True โชว์ทดสอบ “LIVE – Cell Broadcast Service” แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา

True โชว์ทดสอบ "LIVE - Cell Broadcast Service" แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา

ทรู คอร์ปอเรชั่น (True) จัดการทดสอบ “LIVE – Cell Broadcast Service” ผ่านเสาสัญญาณจริง ให้ผู้ใช้งานมือถือทั้งทรู และดีแทคในพื้นที่ได้รับประสบการณ์แจ้งเตือนภัยจริงครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมเยี่ยมชมและให้เกียรติในการร่วมทดสอบโดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ที่อาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดาภิเษก เพื่อแสดงศักยภาพความพร้อมของระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน นำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการเตือนภัยสำหรับประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมชูหมัดเด็ดศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ BNIC พร้อมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทรู คอร์ปอเรชั่นใช้เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการกรณีเกิดภัยพิบัติ 24 ชั่วโมง

รมว.ประเสริฐ กล่าวในการปาฐกถาพิเศษการพัฒนา “Cell Broadcast” ว่า ระบบ Cell Broadcast เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ ด้านสาธารณะภัยของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ ช่วยสร้างความมั่นคงปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย กระทรวง ดีอี เห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมุ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ จากในอดีตที่การแจ้งเตือนภัยส่วนใหญ่จะใช้วิธีส่งข้อความ SMS ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและกังวลว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ

ดังนั้นกระทรวง ดีอี จึงได้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานกลาง (Infrastructure) ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ใช้เตือนภัยเฉพาะพื้นที่ โดยผ่านระบบ Cell Broadcast เพื่อแจ้งให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ ได้รับทราบ โดยข้อความจะปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอมือถือทันที ซึ่งสามารถตั้งระดับความรุนแรงของภัยได้ตามความเร่งด่วน และความจำเป็น ถึง 5 ระดับ อาทิ การเตือนระดับ PM 2.5 ที่เป็นอันตรายเฉพาะพื้นที่ ไปจนถึงเหตุการณ์ใหญ่ระดับภูมิภาคอย่างพายุ น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม หรือ การวางระเบิด ซึ่งสามารถปรับเสียง และการแจ้งเตือนได้ตามความเหมาะสม

กสทช. ชี้เป็นนโยบายเร่งด่วน

ด้าน ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ได้มอบนโยบายเร่งด่วนปีนี้ให้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ในฐานะองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้เกิดระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ที่เชื่อมกับระบบสั่งการของรัฐบาล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้มีการใช้งานแพร่หลายในต่างประเทศ มีความเป็นมาตรฐานสากล และดำเนินการได้รวดเร็ว ผ่านการรับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินบัญชี 3 (USO โทรคมนาคม) กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะต้องมีการนำเรื่องเข้าสู่การประชุม กสทช. เพื่อขอความเห็นชอบ

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้มีการประชุมเรื่องนี้ร่วมกับ ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดจะมีการประชุมเชิงนโยบายร่วมกัน รวมถึงประเด็นด้านเทคนิค ก่อนแจ้งสำนักงาน กสทช. เพื่อพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยคาดว่าทุกหน่วยงานจะมีความพร้อมเพื่อให้บริการระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในช่วงกลางปี 2568

“ที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดระดับประเทศ เช่น การกราดยิงในห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมือเตือนภัยให้แก่ประชาชนซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นบริการทางสังคม หรือ Public Service ที่ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉิน ลดการบาดเจ็บ และลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพราะไม่เพียงแต่ปกป้องชีวิต ยังรวมถึงการปกป้องโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลที่เกิดจากความเสียหายที่จะตามมา ซึ่งเราในฐานะหน่วยงานของรัฐก็ต้องร่วมขับเคลื่อน และสนับสนุนสิ่งที่เป็นประโยชน์ทางสังคมเหล่านี้ร่วมกัน” ประธาน กสทช. กล่าว

True โชว์ทดสอบ "LIVE - Cell Broadcast Service" แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา

การทดสอบระบบ Cell Broadcast ครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีกระบวนการหลังบ้านที่พร้อมดำเนินการ โดยรูปแบบการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินจะเป็นรูปแบบการแสดงข้อความ หรือ Pop Up บนหน้าจอโทรศัพท์ พร้อมสัญญาณเสียง เป็นการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายพร้อมกันแบบรอบเดียว ครอบคลุมพื้นที่ที่เกิดเหตุ โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชัน สามารถตั้งระดับการเตือนได้ 5 ระดับตามรูปแบบการใช้งานและความร่วมมือภาครัฐ ประกอบด้วย

  1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่ที่มีเสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที
  2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น
  3. การแจ้งเตือนเด็กหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือการลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์และรายงานถ้าพบคนร้าย
  4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น
  5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่าง ๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป

LIVE – Cell Broadcast Service สอดคล้องนโยบายรัฐ

ขณะที่ มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้พัฒนาระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS ไปอีกขั้นด้วยการนำมาทดสอบการใช้จริง ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งานที่สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมกันทันที และแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ระบบ CBS จะมีทั้งสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดง (Pop up) บนหน้าจอ และรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือนแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย”

ด้วยความตระหนักถึงภัยคุกคามเหล่านี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 50 ล้านเลขหมาย จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา ในการพัฒนาระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน โดยทรู คอร์ปอเรชั่นทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ในห้องทดสอบปฏิบัติการ (Lab test) เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 โดยมีจุดเด่นสำคัญหลายประการ ได้แก่

  • รองรับทุกภาษา: ระบบสามารถออกแบบการแจ้งเตือนได้ทุกภาษาและออกแบบส่งพร้อมกันได้ทันที โดยทดสอบแล้ว 5 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย
  • รวดเร็ว: สามารถส่งข้อความเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วทันทีที่เกิดเหตุ
  • แม่นยำ: สามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งข้อความได้อย่างแม่นยำ
  • ครอบคลุม: สามารถส่งข้อความถึงผู้ใช้บริการทุกคนในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า
  • น่าเชื่อถือ: เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก

มนัสส์ กล่าวต่อไปว่า “การพัฒนาระบบ Cell Broadcast Service นี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 11 ว่าด้วยการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืน”

ทั้งนี้ การทดสอบอีกระดับของ “LIVE – Cell Broadcast Service” ที่แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือกับผู้ใช้งานจริงครั้งแรกในไทยโดยทรู คอร์ปอเรชั่น นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการเตือนภัยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ และเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อประเทศไทยในระยะยาว

หลี่ เผิง รองประธานอาวุโสหัวเว่ย: หนุนศักยภาพ 5G-A เพื่อเปิดศักราชใหม่ของการจัดการประสบการณ์

Scroll to Top