AOC 1441 เผย 5 เคสตัวอย่าง หลอกลวงออนไลน์ เสียหายกว่า 2.5 ลบ. หลอกลงทุนยังคงมูลค่าความเสียหายสูงสุด

AOC 1441 เผย 5 เคสตัวอย่าง หลอกลวงออนไลน์ เสียหายกว่า 2.5 ลบ. หลอกลงทุนยังคงมูลค่าความเสียหายสูงสุด

วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 6 – 10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

  • คดีที่ 1 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 9,500 บาท ผู้เสียหายสนใจตุ๊กตาลาบูบู้ (Labubu) จึงทำการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook และได้ทำการตกลงซื้อขายราคาสินค้าพร้อมค่าขนส่ง โดยโอนเงินชำระเต็มราคา เมื่อถึงกำหนดวันรับสินค้ากลับไม่ได้รับสินค้า และไม่สามารถติดต่อเพจร้านค้าได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
  • คดีที่ 2 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 381,049 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากมิจฉาชีพ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง แจ้งว่ามีเงินข้าราชการบำนาญที่จะได้รับให้ทำการเพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line แล้วให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน Digital Pension เพื่อยืนยันข้อมูลตัวตนจากลิงก์ที่ส่งมาให้ และให้ทำตามขั้นตอน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงติดตั้งแอปพลิเคชันและทำตามขั้นตอน ภายหลังได้เช็คยอดเงินในบัญชีของตนเองพบว่าได้ถูกโอนออกไป ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
  • คดีที่ 3 หลอกให้รักแล้วโอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 93,000 บาท ผู้เสียหายได้รู้จักพูดคุยกับมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Instagram จนสนิทใจ มิจฉาชีพอ้างว่า เป็นนายแพทย์ประจำอยู่ที่สหประชาชาติ (UN) ต้องการเดินทางกลับเมืองไทย แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างคนอื่นมาทำงานแทนตน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินไปช่วยเหลือ ภายหลังจากโอนเงินแล้วไม่สามารถติดต่อกับมิจฉาชีพได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก
  • คดีที่ 4 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 345,000 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณารับสมัครงานหารายได้พิเศษผ่านช่องทาง Facebook จึงติดต่อพูดคุย แล้วเพิ่มเพื่อนช่องทาง Line มิจฉาชีพแจ้งว่าเป็นลักษณะงานกดถูกใจเพจสินค้า และจะได้รับค่าคอมมิชชัน โดยให้ผู้เสียหายสมัครและโอนเงินลงทุนเข้าไปในระบบเพื่อเข้าร่วมภารกิจ ในระยะแรกการลงทุนเงินไม่มากได้ผลตอบแทนจริง แต่ภายหลังให้ลงทุนเงิน เพิ่มมากขึ้นและอ้างว่าทำภารกิจไม่สำเร็จจึงไม่ได้รับผลตอบแทน ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก
  • คดีที่ 5 หลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 1,524,475 บาท โดยผู้เสียหายได้รู้จักกับมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line ได้ชักชวนให้ลงทุนอ้างผลตอบแทนกำไรสูง โดยให้ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มและดึงเข้ากลุ่ม Line โดยมีการสอนแนะนำให้โอนเงิน ลงทุนเข้าไปในระบบ ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังมีการให้ลงทุนเงิน เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เสียหายต้องการถอนเงินคืนแต่ไม่สามารถถอนได้ มิจฉาชีพอ้างว่า ทำผิดเงื่อนไขต้องชำระค่าปรับและชำระภาษีผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 2,353,024 บาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

  1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 629,596 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,279 สาย
  2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 144,351 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 962 บัญชี
  3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 44,537 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 30.85 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 31,421 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 21.77 (3) หลอกลวงลงทุน 25,576 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 17.71 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 11,744 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 8.14 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 9,596 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 6.65 (และคดีอื่นๆ 21,477 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.88)
  4. ยอดการอายัดบัญชี (1 พ.ย.66 – 10 พ.ค.67) ข้อมูลจาก ตร. (บช.สอท) รวมทั้งประเทศ (1) ยอดขออายัด 9,090.2 ลบ. (2) ยอดอายัดได้ 4,558.1 ลบ. (3) อายัดได้ ร้อยละ 50.14

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ผู้เสียหายมักได้รับการติดต่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียคือ Facebook, Instagram และ Line ซึ่งทาง ดีอี ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการมาโดยตลอด ทั้งนี้จึงขอความร่วมมือประชาชนตรวจสอบบัญชีทางโซเชียลมีเดียอย่างรอบคอบก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตามนโยบายเร่งด่วนของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยทำให้เกิดเป็นผลงานเด่นชัดเพิ่มเติมอีก 30 วัน และวางมาตการรเร่งด่วนในการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบจากอาชญากรรมออนไลน์ของประชาชน” วงศ์อะเคื้อ กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441

ดีอี เตือนข่าวปลอม นโยบายรัฐบาลช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน เม.ย. – ก.ค. 67 วอนอย่าแชร์!!!

Scroll to Top