รายงาน “Digital Lives Decoded 2024” ฉบับล่าสุดจาก เทเลนอร์ เอเชีย เผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและทัศนคติด้านดิจิทัลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดยพบว่าผู้ใช้งานชาวไทยมีความเชื่อมั่นในการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) สูงสุดเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็วของสังคมไทย
รายงานดังกล่าวจัดทำโดย GlobalWebIndex (GWI) บริษัทวิจัยด้านผู้บริโภคระดับโลก โดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของโทรศัพท์มือถือในการขับเคลื่อนวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยเกือบ 5 ชั่วโมงต่อวัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 4 ชั่วโมง 35 นาที
มานิช่า โดกรา รองประธานอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืนของเทเลนอร์ เอเชีย กล่าวว่า “ประเทศไทยมีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างน่าทึ่ง รายงานนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีมือถือและ AI ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสมากมายที่ AI นำมาสู่ประเทศไทย ตั้งแต่การเพิ่มความปลอดภัยส่วนบุคคล ไปจนถึงการปฏิวัติวงการศึกษาและบันเทิง”
AI กำลังมาแรงในไทย แต่ยังขาดการใช้งานในที่ทำงาน
รายงานระบุว่า AI กำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับวิถีชีวิตที่ชาญฉลาด ปลอดภัย และเชื่อมต่อกันมากขึ้นในประเทศไทย โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยมองว่า AI เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าตื่นเต้นที่สุด ที่น่าสนใจคือ คนรุ่น Gen X และ Baby Boomers กลับแสดงความตื่นเต้นเกี่ยวกับ AI มากกว่าคน Gen Z และ Millennials
ปัจจุบัน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยกว่า 77% มีการใช้เครื่องมือ AI โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อความบันเทิง เช่น โซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ขณะที่ 85% เชื่อว่า AI จะส่งผลดีต่อการศึกษา อย่างไรก็ตาม การใช้ AI ในที่ทำงานยังมีสัดส่วนที่น้อย โดยมีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่ใช้ AI ซึ่งต่ำกว่าประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์
“ผู้ที่ใช้ AI เพื่อทำงาน มีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นในข้อมูลที่สร้างโดย AI มากกว่า รวมถึงมีมุมมองเชิงบวกต่อผลกระทบของ AI ต่อความมั่นคงในการทำงาน ดังนั้น การส่งเสริมการใช้ AI ในที่ทำงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของ AI และนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่น ๆ ของสังคม” มานิช่า กล่าว
คนไทยให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากกว่าความเป็นส่วนตัว
แม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะช่วยให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง โอกาสทางการศึกษา และสร้างรายได้ แต่ 3 ใน 4 ของคนไทยรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์ได้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัญหาการหลอกลวงทางการเงินและการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลยังคงเป็นความกังวลหลัก
อย่างไรก็ตาม คนไทยยังคงมีความเชื่อมั่นในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์ และมีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้บริษัทต่างๆ เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อแลกกับข้อเสนอและบริการส่วนบุคคล สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งในมุมมองเรื่องความเป็นส่วนตัว โดยคนไทยให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากกว่าการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
AI เสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัย คนไทยพร้อมเปิดรับ
คนไทยส่วนใหญ่ (6 ใน 10) เชื่อว่า AI สามารถช่วยให้ชีวิตประจำวันมีความปลอดภัยมากขึ้น และรู้สึกตื่นเต้นกับศักยภาพของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์มือถือ แม้แต่ผู้ที่กังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวก็ยังมองเห็นประโยชน์ของ AI โดย 51% คาดหวังว่าอุปกรณ์มือถือที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะมอบความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น
“เพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี การสร้างความเชื่อมั่น การให้ความรู้ และการส่งเสริมความรับผิดชอบในการใช้งานดิจิทัล เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยเติบโตและเข้าถึงประโยชน์ของ AI ได้อย่างมั่นใจ” มานิช่า กล่าวทิ้งท้าย
–“โดนัลด์ ทรัมป์” คืนชีพ TikTok ในสหรัฐฯ เพราะห่วงคะแนนนิยม?