LINE OPENCHAT แนะ 6 วิธีป้องกันกลโกง “แอดมินปลอม” อย่างไรให้อยู่หมัด

LINE OPENCHAT แนะ 6 วิธีป้องกันกลโกง “แอดมินปลอม” อย่างไรให้อยู่หมัด

เหล่ามิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ที่นับวันนั้นยิ่งแพร่ระบาดไปทั่วทุกแพลตฟอร์ม เรียกได้ว่าคนอยู่ที่ไหน พี่มิจ…ฉาชีพก็ตามไปที่นั่น พร้อมพัฒนารูปแบบกลโกงให้ชาวออนไลน์ตามกันแทบไม่ทัน ซึ่งบางทีก็แฝงตัวอยู่ในกลุ่มได้อย่างแนบเนียน ชนิดที่ถ้าหากไม่สังเกตดี ๆ หรือเอะใจสักนิด ก็อาจจะตกเป็นเหยื่อไปแบบไม่รู้ตัว

Kaspersky พบเหตุโจมตีทางไซเบอร์จากเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 89.48%

เช่นเดียวกันกับ LINE OPENCHAT คอมมูนิตี้ออนไลน์ที่รวมเหล่าผู้ที่ชื่นชอบและมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ที่เหล่ามิจฉาชีพกำลังแฝงตัวมาในรูปแบบ “แอดมินปลอม” เป็นรูปแบบกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่มาในหลากหลายสถานการณ์และกำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยทำให้สมาชิกในกลุ่มเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “แอดมินตัวจริง” และหลงเชื่อทำตาม

เปิดสถานการณ์ “แอดมินปลอม” ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ ด้วยสารพัดเหตุผล ที่มักจะตามด้วยลิงก์ให้กดติดตาม ได้แก่

  1. ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ อ้างโทรศัพท์มีปัญหา
  2. ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ อ้างกลุ่มเต็ม
  3. ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ อ้างเจ้าตัวเข้าบัญชี LINE เดิมไม่ได้
  4. ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ อ้างกลุ่มเดิมโดนสแปมก่อกวน
  5. ชวนย้ายกลุ่มโอเพนแชทใหม่ พร้อมของรางวัลหลอกล่อ

6 วิธีสังเกตและป้องกัน “แอดมินปลอม” บนโอเพนแชท ที่ช่วยรับมืออย่างอยู่หมัด

  1. สังเกตรูปโปรไฟล์ “แอดมินตัวจริง” จะมีไอคอนมงกุฎที่จะคร่อมทับระหว่างรูปโปรไฟล์และกรอบไอคอนโปรไฟล์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปลอมแปลงไม่ได้ โดยเหล่าแอดมินปลอม มักจะครอปรูปไอคอนมงกุฎไปวางอยู่ในรูปโปรไฟล์ซึ่งดูไม่ค่อยชัดเจน โดยจะใช้ชื่อคล้าย ๆ แอดมินตัวจริง
  2. ตรวจสอบจากรายชื่อสมาชิก ชื่อในลำดับแรกจะเป็นชื่อเจ้าของบัญชีเอง ลำดับที่ 2 จะเป็นแอดมินตัวจริงของห้อง ซึ่งหนึ่งห้องจะมีแอดมินหลักเพียงคนเดียวเท่านั้น และลำดับถัดไปจะเป็น Co-Admin (ในหนึ่งห้องสามารถมี Co-Admin ได้มากกว่า 1 คน) กรณีที่มีรูปมงกุฎ แต่รายชื่อรวมอยู่กับสมาชิกกลุ่มคนอื่นแสดงว่า เป็นแอดมินปลอม
  3. ไม่กดลิงก์น่าสงสัย มักจะเป็นลิงก์กลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับห้องที่เข้าร่วมอยู่ อาจจะเป็นกลุ่มแปลกปลอม หรือเว็บไซต์ภายนอก ซึ่งต่อให้ไม่อยู่ในรูปแบบของแอดมินปลอม แต่เป็นสมาชิกกลุ่มที่มาเผยแพร่ข้อความที่เข้าข่ายหลอกลวง เช่น ชวนทำงานเสริม รับสมัครงาน สร้างรายได้ ก็เป็นอีกแนวที่ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกัน
  4. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับใครในโอเพนแชท เช่น หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร ฯลฯ
  5. สำหรับแอดมินกลุ่ม ควรติดตั้งสแปมบอท เพิ่มคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง เช่น เข้ากลุ่มใหม่ ย้ายกลุ่มโอเพนแชท หรือ คำที่ไม่เหมาะสม เพื่อช่วยลบคำหรือเนื้อหาสุ่มเสี่ยง ก็เป็นอีกวิธีป้องกันที่ใช้ได้ผล นอกจากนี้ แอดมินปลอมอาจจะมาในรูปแบบของบอท Auto Reply ชี้ชวน โดยทำทีเป็นเปลี่ยนชื่อและรูปโปรไฟล์ให้เหมือนบอท ซึ่งบอท Auto Reply ของจริง จะไม่ปรากฏอยู่ในรายชื่อสมาชิก
  6. กดรายงานปัญหา ทั้งสมาชิกกลุ่มและแอดมิน สามารถกดรายงานปัญหาตรงข้อความหรือรูปโปรไฟล์ของผู้ที่แอบอ้างได้ด้วยตัวเอง โดยกดค้างที่ข้อความหรือโปรไฟล์นั้นๆ และเลือก “รายงานปัญหา” รวมถึงการรายงานปัญหาพร้อมหลักฐาน โดยส่งมาที่ http://contact-cc.line.me

เปิดกลโกงพร้อมเผยวิธีรับมือเหล่ามิจฉาชีพในแบบฉบับรวบรัดชัดเจนขนาดนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้ชาวออนไลน์เอะใจและรู้เท่าทัน ช่วยปกป้องคอมมูนิตี้โอเพนแชทกลุ่มอันเป็นที่รักได้อีกแรง

Scroll to Top