. ข้างหน้า) บริเวณ 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ และแผนที่เสี่ยงภัยสภาวะฝนตกหนักถึงหนักมาก
การพัฒนากำลังคนดิจิทัล Digital Manpower
- ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้กับกำลังคนและบุคลากรดิจิทัลในทุกระดับด้วยโครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลกำลังคนดิจิทัล ผ่าน Digital ID (Credit bank) โดยเพิ่มกำลังคนด้านดิจิทัล 550,000 คน ร่วมกับเอกชน
- ดึงดูดกำลังคนดิจิทัล ภายใต้โครงการ Global Digital Talent VISA
- ดำเนินโครงการ อาสาสมัครดิจิทัล และสภาเยาวชนดิจิทัล ขยายผลให้ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ประชาชน
Startups & SMEs ไทยแข่งได้
- โครงการ บัญชีบริการดิจิทัล Thailand Digital Catalog โดย ดีป้า ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัล เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลไทยในการเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยรัฐสามารถใช้กระบวนการทางพัสดุด้วยวิธีคัดเลือกหรือเฉพาะเจาะจงในการซื้อหรือเช่าซื้อสินค้าและบริการดิจิทัลจากบัญชีบริการดิจิทัล ช่วยให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม มีมาตรฐานและสามารถตรวจสอบได้
- ผลักดันมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Tax 200%
- การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ให้เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดิจิทัลจากผู้ประกอบการไทย และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ และระดับสากล ภายใต้เครื่องหมาย dSURE
- แก้ไขปัญหานำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ราคาต่ำ โดยออกกฎหมาย มาตรการที่เข้มข้น และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำผิดกฎหมาย
การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล
การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในปี 2566 หรือ Thailand Digital Competitiveness Ranking 2023 ตาม IMD World Digital Competitiveness Ranking 2023 ดีขึ้น 5 อันดับ โดยไทยอยู่อันดับที่ 35 จากเดิม อันดับที่ 40 ในปี 2565
ทั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้าหมายอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย จะต้องอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกภายในปี 2569 นี้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี ได้ตั้งเป้าการขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเน้นให้ความสำคัญใน 5 ด้าน ดังนี้
- การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งจะต้องดำเนินการต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพนันออนไลน์
- การเดินหน้าปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยการดำเนินการผ่านการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) พัฒนาระบบการบริหารจัดการในหน่วยงานราชการ มุ่งเน้นการให้บริการประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
- การดูแลส่งเสริมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบเรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากแพลตฟอร์มต่างๆ พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจ SMEs
- การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้ เพิ่มโอกาส ให้กับคนไทย ผ่านการส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประชาชน
- การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ภายใต้สถานการณ์การขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทย
“กระทรวงดีอี พร้อมที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย คือการเป็น ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) ของภูมิภาค โดยมีภารกิจสำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การยกระดับและพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล รวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้ ความเชื่อมั่นในการใช้งานเทคโนโลยีของประชาชนคนไทยทุกคน บนพื้นฐานของการสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่เท่าเทียม ทั่วถึง และยั่งยืน” รองนายกฯ ประเสริฐ กล่าวปิดท้ายในงาน DE Open House
–depa แถลงผลสำเร็จโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย