เทเลนอร์ เอเชีย (Telenor Asia) เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและทัศนคติด้านดิจิทัลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย “Digital Lives Decoded 2024” พบว่า มีคนไทยเพียง 21% ที่ใช้ AI เข้ามาช่วยการทำงาน ซึ่งน้อยกว่า สิงคโปร์ ที่ 38% และ มาเลเซีย ที่ 37% พร้อมเผย หากไทยยังไม่เร่งเรียนรู้ด้าน AI อาจเกิดความแตกต่างมากขึ้นในอนาคต
หากมองถึงโอกาสของการใช้ AI เข้ามาช่วยทำงาน วันนี้พวกเครื่องมือ (Tools) ต่างๆ ถือว่ามีความพร้อมมาก ไม่ว่าจะเป็นทางฟาก ChatGPT, Gemini ที่เข้ามาช่วยเรื่องการทำข้อมูล ทำแผนการตลาด ทำพรีเซนต์ หรือ AI ที่ช่วยด้านการทำคอนเทนต์ภาพหรือวิดีโอ อย่าง Midjourney, Canva หรือในตระกูล Adobe ก็เริ่มมี AI เข้ามาให้ใช้มากขึ้น
ด้านผลสำรวจจาก เทเลนอร์ เอเชีย ยังพบอีกว่า 40% ของงานในประจำวันจะถูกทดแทนด้วย AI ในเร็วๆ นี้
แต่ทำไมยังมีเพียง 21% ที่ใช้งาน AI ถึงแม้ว่า 85% ของคนไทยมองว่า AI เป็นเรื่องดี ซึ่งส่วนสำคัญคือเรื่องแนวความคิด (Mindset) ของคนกลุ่มหนึ่งที่ยังมองว่า AI จะเข้ามาแทนมนุษย์ ซึ่งในความเป็นจริง คือ คนที่ใช้ AI ได้เก่ง รอบรู้ด้าน AI ต่างหากที่จะเข้ามาแทนคนที่ใช้ AI ไม่เป็น
ต่อมาคือ คนไทยยังไม่เข้ามาศึกษาการใช้ AI ทำให้ไม่มีสกิล และสุดท้ายคือองค์กรไม่ได้ส่งเสริมการใช้ AI เข้ามาช่วยการทำงาน
จากปัจจัยข้างต้นนี้ หากองค์กรในไทยยังไม่ปรับวิธีการทำงานเข้าสู่ยุค AI ก็มีโอกาสที่จะทำให้ตัวเลขผู้ใช้ AI ในไทยห่างออกไปจากประเทศที่ยอมรับการนำ AI เข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้นไปด้วย
องค์กรต้องทำอย่างไร ให้คนใช้ AI มากขึ้น
ทาง เทเลนอร์ เอเชีย ได้ระบุว่า การทำองค์กรจะก้าวเข้าสู่ AI ได้นั้น สิ่งสำคัญแรกคือ ผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการนำ AI มาใช้ และสื่อสารอย่างชัดเจนว่า AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่พนักงาน แต่เข้ามาช่วยลดการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้คน เพื่อขจัดความกลัว
จากนั้นให้พนักงานได้เข้ามาศึกษา ทำเทรนนิ่ง เพื่อให้พนักงานรู้จักการใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ รวมถึงการ Co-Creation เป็นกระบวนการองค์กร เปิดโอกาสให้พนักงาน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้า บริการ หรือแคมเปญต่างๆ โดยใช้ AI
และสุดท้ายคือการทำ Human Centric Approach เป็นแนวทางที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง คือ กรอบแนวคิดในการออกแบบ พัฒนา และดำเนินโครงการ หรือสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ โดยคำนึงถึงความต้องการ ความรู้สึก และประสบการณ์ของมนุษย์เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ส่วนสำคัญสุดท้ายที่องค์กรจะลืมไม่ได้คือ Responsible AI คือ แนวทางในการพัฒนา ใช้งาน และกำกับดูแลเทคโนโลยี AI ที่คำนึงถึงผลกระทบทางจริยธรรม สังคม และกฎหมาย โดยมุ่งเน้นให้ AI สร้างประโยชน์สูงสุดแก่มนุษย์และสังคม ขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงและผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย
–คนไทยแชมป์ เชื่อมั่น AI มากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 77% ใช้เพื่อความบันเทิง