สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA จัดงาน “ETDA 12 ปี #ชีวิตดี เมื่อมีดิจิทัล” เปิดผลงานเด่นรอบปี 2565 ผ่าน 5 งานไฮไลท์ “เร่งเครื่องการทำธุรกรรมฯ ประเทศ-ดันใช้ดิจิทัลไอดีในวงกว้าง-กำกับดูแลดิจิทัลแพลตฟอร์ม-ยกระดับการทำงาน ธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยี-พัฒนาคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน” พร้อมประกาศโจทย์ใหญ่ก้าวต่อไปในปี 2566 เดินหน้าก้าวผ่านทุกช่องโหว่ ความท้าทาย ตั้งเป้า “ประเทศ ผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ ประชาชน ชีวิตต้องดีกว่าที่เคย…เมื่อมีดิจิทัล” พร้อมเดินหน้าผนึกกำลังพาร์ทเนอร์ดิจิทัลทั้งไทยและต่างประเทศ จัดงานใหญ่แห่งปี Digital Governance Thailand 2023 (DGT 2023) ภายใต้แนวคิด Happiness Creation วันที่ 24-25 ก.พ. 66 นี้
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า การทำให้ชีวิตคนไทยทุกกลุ่มง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มั่นใจขึ้น ปลอดภัยขึ้น มีชีวิตดิจิทัลดีขึ้นกว่าที่เคย…ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นับเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ ETDA เดินหน้าเร่งเครื่องให้ประเทศเกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในมิติต่างๆ อย่างมั่นคงปลอดภัยน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างสังคมดิจิทัล เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมนานาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ETDA มุ่งยกระดับชีวิตดิจิทัลของคนไทยให้ดีขึ้น ผ่านการดำเนินงานหลักๆ 5 ส่วนด้วยกัน
1.การผลักดัน National Strategic plan เร่งเครื่องธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ผ่าน ร่างแผนยุทธศาสตร์ธุรกรรมฯ ชาติปี 66-70, การคาดการณ์อนาคตระยะ 10 ปี โดยศูนย์ Foresight Center by ETDA เพื่อหาแนวทางหรือข้อเสนอแนะเพื่อเตรียมสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
2.การส่งเสริมให้เกิด Digital ID Ecosystem รองรับการใช้งาน Digital ID ในวงกว้าง ผ่านการเตรียมทั้งร่างกฎหมาย มาตรฐาน ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID และการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเห็นตัวอย่างการใช้งาน Digital ID ในปัจจุบัน ด้วยแคมเปญ MEiD บริการไทย…ไร้รอยต่อ
3.การกำกับ ดูแล Digital Platform ให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใสในการแข่งขัน ผ่านร่างกฎหมาย Digital Platform
4.Digital Adoption & Transformation ยกระดับความรู้ความสามารถ เพื่อให้คนไทยยกระดับการทำงานและธุรกิจ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ไปกับสถาบัน ADTE by ETDA แหล่งรวมความรู้เพื่อคนดิจิทัล และแคมเปญ ETDA Launchpad ที่สร้างพื้นที่ของการจับคู่ธุรกิจระหว่าง SMEs และผู้ให้บริการดิจิทัล และกิจกรรม AI Governance Webinar
5.Human Development พัฒนาคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน ผ่านโปรเจกต์ ETDA Digital Citizen (EDC) โค้ชดิจิทัลชุมชนและได้รับการช่วยเหลือ…เมื่อตกเป็นเหยื่อ ผ่านศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ (1212ETDA) เป็นต้น
–DEPA ประกาศแผนปี 2566 ชูแนวคิด Digital Infinity
จากการดำเนินงานต่างๆ ข้างต้น เป็นการคำนึงถึง Ecosystem หรือระบบนิเวศในการพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ซึ่งล้วนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การทำธุรกรรมฯ ทั้งในมุมของประเทศ ผู้ประกอบการ Service Provider หน่วยงานรัฐและประชาชน ดีขึ้นในหลากหลายมิติ ที่จะช่วยเติมเต็มสิ่งที่เรายังขาด เช่น
ในมุมของประเทศ วันนี้เรามีทิศทางที่ชัดขึ้นในการเร่งเครื่องการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่สำคัญได้มีการพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศที่พร้อมกับการใช้งาน Digital ID ในวงกว้าง ผ่านบริการที่ใช้ได้จริง และพร้อมสำหรับการพัฒนาในระดับต่อไปเพื่อให้สามารถขยายการใช้งานได้เพิ่มมากขึ้น เช่น บริการ Mobile ID ของสำนักงาน กสทช. และ บริการ D.DOPA ของกรมการปกครอง
การมีกลไกดูแล Digital Platform ของผู้ให้บริการทั้งไทยและต่างประเทศ สร้างความเป็นธรรม โปร่งใสในการประกอบกิจกรรมธุรกิจบริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม มีข้อมูลที่สะท้อนภาพอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า ในรูปแบบ Strategic Foresight และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมฯ ในภาพรวมของประเทศที่สะท้อนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย เช่น การสํารวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต หรือ Internet User Behavior (IUB) และการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย (e-Commerce Survey) ทำให้มีข้อมูลสำหรับประกอบการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ในการพัฒนาของประเทศสอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น
ผู้ประกอบการ SMEs
ในมุมของผู้ประกอบการ SMEs ที่ผ่านมาได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัล ภายใต้สถาบัน ADTE และแคมเปญ ETDA Launchpad ไปแล้วไม่น้อยกว่า 3,000 คน ภายใต้หลักสูตรดิจิทัล (ADTE Digital Courses) ที่ได้รับออกแบบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น e-Signature (ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์), Digital ID (การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล), Digital Transformation (กระบวนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการ), e-Document (เอกสารอิเล็กทรอนิกส์) ฯลฯ พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญ (ADTE Consult Team) ที่คอยให้คำปรึกษาช่วยให้คำแนะนำเพื่อการก้าวผ่านข้อจำกัดโดยคำนึงถึงความสอดคล้องตามกฎหมายดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง ทำให้การเปลี่ยนผ่านการทำงานไปสู่ดิจิทัลเป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญ ETDA ยังได้รวบรวมรายชื่อเครื่องมือดิจิทัล (e-Tool) รวมกว่า 47 โซลูชันจาก 47 ผู้ให้บริการ ครอบคลุมการทำงานหลากหลายมิติ เช่น ด้านบัญชีการเงิน การขนส่ง การเก็บข้อมูล ฯลฯ มาอยู่ในรูปแบบ e-Catalog ที่ชื่อ “Service Provider Profile” ให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้บริการ เพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบ e-Office และวันนี้ หลายองค์กร หลายบริษัท สามารถทำงานในรูปแบบ Remote Working ที่การทำงานไม่จำกัดแค่ในสำนักงานเท่านั้น โดย ETDA ได้ยกระดับการทำงานแบบ Remote working ได้ 100% เพื่อเป็นต้นแบบกับหน่วยงานที่สนใจ พร้อมกันนี้ยังมีการสนับสนุนในมุมของการยื่นใบกำกับภาษี (e-Tax Invoice) ผ่านระบบและผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ ที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองระบบสารสนเทศ
ผู้ให้บริการ Service Provider
ในมุมของผู้ให้บริการ Service Provider มีพื้นที่ในการร่วมสร้างและการันตีความน่าเชื่อถือของนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมฯ ผ่าน Digital Service Sandbox สนามทดสอบความพร้อมของนวัตกรรมว่ามีความสอดคล้องกับมาตรฐาน กฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ก่อนให้บริการจริงและกิจกรรม Hackathon ต่างๆ ที่ ETDA จัดขึ้น เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมด้าน Digital ID และ e-Office ทำให้มีเวที Showcase และประลองไอเดีย ร่วมพัฒนานวัตกรรม ช่วยสร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น จนนำมาสู่การจับคู่ทางธุรกิจ ระหว่าง ผู้ให้บริการ และ SMEs แล้วไม่น้อยกว่า 200 คู่
พร้อมโอกาสในการเป็นพาร์ทเนอร์กับ ETDA ในการร่วมแชร์ความรู้ ประสบการณ์ ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่เหมาะสม ไปกับ ETDA Live และกิจกรรม Workshop ต่างๆ ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นธรรม เท่าเทียม โปร่งใส ภายใต้การเสนอร่างกฎหมาย Digital Platform และ Digital ID ที่รอการประกาศใช้ ทำให้ ETDA ได้มีกระบวนการเตรียมความพร้อมทั้งผู้ประกอบการ และจัดเตรียมมาตรฐาน แนวทาง และมาตรการที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง
หน่วยงานรัฐ
ในมุมของหน่วยงานรัฐ ทำงานสะดวก เร็วขึ้น ด้วย e-Saraban โมเดลต้นแบบพัฒนาโดย ETDA เพื่อยกระดับงานเอกสารภาครัฐ จากกระดาษสู่อิเล็กทรอนิกส์ สามารถลงนาม ส่งต่อได้ ทุกที่ทุกเวลา ปัจจุบันเกิดการนำร่องใช้งานแล้ว 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงาน ป.ย.ป. พร้อมร่วมผลักดันเอกสารสำคัญๆ ของรัฐ เช่น ใบอนุมัติอนุญาต, ใบเสร็จรับเงิน, ใบรับรองแพทย์ และ Digital Transcript ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลแล้ว ส่งเสริมการให้บริการ หรือ e-Government Service
โดยการทำางานร่วมกับพาร์ทเนอร์ภาครัฐที่สำคัญ พร้อมกันนี้ ขณะนี้เนื่องจากอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านงานทางด้าน Cybersecurity จึงยังมีการดำเนินงานในการเฝ้าระวังและจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ ให้กับหน่วยงานรัฐซึ่งในปี 65 ได้ดำเนินการไปแล้ว 280 หน่วยงาน พร้อมเปิดพื้นให้หน่วยงานรัฐนำนวัตกรรมร่วมทดสอบใน Digital Service Sandbox การรันตีความพร้อมก่อนให้บริการจริง อย่าง ไปรษณีย์ไทย (บริการ e-Timestamp) กสทช. (บริการ Mobile ID) และ NECTEC (บริการ e-Meeting ระบบเลือกตั้งออนไลน์) โดยไม่ลืมที่จะพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัล แก่บุคลากรภาครัฐ ที่ผ่านการอบรมโดยสถาบัน ADTE ไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,500 คน
ประชาชน
ในมุมของประชาชน ได้รับการพัฒนาทักษะสู่พลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทันโลกออนไลน์ไปกับโครงการ EDC (ETDA Digital Citizen) แล้วไม่น้อยกว่า 5,700 คน ทั่วประเทศ ต่อยอดสู่เทรนเนอร์ดิจิทัล (EDC Trainer) ที่พร้อมส่งต่อความรู้สู่ชุมชนไม่น้อยกว่า 250 คน ทั้งยังมีสื่อเรียนรู้วิดิทัศน์สร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ ที่คนไทยเข้าชมแล้วมากกว่า 26 ล้านการเข้าชม
นอกจากนี้ คนในชุมชนกว่า 186 ชุมชน ยังสามารถโกออนไลน์ สร้างรายได้จากการขายสินค้าท้องถิ่นสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลแล้วกว่า 70.65% ภายใต้โครงการโค้ชดิจิทัลชุมชน นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงเมื่อประชาชนพบกับปัญหา เมื่อเกิดปัญหาออนไลน์ยังสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้ง่ายมากขึ้น ผ่านศูนย์ 1212 ETDA ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. ช่วยประสานส่งต่อเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องที่ครอบคลุมทั่วประเทศในระดับชุมชน ส่งผลให้ผู้บริโภคออนไลน์เข้าถึงการดูแลแล้วกว่า 95% จากจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด
ที่สำคัญคนไทยยังมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ Digital ID รวมถึงได้รู้จัก Use Case ของบริการภาครัฐและเอกชนที่เชื่อมต่อกับบริการ Digital ID เพิ่มมากขึ้นและส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนได้มีรู้จัก มีความตระหนัก สำหรับการเข้าสู่การใช้บริการทั้งในภาคการเงิน หรือการให้บริการภาครัฐ ผ่านกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในแคมเปญ MEiD (มีไอดี…บริการไทย ไร้รอยต่อ) เป็นต้น
ดร.ชัยชนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้คนไทยมีชีวิตดิจิทัล ที่ดียิ่งขึ้นกว่าที่เคย ในก้าวต่อไป ปี 2566 ETDA จึงมีเป้าหมายในการทำงานในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 66-70) ด้วยโจทย์ 30:30 คือ การเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 30% และวางเป้าให้ไทยเป็น 30 อันดับแรกของโลกที่มีความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัล โดยมียุทธศาสตร์ในการเติมเต็มอนาคตธุรกรรมฯ ของไทย คือ ประเทศ ต้องเกิดการประยุกต์ใช้กลไกการกำกับดูแล Digital Platform ภายใต้มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ เกณฑ์การกำกับที่จำเป็น เกิดแนวทางในการปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม รู้ว่าบริการไหนที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับและที่ได้รับการยกเว้น และต้องมีข้อมูล Strategic Foresight ที่ช่วยให้การมองอนาคตดิจิทัลชัดขึ้นในรูปแบบงานวิจัยและข้อเสนอแนะ
โดยเฉพาะในมิติ Well-being, Digital Tourism ภายใต้ Foresight Center ที่ ETDA ร่วมกับ Partner ไทยและต่างประเทศจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางแหล่งข้อมูลการทำธุรกรรมฯ ของประเทศ ที่พร้อมกระจายความรู้สู่ทุกภาคส่วน ต้องมีกรอบธรรมาภิบาลสำหรับการประยุกต์ใช้ AI หรือ AI Governance Framework โดยเริ่มในกลุ่ม Health Sector และมี AI Governance Course เพื่อเตรียมความพร้อมผู้บริการและบุคลากรในการประยุกต์ Framework และต้องมีดัชนีความพร้อมทางด้านดิจิทัล หรือ Digital Transformation Maturity Index เพื่อให้ทราบถึงสถานะของผู้ประกอบการ ปัญหา อุปสรรคและนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ไข ส่งเสริมเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลที่ตรงความต้องการมากที่สุด เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP ของประเทศ และสุดท้าย คือ การมีแนวทางการบริหารเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยการใช้เทคโนโลยี Blockchain
เอกชน ผู้ประกอบการ SMEs และ Service Provider ต้องเร่งเครื่องการจับคู่ธุรกิจเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการ ผ่านกิจกรรม Business matching ร่วมสร้างบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ รองรับธุรกิจดิจิทัล ผ่านการจัดกิจกรรม Hackathon และการทดสอบนวัตกรรม ภายใต้ Innovation Sandbox by ETDA และ ETDA Testbed สำหรับ SMEs จะมีแหล่งให้คำปรึกษาและพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ผ่านศูนย์ ADTE by ETDA ที่ร่วมกับพาร์ทเนอร์พัฒนาหลักสูตร Mandatory course ที่จำเป็นสำหรับคนยุคดิจิทัล
หน่วยงานรัฐ เร่งเครื่องสนับสนุนกับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเครือข่ายเพื่อให้เกิดการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูปแบบเร็วที่สุด ภายใต้กฎหมาย มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และการให้คำปรึกษาแนวทางปฏิบัติจากทีมผู้เชี่ยวชาญของ ETDA ทั้งยังต้องมีหลักสูตรความรู้ที่เหมาะสมสำหรับบุคลากรภาครัฐ โดยสถาบัน ADTE เพื่อให้เกิดการทำงานในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น รวมทั้งขยายผลให้เกิดการใช้งานระบบ e-Saraban ระบบ e-Timestamp ระบบ e-Signature กับหน่วยงานสำคัญๆ ของภาครัฐขยายวงกว้างยิ่งขึ้น
ประชาชน จะเดินหน้าพัฒนาคนไทยและกลุ่มที่เปราะบาง ตลอดจนกลุ่มผู้พิการ ให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ผ่านการต่อยอดโครงการ ETDA Digital Citizen (EDC) และ EDC Trainer ที่กระจายความรู้ไปทั่วประเทศมากขึ้น ผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งมีการเข้าถึงทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมมุ่งยกระดับความรู้ของคนในชุมชน สู่การสร้างรายได้ ผ่านเครือข่ายในพื้นที่อย่างสถาบันการศึกษาและผู้นำชุมชน ไปกับโค้ชดิจิทัลชุมชน หรือ ETDA Local Digital Coach (ELDC) ที่จะกระจายสู่ 4 ภูมิภาค พร้อมๆ กับส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความรู้ ผ่านหลักสูตร EASY e-Commerce ที่สามารถเข้าเรียนได้ผ่านออนไลน์ต่อยอดสู่กิจกรรม Pitching เพิ่มทักษะการคิดในเชิงธุรกิจมากขึ้น และเพิ่มศักยภาพการช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ด้วยการเพิ่มเครือข่ายการทำงานของ ศูนย์ 1212 ETDA ที่ลงลึกระดับพื้นที่มากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพชีวิตดิจิทัลของคนไทยให้ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน ETDA จึงเดินหน้าจัดงานใหญ่ ครั้งแรกกับงาน Digital Governance Thailand หรือ DGT 2023 ภายใต้คอนเซปต์ Happiness Creation ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ สามย่านมิตรทาวน์ นับเป็นมหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ ที่จะรวมพลพาร์ทเนอร์ด้านดิจิทัลจากทั้งไทยและต่างประเทศมาไว้ที่งานนี้ที่เดียว เพื่อมาร่วมขับเคลื่อนและร่วมสร้างสรรค์ให้ชีวิตดิจิทัลของคนไทย….มีความสุข พร้อมก้าวสู่โลกอนาคตได้เร็วและสำเร็จยิ่งขึ้นเพื่อตอบโจทย์ตัวเลข 30:30 ไปด้วยกัน
“การทำให้ชีวิตดิจิทัลของคนไทย ดีกว่าที่เคยเป็น ปิด GAP ที่คนไทยพบเจอ ถือเป็นโจทย์ท้าทายที่จะเกิดขึ้นโดยที่ ETDA เดินหน้าไปเพียงลำพังไม่ได้ เพราะการเดินทางครั้งนี้ไม่ง่าย เราจึงอยากชวนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชน คุณมาร่วมเป็น Partner เป็นส่วนหนึ่งที่ ร่วมสร้างชีวิตดี…เมื่อมีดิจิทัล อย่างยั่งยืนไปด้วยกัน”