หลายปีที่ผ่านมาความเท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องที่ทั่วโลกพูดถึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะ “ความเท่าเทียมทางกลุ่มชาติพันธุ์” ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ความหลากหลายทางด้านขาติพันธุ์ และประสบปัญหาด้านสิทธิการเข้ารับการรักษาพยาบาล การได้รับโอกาสทางการศึกษา การประกอบอาชีพ การสร้างรายได้ ฯลฯ โดยเฉพาะกับประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ชายแดน
–อโกด้า เปิดลิสต์ 8 จุดหมายปลายทางยอดนิยมทั่วเอเชียช่วงเทศกาลตรุษจีนปีเสือ 2565
–ปรับแผนกทรัพยากรบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ
ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายหน่วยงานพยายามหยิบยื่นความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น แต่แนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนก็คือการสร้างโอกาสการเข้าถึง “นวัตกรรม” ทั้งระดับกลุ่มบุคคล ท้องถิ่น และภูมิภาค ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เห็นความสำคัญและส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจังผ่านการสนับสนุน “นวัตกรรมเพื่อสังคม” ที่ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเพื่อสร้างทั้งความเท่าเทียม การยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงการสร้างโอกาส โดยวันนี้จะพาไปอินไซด์กับนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในประเด็นดังกล่าว ดังนี้
จากขยะอินทรีย์ สู่นวัตกรรมสร้างรายได้ให้เด็กชาวอาข่า
ศูนย์การเรียนรู้เยาวชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สร้างมูลค่าให้กับสิ่งที่หลายคนมองว่าไร้ค่า เช่น เศษอาหาร เศษปุ๋ยหมัก มูลสัตว์ ฯลฯ ที่นำมาสร้างมูลค่าผ่านโครงการ ขยะอินทรีย์สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในกระบวนการเลี้ยงหนอนแมลงวันและทำน้ำหมักชีวภาพ โดยนำเศษอาหารและขยะอินทรีย์มาหมักแล้วแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเลี้ยงหนอนแมลงวัน จากนั้นนำหนอนแมลงวันไปเป็นอาหารให้กับหมูและไก่ในชุมชน ส่วนที่สองนำไปเป็นหัวเชื้อน้ำตาล ทำน้ำหมักชีวภาพสำหรับใช้เลี้ยงสาหร่าย และนำไปเป็นอาหารให้กับปลานิล ผลผลิตที่ได้ไม่ว่าจะเป็นหนอนแมลงวัน สาหร่ายที่มีโปรตีนสูง และปลานิล จะนำไปจำหน่ายยังตลาดหรือหมู่บ้านใกล้เคียง
ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังช่วยลดการเกิดโรคจากแมลงวันเป็นพาหนะ และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยให้เด็กชนเผ่าอาข่าซึ่งขาดโอกาสทางการศึกษาและไม่มีสัญชาติมากกว่า 50 ชีวิต ได้รับประทานอาหารจากผลผลิตที่เกิดขึ้น ทำให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงไปพร้อมกับโอกาสการเรียนรู้การสร้างระบบกลไกทางความคิดแบบ growth Mindset สามารถนำความรู้ไปต่อยอดใช้ในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ในอนาคต
“ติด”แบรนด์ “เติม” นวัตกรรม “ต่อ” คุณค่าอัตลักษณ์ผ้าเผ่าม้ง
วิสาหกิจบ้านป่านาแบก จังหวัดเชียงใหม่ กับศิลปะการวาดลวดลายบนผืนผ้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์โบราณประจำถิ่นของกลุ่มม้งลายเท่านั้น ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทำผ้าและวาดลวดลาย ตั้งแต่การปลูกและลอกใยเม็ดกัญชงมาตำให้นิ่มในครก นำมามัดต่อกันเป็นเส้นยาว แช่น้ำขี้เถ้าฟอกให้ขาวแล้วนำไปทอเป็นผืนผ้า จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการวาดลวดลายด้วยมือ
โดยชาวม้งจะนำไม้ไผ้ที่ติดปลายด้วยโลหะไปจุ่มกับขี้ผึ้งเหลวแล้ววาดตามจินตนาการ และเมื่อขี้ผึ้งเหลวเย็นตัวลงจะเกาะติดกับเนื้อผ้า จากนั้นจึงนำไปย้อมสีครามที่ได้จากต้นครามหรือต้นห้อมตามธรรมชาติ ขี้ผึ้งที่เขียนไว้จะกันไม่ให้ครามเกาะใยผ้า เมื่อนำผ้าที่ย้อมเสร็จแล้วไปต้มให้ขี้ผึ้งละลายออกจะได้ลวดลายบนผ้าที่สวยงาม ซึ่งหากเป็นวิถีดังเดิมนี้การผลิตกระโปรงสำหรับหญิงชาวม้ง 1 ตัวอาจจะต้องใช้เวลาถึง 1 ปี
แต่เมื่อนำนวัตกรรมเข้ามาร่วมต่อยอดเป็น นวัตกรรมผ้าเขียนเทียนสีธรรมชาติวิถีชาวม้ง ด้วยการจัดทำเพจออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางเปิดตลาด พร้อมหาเทรนด์สีที่เหมาะสมกับเสื้อผ้า คิดค้นส่วนผสมของสีที่เมื่อย้อมแล้วทำให้สีไม่ตก การออกแบบเสื้อผ้าที่เข้ากับกลุ่มคนในแต่ละวัย จากเดิมมีเพียงแค่กระโปรงก็เพิ่มเสื้อ กางเกง ผ้าคลุม และกระเป๋า อีกทั้งมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การเขียนลวดลาย ด้วยการพัฒนาบล็อกเหล็กปั๊มลายเทียน โดยการนําลายเขียนเทียนแบบดั้งเดิมไปสร้างบล็อคเหล็กตามแบบลายที่ต้องการ และพัฒนากรรมวิธีต่างๆ ให้มีความรวดเร็วและเพิ่มลวดลายมากขึ้น จากเดิมที่ผลิตได้วันละ 1 ผืน เป็นวันละมากว่า 20-30 ผืน และนำไปสร้างแบรนด์เสื้อผ้า “ Tribal Heart Studio” ที่มีความทันสมัย มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นย้อมด้วยสีธรรมชาติให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มขีดความสามารถทางการตลาด ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
สูงวัยไม่เหงา เมื่อมีเด็กชาวเขาคอยช่วยดูแล
การดูแลผู้สูงอายุจะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป เมื่อมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดอบรมอาสาสมัครเด็กชาวเขาดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพื่อเข้าไปดูแลและเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ รวมถึงแนะแนวทางการปฎิบัติกิจวัตรประจำวันที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิพบปัญหาการขาดรายได้หมุนเวียนต้องรอเงินทุนสนับสนุนจากภายนอก ทำให้ขาดความต่อเนื่อง จึงได้ริเริ่มพัฒนา บั๊ดดี้โฮมแคร์: ระบบบริหารจัดการเพื่อติดตามและดูแลผู้สูงอายุในชุมชนจังหวัดเชียใหม่ ซึ่งเป็นระบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่มีการประเมินและวางแผนการดูแลผู้สูงอายุจากผู้เชี่ยวชาญให้อาสาสมัครทราบและทำตามได้อย่างถูกต้อง
สามารถดูรายละเอียดการบันทึกข้อมูลของผู้สูงอายุ โดยครอบครัวสามารถดูข้อมูลและทำงานร่วมกับอาสาสมัครได้ เป็นการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ที่สามารถบริหารจัดการรายรับรายจ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่ายมาดูแลผู้สูงอายุยากไร้ ที่สำคัญสามารถสร้างรายได้ให้กับเด็กชาวเขาที่เป็นอาสาสมัครในโครงการมากว่า 70 คนต่อเดือน
นวัตกรรมดนตรี สอนความสุนทรี ไม่เลือกพรมแดน
ความรู้ด้านซอฟต์สกิลอย่างทักษะ “ดนตรี” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเด็กยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจจะสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคตเลยทีเดียว แต่โอกาสเหล่านี้มักจะอยู่แต่กลุ่มเด็กในเมืองเท่านั้น ดังนั้น แพลตฟอร์มการสอนวิชานอกระบบผ่านหลักสูตรออนไลน์ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะสร้างโอกาสให้กับเด็กที่อยู่ในพื่นที่ห่างไกลหรือขาดโอกาสทางการศึกษาได้เข้าถึงวิชาวิชาดนตรี วิชาที่มีโอกาสน้อยที่จะได้เรียนหรือเข้าถึงค่อนข้างยาก เนื่องจากจะต้องมีเครื่องดนตรีใช้ในชั่วโมงเรียน
แต่ด้วยการพัฒนาระบบบน WebRTC (Web Real-time Communication) ทำให้การจัดทำห้องเรียนออนไลน์มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเดิม 10 เท่า เพิ่มประสิทธิภาพการสอนระบบทดสอบความเข้าใจ (Live Quiz) ระบบคำนวนคะแนนอัตโนมัติ (Live Score) และระบบ Crowd Voting Question ที่เปิดให้ผู้เรียนโหวตคำถามจากผู้เรียนท่านอื่น โดยคำถามที่ได้รับการโหวตมากที่สุดจะถูกแสดงต่อหน้าผู้สอนแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้สอนสามารถตอบคำถามที่เป็นประโยชน์แก่คนหมู่มากได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับโครงการนี้จะมุ่งเน้นที่โรงเรียนในพื้นที่สูง และโรงเรียนชนบท
ซึ่งปัจจุบันนำร่องสอนวิชาดนตรีให้กับนักเรียนกลุ่ม ชาติพันธุ์ชนเผ่าม้ง และโรงเรียนบ้านน้ำจวง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งพบว่าเด็กที่ได้ร่วมเรียนรู้กับแพลตฟอร์มมีความสนุกสนานและพร้อมที่จะเข้าถึงเป็นอย่างดี
ความเท่าเทียมและความเสมอภาคเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกควรขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าในยุคที่นวัตกรรมไร้พรมแดนและเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ “ความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์” จะเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ค่อย ๆ ถูกคลี่คลายและขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน