หากพูดถึง ฮ่องกง ในปี 2024 บางคนอาจจะมองว่าเป็นแหล่งช้อปปิ้งแบรนด์เนมหรือแบรนด์ดังจากทั่วโลก บางคนอาจจะเลือกพาลูกไปเที่ยวเพราะมีสวนสนุกชื่อดังอย่าง Disneyland หรือบางคนอาจจะเลือกไปมูเพราะมีวัดดังอยู่หลายแห่ง ส่วนนักลงทุนหรือนักธุรกิจก็จะมองฮ่องกงในมิติของการเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายธุรกิจเข้าไปที่จีนแผ่นดินใหญ่
แต่หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่า ฮ่องกง เป็นเมืองหนึ่งที่เกิดปัญหาภายในช่วงปี 2018-2019 และต่อด้วยวิกฤติโควิด-19 ช่วงต้นปี 2020 ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปนานถึง 4 ปี (ปี 2018-2022) และเพิ่งเริ่มกลับมารับนักท่องเที่ยวเต็มตัวอีกครั้งในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมานี่เอง
เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ไปฮ่องกงมาหลายปี อาจจะรู้สึกว่าเมืองนี้มีอะไรที่มันเปลี่ยนไป ส่วนคนที่มาครั้งแรกก็อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร ในบทความนี้ จะขอเล่าในมุมส่วนตัวที่ได้เดินทางไปฮ่องกงมาเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ห่างจากครั้งล่าสุดที่ไปมาถึง 6 ปีทีเดียว
เศรษฐกิจฮ่องกงเป็นอย่างไร
ก่อนอื่นมาดูภาพรวมเศรษฐกิจฮ่องกงกันสักเล็กน้อย ไตรมาส 1 ปี 2024 ที่ผ่านมา GDP เติบโตที่ 2.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีก่อน อัตราการว่างงานต่ำกว่า 3% โดยรวมแล้วเศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มเติบโตต่อ โดยได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการที่รัฐบาลออกมาเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ด้านค่าครองชีพ ต้องยอมรับว่าฮ่องกงเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงมากๆ ติดอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว เทียบกับสหรัฐฯ ค่าครองชีพในฮ่องกงสูงกว่าประมาณ 9% แต่หากเทียบกับไทย ราคาอาหาร ที่อยู่ การเดินทาง เฉลี่ยสูงกว่าไทยถึง 47% ราคาอาหารในร้านทั่วไปนอกห้างสรรพสินค้าจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 140-180 บาท ส่วนน้ำเปล่าขวดเล็กในร้านสะดวกซื้อราคาแพงมาก ประมาณ 7-9 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 30-40 บาทต่อขวด แต่ถ้าซื้อในซูเปอร์มาเก็ตก็จะถูกกว่าแบบชัดเจน เพราะฉะนั้นใครที่คิดจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ฮ่องกงจะต้องเตรียมตัวเรื่องค่าใช้จ่ายให้พร้อม
การเดินทางภายในประเทศ
เริ่มต้นจากการเดินทางเข้าเมือง ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายประเทศในเอเชียหันมาใช้การกรอกออนไลน์ล่วงหน้าก่อนเข้าเมืองกันบ้างแล้ว แต่กลับฮ่องกง แม้จะผ่านไปหลายปีแต่ยังคงรูปแบบเดิม คือ นักท่องเที่ยวจะต้องกรอกรายละเอียดเข้าเมืองผ่านกระดาษและยื่นให้เจ้าหน้าที่พร้อม Passport
แต่ถึงแม้ว่าระเบียบการเข้าเมืองจะเหมือนเดิม สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ ตม. ทำได้ดีมากๆ คือ ความพร้อมในการเรียกกำลังเสริมเมื่อมีผู้เข้าเมืองเข้ามาหนาแน่น ทำให้การเข้าเมืองในครั้งที่ผ่านมาใช้เวลาไปน้อยกว่าที่คาดไว้ถึง 20 นาที
ส่วนภายในสนามบินถือว่าเขาคอยดูแลอย่างสม่ำเสมอจริงๆ เพราะถึงแม้สนามบินจะเปิดใช้ครั้งแรกในช่วงปี 1998 แต่ภายในยังดูใหม่ มีป้ายบอกทางชัดเจนทั้งภาษาจีนและอังกฤษ ทำให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มากับทัวร์เดินทางเข้าเมืองได้ง่าย โดยการเดินทางก็มีทั้ง Airport Express ถ้าอยากเข้าเมืองอย่างรวดเร็ว หรือแท็กซี่ก็จะได้ความเป็นส่วนตัวแต่ก็แลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น หรือจะนั่งรถเมล์เพื่อเซฟค่าใช้จ่าย (ประมาณ 140-150 บาทไทย) ก็เข้าไปถึง จิมซาจุ่ย (Tsim Sha Tsui) ย่านที่คนส่วนมากชอบไปพักได้เลย
ด้านการเดินทางภายในฮ่องกง ถือว่าเป็นจุดเด่นหนึ่งที่ทำได้ดีมานานแล้ว ฮ่องกงถือว่าเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในด้านการวางระบบคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ MTR ที่นอกจากจะเชื่อมคนจากสนามบินเข้าเมือง ยังเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวไว้เกือบทั้งหมดแล้ว คือสามารถใช้ระบบขนส่งทางรางของฮ่องกงไปได้แทบทุกที่ ไปได้ถึงด่านเข้าเมืองเซินเจิ้น โดยไม่ต้องไปต่อรถเมล์เลย
จะมีสถานที่ดังๆ ที่นึกได้ว่ายังต้องนั่งรถเมล์ไปเท่านั้นคือ เจ้าแม่กวนอิม ที่ Repulse Bay แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ก็จะมีสวนสนุก Ocean Park อีกแห่งที่ระบบรางยังไปไม่ถึง แต่ในวันนี้ MTR ถึงแล้วเป็นที่เรียบร้อย
ด้านระบบรถเมล์ สิ่งที่มีความแตกต่างจากหลายๆ ประเทศ คือระบบป้ายรถเมล์ ของหลายๆ ประเทศที่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวมักจะรวมทุกสายมาจอดที่ป้ายเดียวกัน แต่ฮ่องกงจะแบ่งจุดจอดรถแต่ละสายเฉลี่ยกันออกไป ทำให้ป้ายรถเมล์บางจุดยาวมาก และบางสายก็จะไปจอดอีกป้ายที่อยู่ถัดไปอีก
เพราะฉะนั้นคนที่ขึ้นรถเมล์ฮ่องกงควรศึกษาทั้งสายรถเมล์ และป้ายที่จอดให้ดี แต่ตรงนี้ Google Maps ก็ช่วยได้ ทั้งจุดขึ้นรถและเวลาที่รถเมล์จะมา ส่วนค่ารถเมล์จะเป็นแบบเรตเดียว ต้องเตรียมเงินให้พอดี เพราะไม่ทอน หรือใช้บัตร Octopus แตะจ่ายก็จะง่ายกว่ามาก
และด้วยความที่เป็นเกาะ ฮ่องกงมีท่าเรือที่จะข้ามไปมาเก๊าได้และยังได้รับความนิยม ถึงแม้จะมีสะพานมุดอุโมงค์ข้ามไปมาเก๊าได้แล้วก็ตาม
การใช้จ่ายในฮ่องกง
จากการเดินทาง มาเรื่องการใช้จ่ายในฮ่องกงกันบ้าง จากที่มีเกริ่นไปเรื่องบัตร Octopus แตะจ่ายได้ง่าย ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวก็ยังใช้กันอยู่ เพราะมันสะดวกที่สุดตั้งแต่การเติมเงินที่เติมผ่านได้หลายจุด ใช้แทนเงินสดได้แทบทุกร้านค้า ใช้กับการเดินทางทั้งรถเมล์ รถไฟ เรือ หลายคนที่คิดว่าจะกลับมาเที่ยวอีกครั้งก็เลือกจะไม่คืนบัตร เพราะไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมตอนออกบัตรอีกครั้ง
เงินสด ยังเห็นคนใช้กันอยู่พอสมควร ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านขายของ
การสแกนจ่ายคือสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากที่ได้มาเที่ยวครั้งก่อน ตอนนี้การสแกนจ่ายใช้ได้ทั้ง Alipay และ WeChat Pay แต่ต้องดูป้ายก่อนว่ารับค่ายไหนบ้าง ซึ่งบางร้านก็ไม่รับเลย ส่วน Alipay+ (จ่ายผ่านแพลตฟอร์มพาร์ทเนอร์ของ Alipay) ก็ไม่ใช่ทุกร้านที่รับ Alipay จะรับการจ่าย Alipay+ เช่นกัน เพราะฉะนั้นควรถามให้เรียบร้อยก่อนซื้อสินค้า
ส่วนบัตรเครดิต ใช้ได้สบายไม่ว่าจะมาจากค่ายไหน ไม่ยุ่งยากเท่ากับฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่
ความเร็วอินเทอร์เน็ต
ฮ่องกงเป็นเมืองหนึ่งที่การสื่อสารดีมากๆ มี 5G ให้ใช้แล้วเช่นกัน ส่วนบางเครือข่ายยังมีแค่ 4G แต่จากที่ไปท่องเที่ยวมาล่าสุด ไม่พบปัญหาเน็ตช้า เน็ตหาย ใช้ได้ดีตลอดการเดินทางถึงจะอยู่ในรถไฟใต้ดิน แม้แต่อินเทอร์เน็ตภาคพื้นดินแบบลากสาย ก็เร็วมาก หลังจากใช้เน็ตโรงแรมอัปโหลดคลิปลง YouTube พบว่าเร็วมากจริงๆ แนะนำว่าเปิด Roaming ไปดีที่สุด
ฮ่องกง 2024 เหมาะกับนักท่องเที่ยวสายไหนบ้าง
สายช้อป สายแฟชั่น ยังคงชื่นชอบฮ่องกง เพราะมีย่านช้อปปิ้งที่ใหญ่โต รวมแบรนด์ดังจากทั่วโลกไว้ในที่เดียว เดินช้อปได้ทั้งวันอย่าง “จิมซาจุ่ย” ซึ่งย่านนี้ถ้าเดินๆ แล้วเห็นบางอาคารซ่อมแซมก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะจะไปกี่ครั้งก็จะเจอแบบนี้แหละ ขณะที่ “มงก๊ก” (Mong Kok) เป็นอีกย่านที่เหล่านักช้อปไปเดินกัน มีถนนหลัก 3 เส้น โดยเส้นหลักจะรวมร้านรองเท้าหลากหลายแบรนด์ที่เปิดเรียงกันทั้งเส้นถนน และบางแบรนด์ราคาถูกกว่าไทย (ถูกกว่าเล็กน้อย) ส่วนถนนอีกเส้นจะรวมแบรนด์ไอทีเอาไว้ทั้งถนน และถนนเส้นสุดท้ายจะเงียบเหงานิดๆ เรียกว่าเป็นแหล่งรวมของก๊อปก็ได้ ซึ่งคนยุคนี้แทบจะไม่เดินกันแล้ว
สายพาลูกเที่ยว แน่นอนว่า จุดหมายปลายทางหลักของคนกลุ่มนี้คือ “ดิสนีย์แลนด์” (Disneyland) ที่มีทั้งในส่วนของที่พัก และสวนสนุก ซึ่งความใหญ่ของสวนสนุกนี้บางคนใช้เวลาเต็มๆ 1 วัน เล่นเครื่องเล่นทุกชนิด จบที่ชมการแสดงตอนกลางคืน ยังรู้สึกไม่เต็มอิ่มจนต้องไปอีกวัน ซึ่งไม่แปลกที่ทางดิสนีย์แลนด์เห็น Data ของคนกลุ่มนี้ จึงออกตั๋วแบบ 2 วัน มาให้ซื้อได้ด้วย
สายกิน ฮ่องกงเป็นอีกเมืองหนึ่งที่ของกินดี คนที่ตระเวนกินอาหารท้องถิ่น ก็มักจะไปตามร้านโจ๊ก บะหมี่เกี๊ยว ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ติ่มซำ หรือร้านอาหารจีนต่างๆ แต่กลับคนพื้นที่จะเห็นว่า คนกลุ่มนี้นิยมไปต่อคิวหาร้านอาหารจากต่างชาติมากขึ้น ย่านจิมซาจุ่ยมีร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี (โดยเฉพาะปิ้งย่าง) รวมถึงอาหารไทย ให้เลือกมากขึ้น และบางร้านก็มีคนไปต่อคิวรอกิน
ส่วนเรื่องภาษา ร้านในเมืองส่วนมากมีเมนูอาหารภาษาอังกฤษให้ดู บางร้านสื่อสารภาษาไทยได้ดี มีเมนูภาษาไทย แต่ก็ยังมีร้านที่เดินเข้าไปแล้วเจอแต่ภาษาจีนอยู่
สายถ่ายรูป มีแลนด์มาร์กที่คนชอบไปเดิน เช่น ริมอ่าววิคตอเรีย (Victoria Harbour) ฝั่งเกาลูน มองข้ามไปฝั่งฮ่องกงจะเห็นตึกเรียงกันเป็นแถบ ซึ่งช่วงดึกจะเห็นคนไปเดินถ่ายไฟจากตึกฝั่งตรงข้ามมากมาย หรือขึ้นไปที่ Victoria Peak เพื่อชมวิวฮ่องกงจากมุมสูง ส่วนใครที่ชอบถ่ายเมืองเก่า ก็สามารถเดินเที่ยวได้ทางฝั่งเมืองเก่าฮ่องกง ทั้งย่าน Sheung Wan, Central หรือ Admiralty ส่วนตึกเก่าที่คนไทยนิยมไปถ่ายกันจะอยู่ที่ย่าน Tai Koo
สายมู แน่นอนว่ามีวัดดังมากมายที่คนไทยนิยมเดินทางไป ตั้งแต่ วัดหวังต้าเซียน (Wong Tai Sin Temple) วัดแชกงหมิว (Che Kung Temple) 2 วัดนี่อยู่ไม่ห่างกันมาก นั่งรถไฟ MTR ต่อกันไปได้ไม่ยาก ด้าน เจ้าแม่กวนอิม ที่ Repulse Bay ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่คนไทยนิยมไปกัน รวมถึง หระใหญ่ Ngong Ping (Po Lin Monastery) ที่มีทางเลือกระหว่างนั่งกระเช้า (ประมาณ 20 นาที) กับนั่งรถเมล์ (ประมาณ 45 นาที) ขึ้นไป และก็มีคนอีกกลุ่มที่เลือกเดินขึ้น เพราะเป็นเส้นทางธรรมชาติ ซึ่งใครที่คิดจะเดินก็ควรจะศึกษาให้ดีว่าต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง เพราะทางค่อนข้างไกล
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัสกับการไป ฮ่องกง ในปี 2024 นี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังวางแผนเดินทางไปไม่มากก็น้อยครับ