AIS ผนึกกำลังภาครัฐ ปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามพรมแดน สระแก้ว ตามมาตรการภาครัฐเพิ่มอีก 9 จังหวัด

AIS ผนึกกำลังภาครัฐ ปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามพรมแดน สระแก้ว ตามมาตรการภาครัฐเพิ่มอีก 9 จังหวัด

AIS ผนึกกำลังกับภาครัฐ ยกระดับมาตรการเข้มข้น สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามพรมแดน รื้อถอนเสาสัญญาณเถื่อนแนวชายแดนสระแก้ว จุดเริ่มต้นยุทธการอรัญ 68 พร้อมขยายผลมาตรการใน 9 จังหวัดชายแดนทั่วประเทศ

ท่ามกลางสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลชั้นนำของประเทศ ได้แสดงบทบาทสำคัญในการสนับสนุนภาครัฐอย่างแข็งขัน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดสิ้นไป

ล่าสุด AIS ได้ร่วมมือกับภาครัฐ ดำเนินการรื้อถอนเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการใช้เป็นฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมติดตามการปฏิบัติงานและมอบนโยบายเพื่อสนับสนุนแผนการแก้ไขเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือบริเวณแนวชายแดนที่มีความเสี่ยง ภายใต้ยุทธการอรัญ 68 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อระเบิดสะพานโจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทลายสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์

วรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “AIS ในฐานะผู้ให้บริการระบบสื่อสาร พร้อมสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ และ กสทช. อย่างเข้มงวดเสมอมา ในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขและควบคุมเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือบริเวณชายแดนที่มีความเสี่ยง ที่ผ่านมา AIS ได้ดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบกวดขัน และปฏิบัติตามมาตรการของ กสทช. อย่างเคร่งครัดในพื้นที่เสี่ยง บริเวณชายแดน 7 จังหวัด 11 อำเภอ เสร็จสิ้นเรียบร้อยตั้งแต่กลางปี 2567 รวมถึงยืนยันการเชื่อมต่อจุดสัญญาณกับผู้ให้บริการในประเทศเพื่อนบ้านต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องเช่นกัน เพื่อป้องกันการใช้สัญญาณก่ออาชญากรรมข้ามแดนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์”

จากคำสั่งของ กสทช. เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อยกระดับความเข้มงวดในการแก้ไขเสาส่งสัญญาณบริเวณแนวชายแดนอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว AIS ได้ดำเนินการทันทีในพื้นที่ตลาดเบญจวรรณและบ้านโคกสะแบง โดยได้รื้อถอนตัวกระจายสัญญาณและปิดสัญญาณทั้งหมด พร้อมรื้อถอนสายอากาศ เพื่อตัดโอกาสการใช้สัญญาณโทรศัพท์ในการกระทำผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ AIS ยังได้เตรียมพร้อมดูแลเครือข่ายการใช้งานให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยได้เตรียมรถสถานีฐานเคลื่อนที่และติด Small Cell เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดให้ดำเนินการแก้ไขเสาส่งสัญญาณบริเวณแนวชายแดนเพิ่มเติมใน 9 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก เชียงราย สุรินทร์ บุรีรัมย์ มุกดาหาร หนองคาย จันทบุรี และระนอง โดยมีกำหนดตามแผนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ประกอบด้วย การรื้อถอนเสาสัญญาณที่อยู่ในระยะไม่เกิน 50 เมตรจากชายแดน การลดกำลังส่งและปรับเสาให้สูงไม่เกิน 15 เมตร สำหรับเสาที่อยู่ในระยะ 1 กิโลเมตรจากชายแดน และการตั้งเสาอากาศความสูงไม่เกิน 30 เมตร สำหรับเสาที่อยู่ในระยะไม่เกิน 3.5 กิโลเมตร

AIS ยังได้ร่วมมือกับ กสทช. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง ทำการปิด IP Address ที่คนร้ายใช้ในการกระทำผิดอีกด้วย

“การควบคุมโครงข่ายสื่อสารในพื้นที่เสี่ยงเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการใช้งานในลักษณะที่ผิดกฎหมาย สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ AIS ขอยืนยันถึงความพร้อมในการสนับสนุนทุกภารกิจของภาครัฐ เพื่อยกระดับการป้องกันและปราบปรามกลุ่มขบวนการผิดกฎหมาย พร้อมสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงให้แก่ประเทศและประชาชนทุกคน” วรุณเทพ กล่าวทิ้งท้าย

กสทช. แถลงการณ์ปกป้องสิทธิส่วนบุคคล คุ้มครองพนักงาน ตามความถูกต้องของกฎหมาย

Scroll to Top