สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เผยเทรนด์ 4 นวัตกรรมแห่งโลกยุคใหม่ที่ผู้คนทั้งโลกจะต้องเผชิญ ได้แก่ กลุ่มนวัตกรรมไฟฟ้า พลังงาน และ IoT กลุ่มนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และกลุ่มนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นนวัตกรรมแห่งโลกอนาคตที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดียิ่งขึ้น
โดย สจล. นำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ล้ำสมัยที่ตอบโจทย์เทรนด์ 4 นวัตกรรมแห่งอนาคต อาทิ รถไฟไทยทำ รถไฟฟ้า Unicon เสาไฟอัจฉริยะ สามล้อไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ RAIBO – X เครื่องฟังตรวจดิจิทัล ตู้จ่ายยาอัจฉริยะ และอีกมากมาย มาจัดแสดงในงาน K-Engineering World Tour & Workshop 2022 ซึ่งเป็นการแสดงผลงานนวัตกรรม โครงงาน และผลงานวิจัยทางวิศวกรรมของคณาจารย์ และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ประจำปี 2565 มีผู้เข้าชมงานจำนวนราว 20,000 คน เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ สจล. สู่การเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมระดับโลก
รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า สจล. โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดโครงการ K-Engineering World Tour and Workshop 2022 ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยน เผยแพร่ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ของนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ต่อสาธารณชนในวงกว้าง และยังเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ และการวิจัยระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ กับคณะอื่นๆ ภายในสจล. และหน่วยงานภายนอก เช่น ภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และเป็นโครงการที่มีองค์กร หน่วยงาน ประชาชนเฝ้าติดตามชมผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก
–NIA เปิดตัว 2 นวัตกรรม อาร์ต & คัลเจอร์ คืนสีสันศิลปะนิยามใหม่ให้กรุงเทพฯ
โดยในปีนี้ มีผลงานวิจัยที่ผ่านเข้ารอบนำมาจัดแสดงจำนวนกว่า 200 ผลงาน จาก 4 กลุ่มนวัตกรรม ได้แก่ กลุ่มนวัตกรรมไฟฟ้า พลังงาน และ IoT กลุ่มนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และกลุ่มนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรม ซึ่งทุกผลงานวิจัยที่นำมาจัดแสดงล้วนเป็นแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
กลุ่มนวัตกรรมไฟฟ้า พลังงาน และ IoT
รถไฟไทยทำ รถไฟโดยสารต้นแบบ ตามนโยบายกระทรวงคมนาคมในโครงการ “ไทยเฟิร์ส” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ ซึ่งรถไฟไทยทำผ่านการทดสอบมาตรฐานตามระดับสากลแล้ว
เสาไฟเอไอมัลติฟังก์ชัน เสาไฟอัจฉริยะ สามารถเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ (Server) ประมวลผลด้วยระบบเอไอ (AI) ที่มาพร้อมเซนเซอร์ช่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศ พร้อมตรวจจับความหนาแน่นและแยกประเภทยานพาหนะบนท้องถนนได้แบบเรียลไทม์ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูล (Big Data) นำไปใช้เป็นแนวทางการบริหารพื้นที่ทางกายภาพ อาทิ การจัดระเบียบการจราจร จำกัดจำนวนยานพาหนะที่ปล่อยควันพิษ เพื่อลดปริมาณฝุ่นบนท้องถนน เตรียมพร้อมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต
รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า Unicon รถโดยสารที่พัฒนาโดยวิศวกรคนไทยทุกขั้นตอน ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานน้ำมัน ช่วยลดมลพิษทางอากาศ สามล้อไฟฟ้าสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการทางการเคลื่อนไหว ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานของผู้สูงอายุและคนพิการเป็นหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุและคนพิการสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป
หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ RAIBO – X เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ฝีมือคนไทยที่สร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ด้วยแสง UV-C ในรัศมี 1 – 1.5 เมตร ทำงานด้วยระบบเอไอ (AI) มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคขนาดเล็ก อาทิ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ
กลุ่มนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ กลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ
เครื่องฟังตรวจดิจิทัล ช่วยฟังเสียงหัวใจและเสียงปอดแบบดิจิทัลพร้อมระบบวิเคราะห์โรคและความผิดปกติเบื้องต้นด้วยระบบเอไอ (AI) สามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบแพทย์ทางไกลได้
ตู้จ่ายยาอัจฉริยะ ลดขั้นตอนการจ่ายยาจากเดิมที่ต้องต่อคิวรับยาจากเคาน์เตอร์จำหน่ายยา เปลี่ยนเป็นการรับที่ตู้จำหน่ายยาแทน ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดขั้นตอนการอธิบายวิธีใช้ยา โดยผู้รับยาสามารถใช้แอปพลิเคชันแสกนซองยาเพื่อดูวิธีการใช้ยาตามแพทย์สั่งเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สามารถใช้ร่วมกับระบบการแพทย์ทางไกลได้
การพัฒนาระบบผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยโรคด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Chatbot) แอปพลิเคชันที่ช่วยจัดการดูแลสุขภาพระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางกาแพทย์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะเป็นเครือข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ด้านสุขภาพของคนไทย
อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพแบบพกพา อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พัฒนาโดยคนไทย สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดอัตราการหายใจ วัดปริมาณออกซิเจนในเลือด วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และวัดค่าความดันโลหิต แสดงผล ควบคุม และสั่งการได้ผ่านแอปพลิเคชัน
กลุ่มนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรม
ชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อ เพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่ ต้นแบบชุดโรงงานกระบวนการแปรรูปผลไม้ตัวต่อที่เหมาะสมกับพื้นที่ ความต้องการของชุมชน และรองรับข้อกำหนดตามหลักมาตรฐาน GMP
เครื่องตรวจวัดความสุกแก่ของทุเรียนหมอนทอง ใช้เทคนิคเนียร์อินฟราเรดมัลติสเปกตรัลอิเมจเพื่อแยกระดับคุณภาพของเนื้อทุเรียนบนสายพานลำเลียง
เครื่องตัดอ้อยสดพร้อมสางใบแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ พัฒนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งมอบให้เกษตรกร สามารถตัดอ้อยสด 6-8 ไร่ หรือ 60-80 ตัน/วัน สามารถสางใบส่วนยอดอ้อย 80%
ระบบตรวจติดตามการระบาดศัตรูพืช พัฒนาระบบ AI วินิจฉัยโรคร่วมกับข้อมูล Weather Station พร้อมใช้ระบบฐานข้อมูล Cloud Big data และแสดงการระบาดครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศด้วยระบบ Google Map ระบบตรวจสอบคุณภาพข้าวและสายพันธ์ข้าวด้วยปัญญาประดิษฐ์ สร้างระบบตรวจสอบคุณภาพข้าวที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำสูง ลดต้นทุน และประหยัดเวลาในการตรวจสอบคุณภาพข้าว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงภายในงาน K-Engineering World Tour and Workshop 2022 ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดนวัตกรรมทั้งหมดได้ที่ http://online.anyflip.com/ppflf/ukqu/mobile/