ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภ.2, พล.ต.ต.ฉัตรชัย สุรเชษฐพงษ์ รอง ผบช.ภ.2, พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผบก.สส.ภ.2, พ.ต.อ.พัฒนา ปรีชานันท์ รอง ผบก.สส.ภ.2, พ.ต.อ.พัลลภ สุภิญโญ รอง ผบก.สส.ภ.2, พ.ต.อ.วราวุธ เจริญชนม์ รอง ผบก.สส.ภ.2, พ.ต.อ.กฤตยา เลาประสพวัฒนา รอง ผบก.สส.ภ.2, พ.ต.อ.เอนก บุตรอินทร์ รอง ผบก.สง.ก.ต.ช. ปฏิบัติราชการ บก.สส.ภ.2
พร้อมด้วยชุดสืบสวน บก.สส.ภ.2 ทำการสืบสวนเนื่องจากได้รับแจ้งว่ามีเหตุคนร้ายตระเวนลักทรัพย์แบตเตอรี่(ลิเธียม)ที่ติดตั้งกับเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด ในกลุ่ม เอไอเอส จำนวนหลายท้องที่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 จากการประสานของมูลจาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด ว่าในห้วงระยะเวลา ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566 ถึงปัจจุบัน พบว่าเกิดเหตุคนร้ายได้ตระเวนก่อเหตุในลักษณะเดียวกัน กว่า 150 ครั้ง ได้ทรัพย์สินเป็นแบตเตอรี่ ไม่ต่ำกว่า 300 ลูก ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่าสิบล้านบาท คนร้ายได้ตระเวนลักทรัพย์ในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคตะวันออก โดยเลือกพื้นที่ห่างไกลและไม่ค่อยมีกล้องวงจรปิด ออกตระเวนลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง และจากแผนประทุษกรรมการก่อเหตุพบว่าคนร้ายเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับระบบเสาสัญญาณโทรศัพท์เป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่าคนร้ายเป็นกลุ่มคนที่เคยประกอบอาชีพเกี่ยวกับการติดตั้งระบบในเสาสัญญาณโทรศัพท์
ด้าน สมภพ กิตติวิรุฬห์วัฒน รักษาการหัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออก เอไอเอส กล่าวว่า “จากกรณีที่มีมิจฉาชีพขโมยแบตเตอรี่ สถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของเอไอเอส ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับความเสี่ยงของการให้บริการสัญญาณเครือข่ายอย่างยิ่ง เนื่องจากทำให้สถานีฐานขาดระบบสำรองแหล่งพลังงาน อันอาจทำให้ไม่สามารถให้บริการสัญญาณได้ตามปกติ ดังนั้นทีมวิศวกร และฝ่ายกฎหมายของเอไอเอส จึงเดินหน้าทำงานสืบสวนในเชิงลึกร่วมกับตำรวจ โดยกองบังคับการสืบสวน สอบสวนตำรวจภูธร ภาค 2 มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามกลุ่มมิจฉาชีพและสามารถเข้าจับกุมรายใหญ่ได้ในครั้งนี้ ซึ่งในนามของเอไอเอส ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท่านอย่างยิ่ง ที่ให้ความสำคัญกับคดีนี้ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า ในพื้นที่อื่นๆ หากมีการผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในลักษณะนี้ จะทำให้สามารถติดตามจับกุม และนำทรัพย์สินกลับมาเพื่อให้สามารถส่งมอบสัญญาณเครือข่ายได้อย่างมีคุณภาพต่อไป อย่างไรก็ตามหากประชาชนพบเหตุต้องสงสัย สามารถแจ้งมาที่บริษัทฯ หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตลอดเวลาเช่นกัน”
สำหรับ แบตเตอรี่ลิเธียม ที่ได้ทำการติดตั้งกับเสาสัญญาณโทรศัพท์ มีไว้สำหรับเป็นกระแสไฟฟ้าสำรองกรณีหากมีเหตุไฟฟ้าดับ แบตเตอรี่จะทำงานจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับเสาสัญญาณโทรศัพท์ทำให้ประชาชนที่มีพื้นที่การใช้งานบริเวณเสาสัญญาณนั้นๆ ยังสามารถใช้สัญญาณโทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารได้ บริษัทจึงต้องใช้แบตเตอรี่ลิเธียมที่มีกำลังวัตต์สูง เพื่อสำรองกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอที่จะทำให้สัญญาณโทรศัพท์ไม่ขัดข้องในกรณีที่ไฟฟ้าดับ โดยในเสา 1 ต้น จะติดตั้งประมาณ 2-3 ลูก ราคาอยู่ที่ประมาณ ลูกละ 40,000 บาท ซึ่งแบตเตอรี่ลิเธียม ประเภทนี้จะไม่ได้มีการนำมาขายตามท้องตลาด ทางบริษัทนำเข้าแบตเตอรี่ จะจำหน่ายให้กับบริษัทที่จะต้องนำไปใช้งานจริงเท่านั้น
คนร้ายได้กระทำกันเป็นขบวนการเครือข่าย โดยหลังจากที่คนร้ายได้ทำการลักทรัพย์แบตเตอรี่แล้ว จะรีบนำไปส่งขายให้กับกลุ่มรับซื้อของโจร ในราคาลูกละ 5,000-8,000 บาท จากนั้น กลุ่มคนรับซื้อของโจรจะดำเนินการปลด Alert ในตัวแบตเตอรี่ แล้วนำไปลงขายใน Social ตลาดมืด ในราคาลูกละ 12,000 – 14,000 บ. และหากซื้อจำนวนมากๆ ราคาจะถูกลง ซึ่งตลาดมืดที่มีความต้องการแบตเตอรี่ประเภทนี้สูงที่สุด คือ กลุ่มตลาดที่รับติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เนื่องจากเป็นแบตเตอรี่ ที่มีกำลังวัตต์สูง ในการเก็บไฟฟ้า รองลงมาจะเป็น กลุ่มเครื่องเสียงรถยนต์ กลุ่มเครื่องเสียงรถแห่ กลุ่มทำเหมืองขุดบิทคอย เป็นต้น
ชุดสืบสวน บก.สส.ภ.2 ได้ รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและได้ร่วมกันประชุมวางแผนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและวิศวกร ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด เพื่อประสานข้อมูลในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และทำลายเครือข่ายขบวนการลักแบตเตอรี่เสาสัญญาณโทรศัพท์ ในครั้งนี้ ซึ่งชุดสืบสวนสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหา จำนวน 7 คน และขออนุมัติศาลขอหมายค้นเพื่อตรวจยึดของกลาง อีกจำนวน 8 จุด ซึ่งได้ดำเนินการวางแผน Operation ตั้งแต่ วันที่ 21–23 มิ.ย. 67 ซึ่งรายละเอียดผลการปฏิบัติการ มีดังนี้
จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย
1.นายอัศวิน สงวนนามสกุล
2.นายอิบรอฮีม สงวนนามสกุล
3.นายนาวิน สงวนนามสกุล
4.นายรุ่งอนัน สงวนนามสกุล
5.นายศราวุธ สงวนนามสกุล
6.นายปริวัฒน์ สงวนนามสกุล
7.นายวีระวุฒฺ สงวนนามสกุล หลบหนีการจับกุม
รวมจับกุม 6 คน ตรวจยึดของกลางรวม จำนวน 114 ลูก
ซึ่งการตรวจยึดจากผู้ที่รับซื้อรวมถึงคนกลางที่รับซื้อแบตเตอรี่ซึ่งถูกขายบน Social ด้วยจากการขยายผลพบกลุ่มผู้กระทำความผิดที่เป็นตัวลงมือลักทรัพย์และตัวกลางรับซื้ออีกหลายราย ซึ่งจะได้จับกุมให้หมดทั้งขบวนการและได้ประสานงานกับชุดสืบสวน บก.สส.ภ.3,กก.สืบสวน ภ.จว.นครราชสีมา,กก.สืบสวน ภ.จว.ชลบุรี การตรวจยึดในครั้งนี้
การกระทำของผู้ลงมือและตัวกลางรับซื้อ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์/รับของโจร ซึ่งมีอัตราโทษสูงถึง 5 ปี และหากมีพฤติการณ์ลักทรัพย์ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือรับของโจร เฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่าย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน อีกส่วนหนึ่ง ต้องระวางโทษตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะถูกดำเนินการตามมาตรการยึดทรัพย์
ในส่วนตัวกลางรับซื้อ รับจำหน่าย ได้มีการอายัดบัญชีไว้แล้ว กว่า 1,000,000 บาท และจะถูกดำเนินคดีทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไป
–เน็ตแอพเปิด 5 วิธี จัดการกับแรนซัมแวร์ด้วยแนวทางความยืดหยุ่นทางไซเบอร์ที่เน้นข้อมูลเป็นศูนย์กลาง