Facebook ประเทศไทย จับมือ 6 พันธมิตร สร้างการตระหนักรู้เท่าทันกลโกงซื้อขายออนไลน์

Facebook ประเทศไทย จับมือ 6 พันธมิตร สร้างการตระหนักรู้เท่าทันกลโกงซื้อขายออนไลน์

Facebook ประเทศไทย จาก Meta พร้อมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โคแฟค ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศความร่วมมือในเฟสสองของแคมเปญ #StayingSafeOnline เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงผ่านช่องทางซื้อขายออนไลน์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น และสนับสนุนให้คนไทยสามารถป้องกันตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงกลโกงของนักต้มตุ๋น

ในปัจจุบัน ผู้คนพึ่งพาช่องทางดิจิทัลเพื่อเชื่อมต่อกับชุมชน ธุรกิจ ครอบครัว และเพื่อนฝูงมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การประกาศความร่วมมือในครั้งนี้ สานต่อการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของ Meta ในแคมเปญ​ เพื่อช่วยให้คนไทยรู้เท่าทันและเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย การตกเป็นเหยื่อบนโลกออนไลน์ทั้งภัยจากสแกมเมอร์และฟิชชิ่ง ฯลฯ ความริเริ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของWe Think Digital Thailand ซึ่งเป็นโครงการเสริมทักษะดิจิทัลของ Facebook ประเทศไทย จาก Meta ที่ได้เปิดตัวและทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562

‘STT GDC Thailand’ ร่วมมือกับ ‘BKNIX’ ตั้ง ‘STT Bangkok 1’ เป็นศูนย์เชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างประเทศ
WHAUP คว้าดีลติดตั้ง Solar Rooftop เมกาบางนา ขนาด 10 MW จ่อเซ็นสัญญาเพิ่ม 3 โครงการ 15 MW ภายใน Q2/65

การเปิดตัวเฟสที่สองของแคมเปญผ่านวิดีโอสั้นที่ให้ความรู้ในหัวข้อเกี่ยวกับภัยหลอกลวงจากช่องทางการซื้อขายออนไลน์ยังสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่มากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงผ่านช่องทางซื้อขายออนไลน์ โดยจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสพธอ. ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ร้องเรียนถึงปัญหาดังกล่าวราว 50,000 ครั้ง และมีการร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (ผ่านสายด่วน 1212 Online Complaint Center หรือ 1212 OCC) ของ สพธอ. ถึง 17,112 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยมีคำร้องเรียนกว่า 6,613 ครั้ง ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการหลอกลวงบนโลกออนไลน์

มีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า “สิ่งที่เรามักได้รับการรายงานและพบได้บ่อย คือ สั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และไม่ได้รับหรือสินค้าที่ได้รับไม่เหมือนกับรูปภาพสินค้าที่แสดงไว้ มูลค่าความเสียหายของแต่ละบุคคลจะดูเหมือนไม่มาก ประมาณ 300 ถึง 1,000 บาท แต่นักต้มตุ๋นจะใช้จุดนี้หลอกลวงผู้คนจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วก็เปิดบัญชีใหม่ไปเรื่อย ๆ หน้าที่ของเราคือการประสานงานกับพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่เรามองว่านี่คือการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ สำหรับเรา ประเด็นสำคัญคือการมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราได้ลงทุนในโครงการนี้เพื่อให้ความรู้กับคนไทย และปกป้องพวกเขาให้ปลอดภัยจากการตกเป็นเหยื่อ”

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช. ก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นว่า “ในปัจจุบัน อาชญากรรมเกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่สามารถระบุตัวตนของอาชญากร ทั้งยังไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดน ดังนั้นการร่วมมือกับพันธมิตรหลักเชิงกลยุทธ์ทั้งในระดับท้องถิ่นและต่างชาติ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมเหล่านี้ สำหรับผม การให้ความรู้และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถดูแลตนเองให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับปัญหาการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต แคมเปญนี้จึงเป็นอีกช่องทางสำคัญในการสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว”

สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค ประเทศไทย เน้นย้ำถึงการดำเนินงานและวิสัยทัศน์ขององค์กรของเธอว่า “โคแฟคเป็นชุมชนที่รวบรวมข้อมูลเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้น เราเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคมเปญนี้ เพื่อสนับสนุนให้ประชากรยุคดิจิทัลสามารถรับมือกับโลกที่พัฒนาและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง”

จิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความคิดเห็นว่า “การใช้บริการดิจิทัล โดยเฉพาะในการซื้อขายออนไลน์ เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด และด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ เหล่านักต้มตุ๋นจึงมองเห็นโอกาสในการหลอกลวงเพื่อหาเงินจากผู้คน ปัญหาดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับเราเป็นอย่างมาก และเป็นสาเหตุที่เราต้องการสนับสนุนให้คนไทยมีความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว และหันมาตรวจสอบความน่าเชื่อถือของร้านค้าและผู้ขายก่อนสั่งซื้อสินค้าออนไลน์”

มร.ไมเคิล บัค หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ที่ Meta เรามีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้คนให้สามารถเชื่อมต่อ ค้นหาชุมชน และพัฒนาธุรกิจของพวกเขาให้เติบโตได้อย่างปลอดภัยบนแพลตฟอร์มของเรา ผ่านนโยบาย มาตรการป้องกัน และเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยตลอดช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา คนไทย ซึ่งรวมไปถึงเจ้าของธุรกิจต่าง ๆ มีความเข้มแข็งอย่างมากในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว การสร้างประสบการณ์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในการค้นหาสินค้าและแบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบและต้องการเชื่อมต่อด้วยบนแพลตฟอร์มของเราจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เราจึงมุ่งเดินหน้าให้ความรู้กับคนไทยผ่านแคมเปญสร้างการตระหนักรู้ #StayingSafeOnline เพื่อปกป้องพวกเขาจากการถูกหลอกลวง เราขอขอบคุณพันธมิตรทุกฝ่ายที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และช่วยให้เราสามารถส่งต่อองค์ความรู้และดูแลความปลอดภัยให้กับคนไทยบนโลกออนไลน์ได้”

การเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการดูแลความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ในโครงการ #StayingSafeOnline และรายละเอียดหลักสูตรการเรียนรู้ต่าง ๆ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยชั้นนำจากทีมงานด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และนักวิจัยกว่า 35,000 คน ของ Meta โดยเป็นเนื้อหาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ที่มักพบบ่อยที่สุด และลักษณะทั่วไปของนักต้มตุ๋น เป็นต้น สำหรับเฟสสองของโครงการจะให้ความสำคัญกับหัวข้อ “ความปลอดภัยในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์” โดยการให้เคล็ดลับที่เป็นประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การซื้อสินค้าและบริการจากผู้ขายออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ การหยุดคิดสักครู่ก่อนซื้อ และวิธีการรายงานการหลอกลวงบน Facebook และ Instagram

นอกจากนี้ คุณยังสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเคล็ดลับดังกล่าว และวิธีการในการเฝ้าระวังผู้ประสงค์ร้ายทางโลกออนไลน์ประเภทต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์โครงการ We Think Digital Thailand ได้ที่ https://wethinkdigital.fb.com/th/th-th/stayingsafeonline/ หรือเพจ Facebook https://www.facebook.com/wtdthailand

Scroll to Top