Huawei ชี้ความปลอดภัยสำคัญกว่ากำไรธุรกิจ พร้อมเดินหน้าช่วยไทยสร้างคนไซเบอร์คุณภาพ

Huawei ชี้ความปลอดภัยสำคัญกว่ากำไรธุรกิจ พร้อมเดินหน้าช่วยไทยสร้างคนไซเบอร์คุณภาพ

วันนี้คนทั่วโลกเข้าสู่ดิจิทัลกันมากขึ้น แต่ยังมีน้อยคนนักที่เข้าใจเรื่องความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และคอยป้องกันตัวเองอยู่เสมอ ขณะที่ Huawei นั้นเป็นหนึ่งในระบริษัทระดับโลก ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายมากมาย ทั้ง เทเลคคอม คลาวด์ ไปจนถึงอุปกรณ์แก็ตเจ็ตและสมาร์ทโฟนที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งความปลอดภัยไซเบอร์นั้นครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เปิดข้อมูลความปลอดภัย ชี้ให้เห็นความสำคัญ

Huawei ได้เปิดเผยข้อมูลด้านความปลอดภัยในปี 2022 ที่ผ่านมา โดย สุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ได้เป็นตัวแทนให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกเลือกใช้ 7 ช่องทางในการโจมตีทางไซเบอร์ คือ

Ransomware มาเป็นอันดับ 1 เพราะแนวโน้มองค์กรทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันมากขึ้น ซึ่งจากสถิติพบว่า มีการโจมตีจากแรนซัมแวร์ 236 ล้านครั้ง ใน 6 เดือนแรกของปี 2022 คิดเป็น 23% ของการโจมตีในระดับองค์กร และมีองค์กรถึง 50% ได้รับผลกระทบ

การโจมตีแบบ DDoS เพิ่มขึ้น 203% เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2021

แอปพลิเคชันอันตราย (Malicious Apps) หรือพวกแอปฯที่เข้ามาดูดเงินออกจากสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ซึ่งในปี 2022 มากถึง 97% ของบริษัทเผชิญการโจมตีทางไซเบอร์ในรูปแบบภัยคุกคามบนมือถือ

Phishing ปีที่ผ่านมาพบการละเมิดข้อมูลแบบฟิชชิงถึง 16% และ 41% ใช้วิธีฟิชชิงเพื่อเจาะเข้าระบบ สำหรับปัจจุบันการหลอกลวงแบบฟิชชิงถูกพัฒนาไปมากขึ้น ในไทยมีการนำมาใช้สวมรอยเป็นธนาคารส่งข้อความหลอกลวงผ่านระบบ SMS

การโจมตีผ่านอุปกรณ์ IoT เพิ่มขึ้น 77% และมีจำนวนรวมสูงถึง 57 ล้านโปรแกรมที่ถูกโจมตี ในปี 2022

Could Security Vulnerabilities หรือ ช่องโหว่ด้านความปลอดภัยบนคลาวด์เพิ่มขึ้น 150% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

Vulnerability Exploitations มีการแสวงประโยชน์จากช่องโหว่ด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น 33% จากปี 2020-2021 และ 87% ขององค์กรถูกโจมตีผ่านช่องโหว่เหล่านี้

สุรชัย ยังให้ข้อมูลต่อว่าว่า Huawei เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับด้านความปลอดภัยไซเบอร์มาก เพราะทำธุรกิจกับกว่า 170 ประเทศทั่วโลก เพราะฉะนั้นการจัดซื้ออุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์ทั้งหมดจะต้องรู้ว่าได้คุณภาพด้านความปลอดภัยหรือไม่

เมื่อค่ายมือถืออย่าง AIS ทำละครคุณธรรมจาก 12 เรื่องจริงภัยไซเบอร์

ขณะเดียวกัน Huawei ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยมากกว่ากำไรของบริษัท เพราะจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เช่น เทคโนโลยี 5G ที่ Huawei ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยมากกว่าความรวดเร็ว หรือระบบ Automation ต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรม ก็มีระบบ Harmony เข้ามาช่วยตรวจจับการเชื่อมต่ออย่างปลอดภัย ด้านเสาสัญญาณที่ปักอยู่ตามพื้นที่ทั่วโลก ใช้การตรวจสอบถึง 3 ชั้นแบบเรียลไทม์ เพื่อยืนยันด้านความปลอดภัย

ไม่เพียงเท่านั้น Huawei ยังมีทีมงานที่มีความสามารถ รู้เท่าทันการโจมตี มีศูนย์ SOC ที่ทันสมัย สามารถวิเคราะห์การโจมตีได้โดยใช้ AI เข้ามาทำงานร่วม และพนักงานทุกคนต้องผ่านการฝึกอบรมในระดับสากลในทุกปี เข้าใจด้านกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

Huawei ชี้ความปลอดภัยสำคัญกว่ากำไรธุรกิจ พร้อมเดินหน้าช่วยไทยสร้างคนไซเบอร์คุณภาพ
Huawei Cyber Security Transparency Center เป็นศูนย์กลางที่รวมคนด้านไซเบอร์ระดับหัวกะทิของโลก ตั้งอยู่ใน 2 ที่ คือ ที่ตงกว่าน ประเทศจีน และ เบลเยียม ซึ่งที่ตงกว่านเป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนคือ Exhibition Hall + Customer Communication Area, Customer Verification Area, และ Independent Cyber Security Lab

นำความเชี่ยวชาญ ช่วยไทยสร้างคนไซเบอร์คุณภาพ

จากความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ Huawei และการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยมากกว่า 20 ปี เล็งเห็นความสำคัญด้านความปลอดภัยไซเบอร์มาโดยตลอด จึงได้ทำงานร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งในปี 2020 ได้ร่วมมือกับ NCSA (สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ) เพื่อปั้นคนไซเบอร์ และมีเป้าหมายให้ไทยถูกจัดอันดับความพร้อมในการรับมือกับภัยไซเบอร์ได้ดีมากขึ้น

หากย้อนกลับไปในปี 2020 การจัดอันดับ Global Cybersecurity Index (GCI) ประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับ 44 จาก 180 กว่าประเทศทั่วโลกที่มีความพร้อมรับมือกับภัยไซเบอร์ ซึ่งการติดอยู่ใน 50 อันดับแรก ซึ่งถือว่าไม่แย่นัก จนถึงวันนี้ไทยมีครบทั้ง พ.ร.บ. ไซเบอร์ และ PDPA

สำหรับด้านการสร้างคนไซเบอร์ให้มีมายเซ็ทในการป้องกันข้อมูล Huawei ได้เซ็นสัญญากับ NCSA ตั้งเป้าสร้างคนไซเบอร์เพิ่มขึ้นปีละ 4,000 คน แต่ปรากฏว่าในปีแรกนั้นสร้างได้เกือบ 10,000 คน และจากการร่วมมือกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ทำให้ไทยเกิดการแข่งขันด้านคนไซเบอร์อย่าง Thailand Cyber Top Talent ใหญ่ที่สุดในระดับอาเซียน ซึ่งปี 2023 มีผู้เข้าร่วมถึง 800 ทีม และที่ผ่านมามีเด็กไทยไปชนะการแข่งขันในระดับอาเซียนมาแล้ว นอกจากนี้ Huawei ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสนามให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมโดยจัดการแข่งขัน Woman Thailand Cyber Top Talent ในปี 2022 เป็นครั้งแรก และในปีนี้จะจัดเป็นครั้งที่ 2

Huawei มองว่า เอกชนต้องจับมือกับภาครัฐในลักษณะ PPP “Public-Private Partnership” หากร่วมมือกันก็จะประสบความสำเร็จ

Huawei ชี้ความปลอดภัยสำคัญกว่ากำไรธุรกิจ พร้อมเดินหน้าช่วยไทยสร้างคนไซเบอร์คุณภาพ
Huawei Shenzhen campus

ทำงานต้องวัดผลได้

แค่การร่วมมือคงไม่พอ แต่จะต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำออกไปแล้วนั้นได้ผลจริง เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง ซึ่งทาง Huawei ได้มีวิธีตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นการทำแบบสำรวจความพึงพอใจ หรือการให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสอบใบรับรองให้ผ่านตามมาตรฐานสากล เพราะวันนี้การโจมตีทางไซเบอร์มาได้ทุกช่องทาง เพราะฉะนั้นบุคลกรจำเป็นต้องมีความรู้ที่เป็นมาตรฐานโลก ต้องรู้กฎหมายทั้งในไทย PDPA และในระดับสากลอย่าง GDPR ไม่เพีนงเท่านั้น Huawei ยังมุ่งมั่นสร้างบุคลากรไทยให้เป็นผู้นำด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีระบบนิเวศที่แข็งแรง และเกิดคอมมูนิตี้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์

ในท้ายที่สุด Huawei ยังมองว่ารัฐและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกัน ปลูกฝังด็กตั้งแต่เในชั้นประถมให้รู้เท่าทันว่าอะไรจริงอะไรปลอมด้วยวิธีที่ไม่ยากจนเกินไป กฎหมายต้องเข้มแข็ง และบังคับใช้จริงกับกลุ่มอาชญากรไซเบอร์ ด้านฝั่งเอกชนมีหน้าที่ให้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับช่องโหว่และการโจมตี ทั้งกับภาครัฐและองค์กร เพื่อไปกระจายความรู้ต่อได้ ทั้งนี้ในมุมของ Huawei เองก็ยังเดินหน้าสร้างคนที่มีสกิลใหม่ๆ มีแพชชั่นกับการเรียนรู้และอัปเดตความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

Scroll to Top