O-GA เครื่องเพาะเลี้ยงสาหร่ายและผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ผลงานของนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัลชนะเลิศประจำปี 2566 เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน James Dyson Award ในระดับนานาชาติต่อไป
- จากสถิติเมื่อเดือนมกราคม ปี 2566 ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบมากขึ้นเป็น 92% ในขณะที่การผลิตน้ำมันดิบภายในประเทศลดลงเหลือ 8% ส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงภายในประเทศผันผวนตามราคาโลก
- เกษตรกรภายในประเทศไทยประสบปัญหาเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับการเกษตรมีราคาแพง ส่งผลให้ราคาของสินค้าเกษตรสูงขึ้นตามต้นทุนด้วย
ผลงานของทีมผู้ชนะรางวัล James Dyson Award ประจำปี 2566 มุ่งเน้นไปที่การช่วยลดผลกระทบจากปัญหาราคาเชื้อเพลิงสูง ที่ส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรชาวไทย O-GA เป็นผลงานจากทีมนักศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ได้ริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาทางเลือกด้านพลังงานให้เกษตรกรชาวไทย โดยเครื่องเพาะเลี้ยงสาหร่ายและผลิตน้ำมันไบโอดีเซลภายใต้ชื่อ O-GA จะเป็นโซลูชันที่นำเสนอเชื้อเพลิงในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ให้แก่ชุมชนที่ห่างไกลในประเทศไทย
O-GA (โอก้า) คือชื่อของเครื่องจักรแบบ All-In-One ที่ทำหน้าที่เพาะเลี้ยงสาหร่าย สกัดสาหร่ายเป็นน้ำมันไบโอดีเซล และเป็นเครื่องจ่ายน้ำมันแก่ผู้ใช้ ขั้นตอนการทำงานเริ่มจากการนำหัวเชื้อสาหร่ายไปเพาะเลี้ยงในหลอดเลี้ยงเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อสาหร่ายเติบโตและเพิ่มปริมาณจนมีจำนวนมากเพียงพอแล้วสาหร่ายจะถูกนำไปเข้าสู่ระบบการสกัดและกระบวนการทางเคมีเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล หลังจากนั้นน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้จะถูกเก็บในถังเก็บและแจกจ่ายแก่ผู้ใช้ผ่านหัวจ่ายต่อไป
ทีมผู้ออกแบบ O-GA ประกอบด้วยนักศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ จำนวน 4 คนโดยจุดมุ่งหมายของนักออกแบบรุ่นใหม่เหล่านี้คือการนำความรู้ด้านการออกแบบมาช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรชาวไทยให้สามารถเข้าถึงเชื้อเพลิงในราคาที่สามารถจับต้องได้ เป็นการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมภายในประเทศอย่างยั่งยืน
สรวิศ อุปฌาย์ หนึ่งในสมาชิกทีมผู้ออกแบบ O-GA กล่าวว่า “เราดีใจมากที่ผลงานในห้องเรียนของทีมเราได้รับรางวัลชนะเลิศ และสามารถนำเสนอในระดับนานาชาติได้ ทำให้เห็นว่าคนไทยก็มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ไม่แพ้ใคร”
ทีมผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ James Dyson Award ระดับชาติจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 220,000 บาทเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาผลงานต่อไป สรวิศ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการพัฒนาผลงานด้วยว่า “พวกเราจะนำรางวัลที่ได้ไปต่อยอดผลงาน โดยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมและชีววิทยา เพื่อพัฒนาให้ O-GA เป็นทางเลือกพลังงานใหม่สำหรับเกษตรกรไทยที่สามารถใช้ได้จริง”
โดยหลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับประเทศแล้ว O-GA จะเป็นตัวแทนจากประเทศไทยในการประกวดรางวัล James Dyson Award ในระดับนานาชาติซึ่งจะประกาศผู้เข้ารอบภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 นี้
รางวัลรองชนะเลิศ James Dyson Award ประเทศไทย Radiostent
ที่มาและปัญหา: การรักษาเนื้องอกในสมองเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล ผนวกกับการที่โรงพยาบาลในประเทศไทยยังขาดแคลนอุปกรณ์การรักษาโรคเนื้องอกในสมองอย่างทั่วถึง ทำให้ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองที่รับการรักษาด้วยวิธีการเคมีบำบัดต้องเดินทางเข้ามาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครเพื่อรับการรักษา ส่งผลให้นวัตกรรมที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้นจึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในวงการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย
โซลูชัน: Radiostent เป็นนวัตกรรมที่ผสานรวมการรักษาเนื้องอกด้วยการฝังแร่กัมมันตรังสีแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีการใส่ขดลวดในเส้นเลือด ซึ่งเป็นการรักษาทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่ นอกจากนั้นการฝังตัว Radiostent ในบริเวณเนื้องอกทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามารับการรักษาเคมีบำบัดบ่อยครั้ง อีกทั้งการรักษาเนื้องอกด้วย Radiostent จะเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาแบบเคมีบำบัดอีกด้วย
James Dyson Award
รางวัล James Dyson Award เป็นหนึ่งในความุ่งมั่นของเซอร์เจมส์ ไดสัน ในการแสดงให้เห็นถึงพลังของวิศวกรรมที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ โครงการต่าง ๆ ของเซอร์เจมส์ ไดสัน ได้แก่ สถาบันวิศวกรรมและเทคโนโลยีของ Dyson, มูลนิธิ James Dyson Foundation, และการประกวด James Dyson Award ที่สนับสนุนให้วิศวกรใช้ความรู้ในการค้นหาหนทางที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นผ่านเทคโนโลยี ปัจจุบันเจมส์ ไดสันได้มอบเงินทุนกว่า 140 ล้านปอนด์แก่การศึกษาในคอนเซปต์ที่แปลกใหม่รวมไปถึงโครงการด้านการกุศลอื่น ๆ
James Dyson Award ที่ดำเนินงานโดยมูลนิธิ James Dyson Foundation ได้สนับสนุนเงินรางวัลแก่สิ่งประดิษฐ์กว่า 300 โครงการ โดยมูลนิธิมุ่งเน้นสนับสนุนการศึกษาด้านวิศวกรรม ดำเนินงานด้วยเงินสนับสนุนจาก Dyson