พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ เป็นประธานประชุม พร้อมด้วย พล.ต.ท.ดร.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี ร่วมกับ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (ผู้ให้บริการเอไอเอส) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ผู้ให้บริการ ทรู และ ดีแทค) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อหารือถึงมาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการที่ถือครองซิมการ์ด หลังพ้นกำหนดระยะเวลายืนยันตัวตน พร้อมบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กสทช. ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขยายผลเอาผิดกับผู้ปลอมแปลงเอกสารในการจดทะเบียนซิม ป้องกันมิจฉาชีพนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์
พล.ต.อ.ณัฐธรฯ ได้กล่าวว่า จากแนวคิดในการจัดระเบียบซิมการ์ด โดยเฉพาะหมายเลขในระบบเติมเงิน ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งานจริง หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง มีการปลอมแปลงเอกสารในการจดทะเบียนซิม โดย กสทช. ได้ออกมาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการที่ถือครองซิมการ์ด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ตามมาตรการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นสองกลุ่ม คือ ผู้ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน และ ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลข ขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน ซึ่งขณะนี้ในส่วนกลุ่มที่สอง (ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลข ขึ้นไป) ได้ครบกำหนดแล้ว เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา กสทช. จึงได้ประชุมเร่งรัดให้ผู้ประกอบการทุกค่าย ดำเนินการระงับบริการ ตามเงื่อนไข ทั้งในส่วนของการโทรออก การส่งข้อความ SMS และการใช้งานอินเตอร์เน็ต จะอนุญาตเพียงการโทรเบอร์ฉุกเฉินเท่านั้น จากสถิติของผู้ประกอบการที่รายงานมายัง กสทช. มีสถิติผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลขขึ้นไปมายืนยันตัวตน ดังนี้ เครือข่ายเอไอเอส ร้อยละ 58.56 ทรูดีแทค ร้อยละ 35 และ เอ็นที ร้อยละ 23.14 โดยจากการตรวจสอบพบว่า หมายเลขบางส่วนที่ยังไม่ได้มายืนยันตัวตน จะเป็นซิมที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้รับข้อความ SMS แจ้งเตือน และบางส่วนเชื่อได้ว่าเป็นซิมเถื่อนที่อยู่ในมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรออนไลน์อื่น ซึ่งไม่กล้ามาแสดงตัวเพื่อยืนยันตน และกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายของมาตรการดังกล่าว ในที่ประชุมได้กำชับให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่าย เริ่มระงับการใช้ (การโทรออกและการใช้เน็ต) ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป ก่อนเพิกถอนการใช้ออกจากระบบต่อไป
พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้พบว่ามีบุคคลบางกลุ่ม มีพฤติการณ์ปลอมแปลงเอกสาร หรือปลอมบัตรประชาชนในการจดทะเบียนซิมการ์ดโดยมิชอบ ใช้บัตรประชาชนของผู้อื่น หรือลงทะเบียนด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ในส่วนนี้ กสทช. ได้ประสานการทำงานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่ายอย่างใกล้ชิดและได้ส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวถือเป็นความผิดฐาน ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ปลอมบัตรและใช้หรือแสดงบัตรปลอม และอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย ขบวนการเหล่านี้ถือเป็นต้นตอของปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน ต้องถูกดำเนินคดีและกำจัดให้หมดไป
–ขยายผล ทลายเครือข่ายซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลใน PDPA OPERATION EP.7