นฤมิตไพรด์ จับมือ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมพันธมิตรภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ร่วมเนรมิตถนนพระราม 1 เป็นถนนสีรุ้งแห่งความเท่าเทียม จัดกระหึ่มงาน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) ภายใต้แนวคิด Celebration of Love ที่พร้อมโบกสะบัดธงไพรด์สีรุ้งขนาดใหญ่ยาว 200 เมตร ยาวที่สุดในประเทศไทย กับขบวนพาเหรด Festival ที่ยาวกว่า 2.5 กิโลเมตร จากสนามกีฬาแห่งชาติ ทอดยาวบนถนนพระราม 1 ถึงสี่แยกราชประสงค์ ในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 นี้
Pride Month เดือนมิถุนายน 2567 ถือเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง เดือนแห่งความภาคภูมิใจของเหล่า LGBTQIAN+ กับ “บิ๊กเฟสติวัล” ที่มาพร้อมกับการเฉลิมฉลองนับถอยหลังเคานต์ดาวน์สู่การใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อนสิ้นปี 2567 กฎหมายประวัติศาสตร์ของชาว LGBTQIAN+
ปีนี้การรวมตัวของชุมชน LGBTQIAN+ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปปักหมุดในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศไทยด้วย อาทิ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก, ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร นครนายก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสุรินทร์ นครราชสีมา ขอนแก่น มุกดาหาร อุดรธานี บุรีรัมย์ มหาสารคาม อุบลราชธานี, ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต สงขลา ตรัง นครศรีธรรมราช, ภาคตะวันออก พัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นต้น โดยความร่วมมือนี้ “นฤมิตไพรด์” ได้ผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มผู้จัดและคณะทำงานไพรด์ทั่วประเทศ รวมถึงภาครัฐ ในการออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้จนถึงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานทางเพศ กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ นิทรรศการ การเสวนา เทศกาลภาพยนตร์และดนตรี การแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลาดนัดสีรุ้ง ตลอดจนข้อเรียกร้องทางกฎหมาย ทั้งการยกระดับกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้รองรับสิทธิของบุพการีเพศหลากหลาย กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ กฎหมายเลิกเอาผิดการค้าประเวณี และการยุติขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ทุกการทำงานมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชนอย่างเข้มแข็ง สนับสนุนให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม และเตรียมพร้อมสำหรับ Road to Bangkok WorldPride ในปี 2030
โดยปีนี้ภาครัฐ นำโดยนายกรัฐมนตรี “คุณเศรษฐา ทวีสิน” พร้อมกระโดดให้การสนับสนุนคอมมูนิตี้ หรือชุมชน LGBTQIAN+ เต็มกำลัง ทั้งเรื่องการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม การจัดงานพาเหรด“บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024”(Bangkok Pride Festival 2024) และงานไพรด์ เฟสติวัลทั่วประเทศ ซึ่งในวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคมนี้ ก็มาร่วมเป็นประธานเปิดงาน “กิจกรรมเปิดเทศกาลบางกอกไพรด์ 2024 Celebration Of love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม” ณ ลานพาร์ค พารากอน ด้วย
วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พร้อมร่วมขบวนพาเหรดในงาน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) บนถนนพระราม 1 จากสนามกีฬาแห่งชาติ จนถึงแยกราชประสงค์ และมอบ “ธงไพรด์ประจำจังหวัด” สัญลักษณ์การเปิดเทศกาลเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ เพื่อส่งต่อเจตนารมณ์ให้กับตัวแทนเครือข่ายผู้จัดงานไพรด์ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ (Nationwide Pride) รวม 5 ภูมิภาค 14 จังหวัด ไปจัดไพรด์ เฟสติวัล ให้กระหึ่ม!
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมช่วยผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3 เดือนนี้ เพราะกลุ่ม LGBTQIAN+ ถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง เป็นอีกหนึ่งแรงหนุนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้แน่นอน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายผลักดันประเทศไทย เป็น Pride Friendly Destination และเป็นเจ้าภาพจัด Bangkok WorldPride ในปี 2030 เพื่อให้ไทยเป็นแลนมาร์ค หรือหมุดหมายอันดับ 1 ของโลกของกลุ่ม LGBTQIAN+ ทั่วโลกด้วย”
วาดดาว – อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์ ในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Pride Festival 2024” กล่าวว่า การจัดงานบางกอกไพรด์ปี 2023 หรือ 2566 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด ทั้งภาครัฐ พันธมิตรภาคประชาสังคมและภาคเอกชนให้การสนับสนุนเต็มกำลัง มีคนเข้าร่วมขบวนพาเหรดมากถึง 100,000 คน และงาน“บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) ปีนี้ คาดว่าจะมีคนเข้ามาร่วมขบวนพาเหรด ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 200,000 คนแน่นอน เรียกว่าการตอบรับจากทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มคอมมูนิตี้เราชาวสีรุ้ง หรือ LGBTQIAN+ ล้นทะลัก
“การที่เราอยู่เคียงข้างกันมานับสิบปีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการสร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้เป็นผู้นำในแต่ละพื้นที่ของตน ผ่านอัตลักษณ์และตัวตนที่หลากหลาย นี่คือการผสานความต่างของเพื่อนพี่น้องในการยกระดับความเป็นธรรมทางเพศ และผนึกกำลังให้เกิดเครือข่ายคณะทำงานไพรด์ที่มีพลังอันมหัศจรรย์ในทุกจุดของประเทศ เราเดินทางต่อสู้กันมานานมาก เรามาไกลกันมากจริง ๆ และเราจะเดินทางต่อ เพื่อให้ได้เห็นภาพฝันของเรากลายเป็นจริง”
สำหรับเกณฑ์ของประเทศเจ้าภาพ WorldPride นอกจากรัฐบาลจะต้องโอบรับกฎหมายความหลากหลายทางเพศ รวมถึงความพร้อมในการอำนวยความสะดวกจากการเดินทางของคนทั่วโลกแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การแสดงความแข็งแกร่งของ Pride Community และอยากได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐบาลและท้องถิ่น ในการจัดงาน Pride ทั่วประเทศตลอดทั้งเดือน ซึ่งกลุ่มผู้จัดและคณะทำงานไพรด์ทั่วประเทศได้เดินหน้าทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
ปีนี้ “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) มาในธีม Celebration Of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม ซึ่งจัดใหญ่ในรูปแบบ “เฟสติวัล” ที่จัดฉ่ำ ๆ 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
ขบวนบางกอกไพรด์ 2024 (Bangkok Pride Parade 2024) ภายใต้แนวคิด “Celebration Of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม” ประกอบไปด้วย 5 ขบวนหลัก 5 นิยามความรักที่เปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมตีความ แสดงออก และนำเสนอนิยามความรักในแบบของตัวเอง เพื่อใช้ความรักนำทางสร้างสรรค์สังคมที่เท่าเทียม
เริ่มตั้งขบวน ณ สนามกีฬาเทพหัสดิน และปล่อยขบวนที่ประตูใหญ่หน้าอาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ เดินบนถนนพระราม 1 มุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์ รวมระยะทางกว่า 2.5 กิโลเมตร
- ขบวนที่ 1 สมรสเท่าเทียม (Love Wins) ปล่อยขบวน เวลา 15.00 น.
- ขบวนที่ 2 ตัวตน (Love for Identity) ปล่อยขบวน เวลา 15.30 น.
- ขบวนที่ 3 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Love for Dignity) ปล่อยขบวน เวลา 16.00 น.
- ขบวนที่ 4 สันติภาพ (Love for Peace & Earth) ปล่อยขบวน เวลา 16.30 น.
- ขบวนที่ 5 เสรีภาพ (Love for Freedom) ปล่อยขบวน เวลา 17.00 น.
เวทีเสวนา (Bangkok Pride Forum) เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งจะมีมากกว่า 30 หัวข้อเด็ด ตลอดระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2567 เพื่อร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่เท่าเทียมและปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยจุดเริ่มต้นของการเกิด The Bangkok Pride Forum 2024 นั้นเกิดขึ้นบนแนวคิด “Together, We Thrive” หรือ “การหลอมรวมกัน เพื่อการเติบโต” เพราะการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน LGBTQIAN+ การจัดกิจกรรมไพร์ดพาเหรด คือ การเปิดพื้นที่ของการแสดงตัวตน ส่งเสียงเรียกร้อง การจัดกิจกรรม FORUM เพื่อพูดคุยประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี นวัตกรรมทางการแพทย์ สุขภาวะ การศึกษา และสิทธิมนุษยชน เพื่ออัพเดทสถานการณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางเพศ เป็นสิ่งยืนยันในการเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพ Bangkok WorldPride ปี 2030 โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างความเท่าเทียม ความร่วมมือ และการเติบโตร่วมกันหลากหลายด้าน เพื่อสะท้อนความหลากหลายและความเข้มแข็งของชุมชน LGBTQIAN+ และพันธมิตร
แดร็ก แบงค๊อก เฟสติวัล (DRAG BANGKOK Festival 2024) จัดยิ่งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2567 ควบคู่ไปกับกิจกรรม “บางกอก ไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) งานนี้ถือเป็น DRAG Festival ครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย ที่รวมตัวศิลปิน Drag จากทั่วทุกมุมโลก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศกว่า 500 ชีวิต มาอยู่ในที่เดียว ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นการรวมตัวยิ่งใหญ่ของตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการ ห้างร้าน ดารานักแสดง ที่ร่วมสนับสนุน Thai Drag Community เลยทีเดียว โดยขบวนแดร็กพาเหรด มาในธีม “I’ve got the power”
โดย ภัทร เลิศสุกิตติพงศา กรรมการบริษัท เยลโล่ แชนแนล จำกัด ในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้จัดงาน “DRAG BANGKOK Festival 2024” กล่าวว่า ในส่วนของ “DRAG BANGKOK Festival 2024” งานเทศกาลแดร็กครั้งแรกของประเทศไทย และครั้งแรกของเอเชียกับการรวมตัวพันธมิตรใน Thai Drag Community ทั้งเหล่าผู้ที่สนใจในงาน Drag และศิลปิน Drag ที่มาร่วมแสดงและเดินขบวนร่วมกันมากที่สุดกว่า 500 คนจากทั่วประเทศไทย และศิลปินแดร็กนานาชาติ ทั้งจากออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และอีกมากมาย ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
“เทศกาลในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการตอกย้ำศักยภาพของศิลปินแดร็กและนางโชว์ ในชุมชน LGBTQIAN+ ของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการร่วมขับเคลื่อน ผลักดัน และพัฒนาส่งเสริมชุมชนแดร็กของประเทศไทยให้เติบโตไปสู่ระดับโลกเป็น Soft power ที่สะท้อนตัวตนไม่ใช่เพียง LGBTQIAN+ ของประเทศไทย แต่สะท้อน ศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยผ่านการแต่งตัว และการแสดงโชว์ต่าง ๆ อีกด้วย อีกหนึ่งเป้าหมายของผม อยากสนับสนุนศิลปินแดร็กไทยเป็นอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ และตอกย้ำเมืองไทยเป็นดินแดนแห่ง LGBTQIAN+ ด้านศิลปะ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว”
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ไทยกับงานเทศกาลครั้งนี้ ใน “DRAG BANGKOK Festival 2024” วันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2567 ที่ลานพาร์ค พารากอน พร้อมกิจกรรมที่เข้าชมได้ “ฟรี” วันที่ 1 มิถุนายน – 3 มิถุนายน 2567 ตั้งแต่ 10:00 – 18:00 น. และกิจกรรมพิเศษในวันที่ 2 มิถุนายน – 3 มิถุนายน 2567 ตั้งแต่ 19:00 – 22:00 น. ติดต่อซื้อบัตรและตรวจสอบรายละเอียดงานได้ที่Facebook Page : DRAG BANGKOK
อย่าพลาด! ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) ตั้งแต่วันนี้ – 4 มิถุนายน 2567 ณ ถนนพระราม 1