NIA ให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 หรือแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน
เชียงใหม่ ในวิกฤตสูดอากาศฤดูหนาว!! เมื่อความชุกของฝนลดลง เริ่มได้สัมผัสสายลมเย็นที่พัดผ่านเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูหนาวและเทศกาลแห่งความสุขกำลังวนมาอีกครั้ง แน่นอนว่าหลายจังหวัดทางภาคเหนือจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่นับว่าเป็นจังหวัดมีเสน่ห์เป็นลำดับต้นๆ ของโลก เรียกได้ว่าเป็นช่วง High-Season ที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจคึกคักเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวจะได้รับประโยชน์ แต่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ต่างก็ได้รับเม็ดเงินจากบรรดานักท่องเที่ยวผู้มาเยือนถิ่นล้านนาด้วยเช่นกัน
แต่ขณะเดียวกัน ฤดูหนาวกลับเป็นฤดูกาลที่คนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือต้องต่อสู้กับฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นพิเศษ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาล้อม เมื่อมวลความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุม ส่งผลให้ลมสงบ ฝุ่นละอองถ่ายเทได้ยากจึงเกิดการสะสมของฝุ่นละอองและฝุ่น PM 2.5 ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดให้ฝุ่น PM 2.5 อยู่กลุ่มสารก่อมะเร็งที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปอด โรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายและเพิ่มโอกาสให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคหลอดเลือดในสมองได้
ดังนั้น ปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562
ที่ผ่านมาจะเห็นการแก้ปัญหาของหลายภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และเครือข่ายประชาสังคมผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น “สวนเจริญประเทศ” ป่ากลางเมืองเชียงใหม่ ขนาด 9 ไร่ ที่เกิดจากการยืนหยัดของชุมชน “สวนผักคนเมือง” เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นสวนผักกลางเมืองเชียงใหม่ “สวนสาธารณะริมน้ำปิงแห่งใหม่” พื้นที่เพื่อการเชื่อมวิถีชีวิตคนเชียงใหม่กับแม่น้ำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง “การพัฒนารถไฟฟ้าสำหรับนักเรียน” ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการ และ “การจัดการมลพิษอากาศในเมือง” เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น
Smog Free Tower: หอคอยปลอดควัน เครื่องฟอกอากาศกลางแจ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีขนาดสูง 7 เมตร เทียบเท่าตึกสูงสี่ชั้น แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้กำลังไฟเพียง 1,400 วัตต์ ซึ่งจากการทดสอบพบว่าตัวเครื่องสามารถจับฝุ่นละออง PM 10 ได้มากถึงร้อยละ 70 และ PM 2.5 ได้ถึงร้อยละ 25 มีระบบการทำงานคล้ายกับเครื่องฟอกอากาศในโรงพยาบาล สามารถฟอกอากาศได้ถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันมีการติดตั้งที่เมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์
Air-Purifying Billboard: เครื่องฟอกอากาศบนป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ ตัวป้ายสามารถฟอกอากาศได้มากถึง 3.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเทียบเท่ากับต้นไม้จำนวนกว่า 1,200 ต้น ผลงานจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เมืองลิมา ประเทศเปรู
Photosynthesis Bike: จักรยานลดฝุ่นด้วยการเลียนแบบการสังเคราะห์แสงของพืช โดยการกรองคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านอุปกรณ์ระหว่างช่องแฮนด์จักรยาน และมีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ฝังอยู่ในเฟรมจักรยานเป็นตัวช่วยสร้างออกซิเจน แม้ว่าผลงานนี้ยังเป็นแค่ไอเดียแต่คาดว่าจะสามารถนำมาใช้จริงได้ในอนาคต
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “ปัจจุบันนวัตกรรมด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก และยังต้องใช้เงินทุนจำนวนหนึ่ง ดังนั้น การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและต้นทุนต่ำอย่างหนึ่งก็คือ การส่งเสริมให้คนในเขตเมืองเลือกใช้รถสาธารณะ และการเดินแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น หรือช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กตั้งแต่ระเบียงหรือเขตพื้นที่บ้าน ขณะที่ภาครัฐต้องจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายกับยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ เพิ่มมาตรการควบคุมการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มทางเท้า เพิ่มพื้นที่สาธารณะ รวมถึงศึกษานวัตกรรมและวิธีแก้ปัญหาจากประเทศที่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว เพื่อนำมาปรับใช้ เพราะปัญหาฝุ่นควันเป็นปัญหาที่เมืองใหญ่ทั่วโลกต่างก็พบเจอเช่นกัน”
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยกระดับความรุนแรงขึ้น อาจทำให้โลกต้องเผชิญกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ ดังนั้น NIA จึงให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 หรือแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ด้านนวัตกรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นต้นแบบการขยายผลให้เข้าถึงปัญหาตามบริบทของพื้นที่และก่อให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหา ส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ดังตัวอย่างในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ที่มีการปลูกข้าวโพดจำนวนมาก
จึงเกิดเป็นนวัตกรรมกระดาษจากเปลือกข้าวโพด: บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นต้นแบบการจัดการวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ด้วยการรับซื้อเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วนำมาเพิ่มมูลค่าเป็นกระดาษคุณภาพ โดยใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และออกแบบพัฒนาเป็นปลอกสวมแก้วจากกระดาษ และที่รองแก้ว นอกจากนี้ ยังนำแนวคิดเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัลมาใช้สำหรับการวางแผนการตลาด สร้างรายได้แก่เกษตรกร สร้างแบรนด์ให้กับบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการลดมลพิษจากการเผาทำลายเปลือกข้าวโพดด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม
หรืออีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ นวัตกรรมการจัดการระบบนิเวศป่าเปียกชุมชน จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยการพัฒนาระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ให้ป่าชุ่มชื้นขึ้น ลดการเกิดไฟป่า อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบการจัดการด้านการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนผ่านเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานและยกระดับการแปรรูปของป่าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ในการยังชีพ การสร้างรายได้ และดูแลทรัพยากรธรรมชาติในป่าชุมชนพร้อมๆ กันได้อย่างยั่งยืน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองที่ไร้ฝุ่นควัน เพื่อทำให้หน้าหนาวในฝันของชาวเมืองเหนือกลับมาสดใสได้อีกครั้ง
เคยไหม? เลื่อนฟีดโซเชียลมีเดียแล้วเจอคลิปโป๊ ๆ ของคนดัง หรือแม้แต่คนรู้จัก แต่เอะใจว่า...มันดูแปลก ๆ เหมือนไม่ใช่ตัวจริง นั่นอาจเป็นเพราะคุณกำลังเผชิญหน้ากับ "Deepfake Porn" ภัยร้ายยุค AI ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในขณะนี้ Deepfake…
คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศปรับ Meta Platforms เป็นเงิน 798 ล้านยูโร (ประมาณ 840 ล้านดอลลาร์) จากการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหภาพยุโรป โดย Meta ถูกกล่าวหาว่าใช้ Facebook Marketplace…
ข่าวดีสำหรับสาวก Apple! MacBook Pro ลำโพงเสีย ซ่อมง่าย จ่ายน้อยกว่าเดิม เมื่อ Apple ประกาศเปลี่ยนวิธีการซ่อมแซม ไม่ต้องเปลี่ยน Top Case ทั้งชุด ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ใช้…
LINE ประเทศไทย จัดงานสัมมนา "Food & Beverage Industry Insights" เจาะลึกเทรนด์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มยุคใหม่ เผย 4 กลยุทธ์สำคัญ พร้อมโซลูชันครบวงจร ช่วยผู้ประกอบการไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือด…
Thai SmartLynx สายการบินเช่าเหมาลำ เดินหน้ารุกตลาดไทยเต็มสูบ ประกาศเตรียมนำเข้าเครื่องบิน Airbus A320 ลำแรก ต้นปี 2568 รับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นตัว ตั้งเป้าช่วยสายการบินไทยเพิ่มศักยภาพ รับนักท่องเที่ยวทะลุ 40 ล้านคน…
เสียวหมี่ (Xiaomi) เดินหน้ารุกตลาด AIoT ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งท้ายปีด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ 3 รุ่นรวด นำทัพโดยหุ่นยนต์ทำความสะอาดอัจฉริยะ Xiaomi Robot Vacuum X20 Max, กล้องวงจรปิดความละเอียดสูง…