AIS และ True ผนึกกำลัง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ใน “ยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” โดยระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำผิดในคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการกระทำผิดเกี่ยวกับซิมผี บัญชีม้า
ปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ “คดีออนไลน์” มีสถิติการรับแจ้งความประมาณ 1,000 เรื่องต่อวัน คนร้ายมีการพัฒนารูปแบบและกลโกงที่แปลกใหม่และหลากหลาย ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก จากสถิติในระบบรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 สิงหาคม 2567 (รวม 2 ปี 6 เดือน) มีผู้เสียหายแจ้งความประมาณ 6 แสนเรื่อง มูลค่าความเสียหายกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยคดีประเภทหลอกลวงซื้อขายสินค้าเป็นคดีที่เกิดขึ้นมากที่สุด
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปอส.ตร.) จัดทำ “โครงการสืบสวนหาข่าวในยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” โดยระดมกำลังตำรวจทั้งนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1 – 9 ตำรวจสอบสวนกลาง และตำรวจไซเบอร์ เปิดปฏิบัติการระดมกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งการกระทำความผิดเกี่ยวกับซิมผี บัญชีม้า ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 – 27 กันยายน 2567 (รวม 18 วัน) ตามนโยบายของรัฐบาล
วันที่ 26 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร. ได้เรียกประชุมหน่วยงานในสังกัด ตร. เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย รวมทั้งบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และร่วมแถลงผลการปฏิบัติร่วมกัน ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังในทุกมิติ ทั้งด้านการป้องกันปราบปราม การสืบสวนสอบสวน การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (ศูนย์ Anti Online Scam Operation Center หรือศูนย์ AOC) ซึ่งบูรณาการการทำงานแบบ One Stop Service และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของคนร้าย รวมทั้งกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง สำหรับการระดมกวาดล้างในยุทธการ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิด ในความผิด 3 ประเภท โดยมีผลการระดมกวาดล้างจับกุมในช่วงวันที่ 10 – 25 กันยายน 2567 (รวม 16 วัน) สรุปได้ดังนี้ ความผิดในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประเภทต่างๆ จับได้รวม 874 ราย ความผิดเกี่ยวกับซิมผี บัญชีม้า จับได้รวม 544 ราย ความผิดการพนันออนไลน์ จับได้รวม 690 ราย
AIS ร่วมสนับสนุนการทำงาน
วรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล เรามีความพร้อมและยินดีเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ อย่างศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า รวมถึงภัยที่เกิดจากมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก
โดยวันนี้ AIS ทำงานอย่างสอดประสานเพื่อปกป้องการใช้งานให้กับลูกค้าและคนไทยภายใต้ภารกิจอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน ทั้งการสนับสนุนการติดตาม จับกุม จากการทำงานด้านวิศวกรรมเครือข่ายของทีมวิศวกรทุกภาคทั่วประเทศ ที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าจับกุมตามแหล่งกบดานของมิจฉาชีพ, การจับสัญญาณ False Base ในย่านชุมชน เป็นต้น รวมไปถึง การเข้าร่วมภารกิจปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน ด้วยการบริหารจัดการกำลังส่งของสัญญาณสื่อสาร เพื่อทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขาดช่องทางที่จะเข้ามาหลอกลวงคนไทย
ส่วนต่อมาคือ การรณรงค์ให้ประชาชนยืนยันตัวตนอย่างถูกต้องเมื่อใช้บริการระบบสื่อสาร ไม่นำบัตรประชาชนไปให้มิจฉาชีพสวมสิทธิ์ โดยได้ทำงานร่วมกับ กสทช. ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างช่องทางในการลงทะเบียนและการตรวจสอบการถือครองเลขหมายผ่าน myAIS app ซึ่งหากพบความผิดปกติ ก็สามารถไป AIS Shop เพื่อตรวจสอบและดำเนินการแก้ไข หรือจะตรวจสอบว่าบัตรประชาชนของเรามีการลงทะเบียนกับมือถือค่ายไหนบ้าง สามารถทำได้ผ่าน app 3 ชั้น ของทาง กสทช. และติดต่อไปยังผู้ให้บริการแต่ละค่ายได้ทันทีเช่นกัน รวมถึงหากต้องการทราบว่าเบอร์นี้ลงทะเบียนไว้กับหมายเลขบัตรประชาชนของท่านหรือไม่ สามารถกด *179*ตามด้วยเลข ID#แล้วโทรออก จากเบอร์นั้น ๆ เพื่อตรวจสอบได้เช่นกันด้วย
และสุดท้ายซึ่งสำคัญไม่ต่างกัน คือ การรณรงค์สร้างทักษะดิจิทัล ให้รู้เท่าทัน และมีภูมิคุ้มกันในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ผ่านโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ที่มีทั้งหลักสูตรให้เรียนรู้ พร้อมเครื่องมือด้านดิจิทัล อย่าง Digital Health Check ตรวจวัดสุขภาพด้านดิจิทัลของเราว่าอยู่ในระดับไหน, ช่องทางให้แจ้งเบอร์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ 1185 หรือ บริการ AIS Secure Net ที่เป็นเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ ด้วยการกรองเว็บไซต์อันตรายทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น โดยพวกเราชาว AIS ขอยืนยันถึงความพร้อมในการสนับสนุนทุกภารกิจของภาครัฐและสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม”
True เร่งมาตรการป้องกัน
ด้าน จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูตระหนักถึงความสำคัญของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่มาจากทั้งแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ หรือเว็บไซต์พนันออนไลน์ นำมาซึ่งการถูกหลอกลวงของผู้คนมากมาย สร้างความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและบางรายอาจถึงชีวิต เราพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยปกป้องคนไทยจากมิจฉาชีพออนไลน์ โดยเฉพาะ “ยุทธการปราบซิมผี ล่าบัญชีม้า” นี้ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ระดมกวาดล้างและปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพทางเทคโนโลยีที่หลอกลวงประชาชนในทุกมิติ ทั้งตัดเส้นทางการเงิน ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวง และเว็บพนันออนไลน์ อันนำไปสู่การกระทำผิดกฏหมายของเหล่ามิจฉาชีพ ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย ระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
นอกจากนี้ ทรู ยังมุ่งดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านทรูมันนี่ ระบบจะตรวจสอบและยืนยันตัวตนก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าในการใช้งาน รวมถึงได้ยกระดับแนวทางและมาตรการต่างๆ ดังนี้
- ปิดเสาสัญญาณทั้งหมดตามแนวชายแดนไทย-ลาว และ กัมพูชา เพื่อป้องกันมิให้มีการนำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการก่ออาชญากรรม ซึ่งเป็นการปฎิบัติตามแนวทางกสทช.
- นำ AI และ Data Analytic ประมวลข้อมูลการลงทะเบียนซิมที่มีความเสี่ยงจะนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อคัดกรองและหยุดกระจายซิมที่มีความเสี่ยงทันที ส่งผลให้จะลดจำนวนซิมที่อาจถูกนำไปใช้ในทางผิดกฎหมายได้ถึง 500,000 ซิมต่อปี
- เข้มงวดให้คู่ค้าต้องลงทะเบียนซิมทันที ทุกการขาย เพื่อป้องกันการแอบอ้างชื่อนำซิมไปใช้งานในทางที่ผิดและเพื่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าทั้งทรูและดีแทค
- วางมาตรการเข้มงวดรัดกุมเพื่อให้คู่ค้าปฎิบัติตาม หากคู่ค้าไม่ปฎิบัติตามข้อกำหนด จะเริ่มจากตักเตือน ลดค่าตอบแทนการขาย และยกเลิกการเป็นคู่ค้าในที่สุด
- สนับสนุนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้เบาะแสเพื่อปิดตู้ซิมที่ช่วยเหลือคนร้ายในการลงทะเบียนซิมอันนำไปสู่การกระทำผิดกฏหมายของเหล่ามิจฉาชีพ
- ติดต่อแจ้งเบาะแสตำรวจทันทีกับที่พบว่า กลุ่มบุคคลที่อาจเป็นมิฉฉาชีพเข้ามาขอซื้อซิมกับร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ดำเนินการต่อได้ทันท่วงที
- หากพบพื้นที่หรือสถานที่ใด มีหมายเลขที่มีการโทรผิดปกติจากหมายเลขเดียว เช่น ในคอนโด ที่อาจเป็น Sim Box จะรีบแจ้งเบาะแสตำรวจ
- หากตรวจสอบหรือได้รับแจ้งหมายเลขต้องสงสัยทั้ง ทรูมูฟ เอช และ ดีแทค ที่มีการใช้งานโทรออกมากผิดปกติ จะส่ง SMS ไปยังหมายเลขดังกล่าวพร้อมระงับการใช้เบอร์ต้องสงสัยทันที เพื่อให้ติดต่อกลับยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้ใช้งานจริงและดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบในการใช้บริการ
- ออกเบอร์โทรพิเศษ “โทร 9777” ให้โทรแจ้งเบอร์สงสัยเป็นมิจฉาชีพ หรือ SMS หลอกลวงเพื่อประสานงานตรวจสอบกับกสทช. และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- หากยืนยันเป็นเบอร์ที่สงสัยเป็นมิจฉาชีพ จะส่งข้อมูลให้แอปพลิเคชันระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก Whoscall ช่วยเพิ่มในระบบแจ้งเตือน
–“ประเสริฐ” เผยไทยก้าวกระโดด ขึ้นสู่อันดับ 7 ของโลกด้าน Cyber Security จากผลจัดอันดับ GCI โดย ITU