หลังจาก AIS ผนึก ZTE Corporation ผู้พัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีระดับโลกจากประเทศจีน ร่วมกันเปิดตัว A-Z Center หรือศูนย์นวัตกรรม 5G แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด โชว์ผลการทดลอง ทดสอบอีก 1 คุณสมบัติหลักของ 5G คือ URLLC (Ultra-Reliable and Low Latency Communications) ครั้งแรกในไทย ที่เครือข่าย AIS 5G บนคลื่น 2.6 GHz ให้สามารถมีความหน่วงเวลาในการส่งข้อมูลอยู่ที่ระดับถึง 1 มิลลิวินาที
วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนเทคนิคทั่วประเทศ AIS กล่าวว่า “นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างดีที่สุดแล้ว การเดินหน้านำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามายกระดับเทคโนโลยี 5G ก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในการทำงานกับพาร์ทเนอร์ระดับโลกอย่าง ZTE เพื่อยกระดับโครงข่าย 5G ของไทยให้ก้าวสู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาตรฐานระดับโลก พร้อมก้าวสู่โครงข่ายอัจฉริยะที่ควบคุมสั่งการได้ด้วยตัวเองแบบ real time (5G Smart Autonomous Network) นำมาสู่โซลูชันหลากหลายรูปแบบเพื่อภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน”
–7 เทรนด์นวัตกรรม ปี 66 สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
“โดยล่าสุดประสบความสำเร็จในการร่วมทดลอง ทดสอบ กับอีกหนึ่งคุณสมบัติหลักของ 5G คือ URLLC (Ultra-Reliable and Low Latency Communications) ครั้งแรกในไทย ที่ทำให้เครือข่าย AIS 5G บนคลื่น 2.6 GHz สามารถมีความหน่วงเวลาในการส่งข้อมูลอยู่ที่ระดับ 1 มิลลิวินาที เหมาะกับการรับ-ส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น เสถียรมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบการใช้งานที่ต้องการความแม่นยำสูง (Critical application) อย่างบริการสำหรับลูกค้าทั่วไป ที่ต้องการความหน่วงต่ำ เช่น Mobile Cloud Gaming ที่ต้องการ Interactive แบบตอบสนองอย่างรวดเร็ว Real Time หรือ สำหรับลูกค้าภาคอุตสาหกรรม เช่น การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน การควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ หรือการผ่าตัดทางไกล เป็นต้น”
(หมายเหตุ : เทคโนโลยี 5G มีคุณสมบัติสำคัญ 3 แกนหลัก คือ Enhanced mobile broadband (eMBB), Massive machine type communications (mMTC), และ Ultra-reliable and low latency communications (URLLC) โดยแต่ละคุณสมบัติล้วนเสริมให้ 5G ตอบโจทย์การใช้งานในลักษณะเฉพาะต่างๆ อย่างเหมาะสม)
โดย วสิษฐ์ กล่าวย้ำว่า “ขณะนี้การทดลองในเครือข่าย AIS 5G พร้อมรองรับ URLLC ที่ 1 มิลลิวินาทีเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหากมีการพัฒนาหรือเริ่มนำTerminal ที่เหมาะสมกับบริการที่ต้องการใช้ความหน่วงต่ำในระดับดังกล่าวเข้ามาให้บริการ ก็จะเท่ากับว่า สามารถใช้บริการได้ทันที”
หาน จือ หมิง ประธาน บริษัท แซดทีอี (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ความร่วมมือในฐานะพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับ AIS ในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทำให้เราเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะมีขีดความสามารถที่แข็งแกร่งอย่างรวดเร็วจาก นวัตกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาโครงข่าย 5G มาวางรากฐานด้านการวิจัยและพัฒนา ที่ช่วยทำให้เกิด Use Case ใหม่ๆ ในอนาคตที่พร้อมรองรับทั้งความต้องการของลูกค้าทั่วไปและการเพิ่มโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรม”