ผลจากการวิเคราะห์ล่าสุดของดีลอยท์ ประมาณการผลกระทบของเมตาเวิร์ส (Metaverse) ที่มีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ทั่วเอเชียไว้ที่ 0.8 ถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปีภายใน พ.ศ. 2578 คิดเป็นประมาณร้อยละ 1.3 ถึง 2.4 ของ GDP ซึ่งอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะยาว หากมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ยั่งยืนในช่วงห้าถึงสิบปีข้างหน้า ทั้งนี้ ความคืบหน้าและความรวดเร็วในการเข้าใช้งานจะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่เศรษฐกิจพื้นฐานของแต่ละประเทศอาจนำมาใช้เพื่อเร่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเมตาเวิร์ส
การวิเคราะห์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน “เมตาเวิร์สในเอเชีย – กลยุทธ์เพื่อการเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ” ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดจากเมตาเวิร์สใน 12 ประเทศทั่วเอเชีย (ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีนแผ่นดินใหญ่ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม) และเน้นย้ำถึงกลยุทธ์ที่ประเทศต่าง ๆ เลือกใช้เพื่อใช้ประโยชน์จากเมตาเวิร์ส โดยรายงานฉบับนี้จะอธิบายถึงรูปแบบการก้าวเข้าสู่โลกของเมตาเวิร์สที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งส่งผลให้ภูมิภาคนี้เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
ผู้คนหลายล้านคนในเอเชียเริ่มมีการใช้งานแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สในระยะแรกแล้ว
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเมตาเวิร์สในภูมิภาคเอเชียอยู่ในระดับที่สูง และมีผู้คนกว่าหลายล้านคนใช้งานแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สในระยะแรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม พบปะสังสรรค์ สร้างดิจิทัล ทวิน (Digital Twins) ชมคอนเสิร์ต รวมถึงการซื้อสินค้า ตัวอย่างเช่น แอพลิเคชั่น Zepeto ในประเทศเกาหลีใต้มีผู้ลงทะเบียนใช้งานมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เมตาเวิร์สเต็มรูปแบบที่พร้อมแสดงผลแบบเรียลไทม์ให้กับผู้ใช้งานกว่าหลายล้านคนทั่วโลกเข้าใช้งานพร้อมๆกัน ยังต้องอาศัยการพัฒนาอีกยาวนาน
เมตาเวิร์สจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย
แม้ว่าการประมาณการช่วงแรกจะชี้ให้เห็นว่า เมตาเวิร์สจะมีศักยภาพสูงในการเติบโตและสร้างรายได้ทั่วโลก แต่ประเด็นเรื่องเวลาและขนาดผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายที่จะคาดการณ์ได้ อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับปัจจัยและตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลาย
อย่างไรก็ตาม เมตาเวิร์สถูกมองว่าจะทำให้เกิดตลาดใหม่ โอกาสทางธุรกิจและโอกาสในการจ้างงานใหม่ ๆ ตลอดจนปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การใช้งาน และการทำงานร่วมกันให้ดียิ่งขึ้น หากมีการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อผู้คนกว่า 4 พันล้านคนที่ในภูมิภาคนี้
เอเชียถือเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามองในการพัฒนาเมตาเวิร์ส
ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ หน่วยงานกำกับดูแลไปจนถึงผู้ประกอบการ วัฒนธรรมไปจนถึงความสามารถด้านดิจิทัล เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียส่งเสริมเมตาเวิร์สในทุกๆ ด้าน โดยภูมิภาคนี้มีจุดเด่นสำคัญหลายประการ ได้แก่
- เอเชียครองซัพพลายเชนของฮาร์ดแวร์ ในส่วนของวัตถุดิบและการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดัคเตอร์
- มีผู้เล่นเกมบนโทรศัพท์มือถือในภูมิภาคนี้มากกว่าพันล้านคน ซึ่งนับเป็นแหล่งผู้เล่นเกมบนมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศเศรษฐกิจหลักแห่งแรกที่จัดทำแผนพิมพ์เขียว (Blueprint) ที่ครอบคลุมเพื่อ ส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมเมตาเวิร์ส
- ในด้านระเบียบกฎเกณฑ์ สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ได้สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ในเชิงบวกและกำหนดกฎระเบียบในการป้องกันอย่างชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งธุรกิจและผู้บริโภคจะสามารถใช้งานเมตาเวิร์สได้อย่างปลอดภัย
- อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนามเดินหน้าสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม รวมถึงสร้างนวัตกรรมใหม่ ผ่านเทคโนโลยี web3 และบล็อกเชน
- ภูมิภาคนี้มีมรดกทางวัฒนธรรมหลากหลายให้เลือกใช้ในการพัฒนาคอนเทนต์และประสบการณ์ให้มีความน่าสนใจ เช่น ญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมวิดีโอเกม ในการสร้างอุตสาหกรรมเมตาเวิร์สใหม่
- อินเดีย ฟิลิปปินส์ และปากีสถานเป็นประเทศที่มีบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีระดับโลกอยู่จำนวนมาก
“เมตาเวิร์สเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การพัฒนากลุ่มเทคโนโลยี ทรัพยากรบุคคล และหลักเกณฑ์การกำกับ ดูแลให้ศักยภาพของเมตาเวิร์สมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ของเอเชียเป็นไปได้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อ อุตสาหกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกมากมาย” ดุลีชา กุลสุริยา กรรมการผู้จัดการ Center for the Edge Deloitte Southeast Asia กล่าว
“อนาคตที่สดใสของเมตาเวิร์ส ไม่เพียงแต่ต้องการการสนับสนุนจากทางรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่มีบทบาท ในระบบนิเวศทั้งหมดด้วย ในขณะที่เมตาเวิร์สยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสมสำหรับธุรกิจและ ผู้เล่นในการทดลอง หาข้อได้เปรียบในเมตาเวิร์ส รวมถึงมองหาโอกาสที่ส่งเสริมข้อได้เปรียบนั้น” มร. ดุลีชา กล่าวเสริม
เมตาเวิร์สในประเทศไทย
จากการวิเคราะห์ของดีลอยท์ ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของเมตาเวิร์สที่อาจเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2578 ในประเทศไทยจะอยู่ที่ 11 ถึง 21 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือร้อยละ 1.3 ถึงร้อยละ 2.4 ของ GDP โดยรวม
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่น่าจับตามองเนื่องด้วยโครงการเมตาเวิร์สที่เกิดขึ้นมาใหม่มากมายในภาคธุรกิจ การที่ภาคธุรกิจเต็มใจรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้บริโภคชาวไทยเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอยู่เสมอ โดยได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ซื้อสินค้าบนช่องทางออนไลน์รายสัปดาห์ ผู้ครอบครองสกุลเงินคริปโต และผู้ใช้แอปพลิเคชันธนาคารบนโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีพื้นฐานทางเทคโนโลยี ที่มีความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิม และฟิกซ์บรอดแบนด์ที่เร็วที่สุดในโลกอีกด้วย
ปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยเสริมศักยภาพสำหรับประเทศไทย ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้ประกอบการที่ แข็งแกร่ง การส่งเสริมแผนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว และการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึงช่องทางต่าง ๆ ด้วยการปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่ต่างจังหวัด
ภาคส่วนสำคัญที่น่าจับตามอง ได้แก่
การท่องเที่ยว: ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนรายได้ใน GDPคิดเป็น ประมาณร้อยละ 18 ต่อปี การใช้ประโยชน์จากประสบการณ์โลกเสมือนจริงในเมตาเวิร์สเพิ่มเสน่ห์ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (The Tourism Authority of Thailand) ได้เริ่มทดลองใช้งาน ด้วยการเปิดตัวโครงการ “Amazing Thailand Metaverse: Amazing Durian” ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับประสบการณ์การท่องเที่ยวเสมือนจริง
บริการเชิงสร้างสรรค์: ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายใหญ่ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการพัฒนาอินฟลูเอนเซอร์จากระบบ AI ที่มีความสมจริง ชื่อว่า “AI-Ailynn” เพื่อแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยีของประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังได้นำ tokenisation มาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อดึงดูดแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ สำหรับโครงการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น ภาพยนตร์
“เมตาเวิร์สนำเสนอแพลตฟอร์มใหม่ในการสร้างมูลค่าจากความร่วมมือของบุคลากรที่มีความสามารถทั้งด้านความสร้างสรรค์ การดำเนินธุรกิจ และด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย ธุรกิจต่างๆ ในไทยควรจะใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีในเมตาเวิร์ส ในการสร้างประสบการณ์ของลูกค้าที่ไม่เหมือนใคร และจะเป็นประโยชน์ให้กับองค์กร เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม” ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร Clients & Markets ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าว