สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขับเคลื่อนแนวพระราชดำริด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชน การจัดการปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า พร้อมทั้งส่งเสริม ผลักดัน และเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับทักษะเทคโนโลยีและความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธาน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานร่วมกันของ 3 หน่วยงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2 ด้าน คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชน และโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (การจัดการปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า) ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงาน จะต้องร่วมขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสร้างกลไกการดำเนินงานให้เอื้อต่อการทำงาน และต้องเชื่อมโยงสอดรับแนวนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน”
“หลายคนอาจเห็นเรื่องช้างป่าเป็นปัญหา แต่ตนกลับเห็นว่าเป็นโอกาส เมื่อก่อนช้างป่าแทบจะสูญพันธุ์ไปพร้อมกับเสือ แต่พอพวกเราช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้พวกเราได้เห็นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ช้างป่าในประเทศก็กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ทำให้พื้นที่ป่าของไทยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนปัญหาที่เกิดผลกระทบกับชาวบ้าน เราก็ไม่ได้ละเลยและหาทางจัดการปัญหาเพื่อให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล พร้อมจัดหาแหล่งน้ำชุมชนให้มีน้ำกินน้ำใช้พอเพียง ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นการนำจุดแข็งและจุดเด่นของ 3 หน่วยงาน มาร่วมกันทำงานภายในพื้นที่ ซึ่ง สสน. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและถ่ายทอดขยายผลการใช้งานโดยสร้างและพัฒนาเครือข่ายเฉพาะเครือข่ายชุมชน เอกชน วิจัย เพื่อนำเสนอ ถ่ายทอดผลการวิจัย รวมถึงพัฒนา และส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ สสน. มีแนวทางดำเนินงานที่จะส่งเสริมสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อบริหารทรัพยากรน้ำ และให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทุกภาคส่วน”
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า NIA ได้พัฒนากลไกสนับสนุนที่มุ่งสร้างและยกระดับธุรกิจนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ประชาชน และชุมชนในท้องถิ่น โดยอาศัยประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาตามโจทย์ความต้องการของชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของภูมิภาคร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ทั้งภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พร้อมทั้งสนับสนุนการยกระดับทักษะ ความสามารถของบุคลากรด้านเทคนิค และการบริหารจัดการองค์กรให้เกิดเป็น “องค์กรนวัตกรรม” โดยที่ผ่านมา NIA ได้ให้การสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำชุมชนกว่า 30 โครงการ เช่น ระบบสูบน้ำแบบขั้นบันไดพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง ฯลฯ สำหรับความร่วมมือครั้งนี้จะมุ่งเน้นการนำ “นวัตกรรม” มาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่สำหรับการแก้ไขปัญหาภายใต้ “โครงการระบบจัดการปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า” และ “โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อให้ชุมชนสามารถวางแผนการเพาะปลูกด้วยตนเองเพื่อเพิ่มผลผลิต และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนได้” เพื่อช่วยคืนความสมดุลให้กับทรัพยากรธรรมชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวเสริมว่า วช. ได้สนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการตามแนวพระราชดำริด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้ดำเนินแนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งระดับภูมิปัญญาและระดับสากล มาปรับใช้ในพื้นที่เป้าหมายรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ในการสร้างอาชีพเสริมแก่ประชากรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ด้วยการฝึกอาชีพโดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน และสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่ไม่เป็นที่สนใจของช้าง และขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อบริหารจัดการและแก้ปัญหาให้แก่ชุมชน อันเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สืบไป