ปัญหาทางเท้าในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่มีมานานมาก กทม. ได้พยายามแก้ไขปัญหาไปแล้วในบางจุดและยังเดินหน้าต่อไป โดยจัดรูปแบบโครงสร้างและจัดระเบียบทางเท้าให้เหมาะสมกับการใช้งานของทุกคน ปัญหาทางเท้ากรุงเทพต้องมีการแก้ที่ตรงจุด ต้องเริ่มด้วยด้วยการจัดระบบสาธารณูปโภคบนดินและใต้ดินที่เหมาะสม โดยจะแก้ปัญหาทางเท้าที่เต็มไปด้วยฝาท่อ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา มีกระเบื้องแตก ยุบเป็นหลุม และการทรุดตัวน้ำขัง
ถนนพระราม 1 บริเวณแยกปทุมวันจนถึงแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจการค้าใจกลางกรุงเทพมหานครที่มีคนสัญจรต่อวันมากที่สุด หากใครเคยไปเดินก็จะรู้ว่า บนทางเท้ามีฝาท่อเยอะมากและมีกระเบื้องแตกเพราะถูกขุดเจาะซ่อมสาธารณูปโภคแล้วทำกลับมาสภาพไม่ดีเหมือนเดิม
การพัฒนาทางเท้าถนนพระราม 1 ครั้งนี้ ไม่ได้เน้นการทำให้สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้เป็นทางเท้าที่ดีเหมาะกับการใช้งานของทุกคน และแก้ปัญหาพื้นฐานที่จะเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาถนนทั้งหมดในกรุงเทพ ซึ่งจากการวิเคราะห์ปัญหาทางเท้า จะพบปัญหาหลัก ๆ 3 อย่าง ได้แก่
- ระบบสาธารณูปโภค ทางเท้าที่ถูกขุดเพื่อซ่อมแบบไร้ระเบียบเป็นต้นต่อปัญหา ทำให้การขุดถนนซ่อมแซมก็ไร้ระเบียบ
- การเว้นพื้นที่ปลูกต้นไม้ไม่เพียงพอ เมื่อต้นไม้โตขึ้น จะมีรากชอนไชกระเบื้องทางเท้าให้นูนขึ้น แตก และหลุดออกจากพื้น
- การใช้ทางเท้าผิดประเภท มีทั้งการจอดรถและขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า
การออกแบบทางเท้าถนนพระราม 1 ช่วงแยกปทุมวันจนถึงแยกราชประสงค์ จึงต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้เดินทางสัญจรสำหรับทุกคน ที่คงทนแข็งแรงและง่ายต่อการบำรุงรักษา เพื่อจะได้เป็น #ต้นแบบทางเท้า ที่เป็นมาตรฐานในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้แก่
1 จัดระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคใต้ดินให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง และจัดให้มีพื้นที่สำหรับซ่อมแซมบำรุงระบบสาธารณูปโภคในแนวเดียวกัน โดยกำหนดพื้นที่ติดตั้งให้ห่างจากขอบทางเท้าไม่เกิน 15 ซม. และผสานให้อยู่แนวเดียวกับพื้นที่สีเขียว
2 เมื่อมีแนวพื้นทางเท้าที่ไม่ต้องขุด โครงสร้างพื้นทางเท้าสามารถใช้คอนกรีตเสริมเหล็กสำหรับถนนคนเดินสายหลัก ให้คงทนและปูกระเบื้องทับ ไม่ให้ทางเท้ากระเดิดแบบฐานบดอัด
3 ขยายทางเท้าให้มีความกว้างอย่างน้อย 2.4 เมตรตามมาตรฐานสากล โดยจัดระเบียบป้าย เสาไฟ พื้นที่สีเขียว ให้อยู่ในแนวเดียวกัน ทำฐานป้ายทุกป้าย ฐานเสาทุกอุปกรณ์บนถนนให้เรียบเสมอทางเท้าด้วย และปรับขนาดป้อมตำรวจให้มีขนาดเล็กลง
4 ปรับระดับทางเท้าให้สูงจากพื้นถนนไม่เกิน 10 ซม. เพื่อไม่ให้ชันเกินไปเวลาทำทางลาด
5 ปูพื้นทางเท้าด้วยวัสดุเรียบง่าย เพราะเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เวลาเปลี่ยนกระเบื้องจะได้ง่าย
6 กำหนดแนวปลูกต้นไม้ให้ชัดเจน เป็นแนวเดียวกับการติดตั้งสาธารณูปโภค เสาไฟ และป้าย นอกจากเพื่อความร่มรื่นแล้ว ยังให้เป็นพื้นที่รับน้ำ (Rain Garden) โดยปรับองศาทางเท้าให้สโลปเพื่อให้น้ำไหลลงพื้นที่ Rain Garden ไม่ท่วมขังบนฟุตบาทเมื่อฝนตก
7 ทำทางเท้า สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ที่มีแผ่นทางเท้าคนพิการ (Braille Block) และทางลาดเชื่อมต่อทางเดินอย่างปลอดภัย
ในตอนนี้ ได้เริ่มพัฒนาทางเท้าไปแล้ว โดยร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภครื้อย้ายสิ่งของที่ไม่ได้ใช้งานออก และทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันพัฒนาทางเท้า ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างปรับปรุงทางเท้าได้ในเดือนสิงหาคม 2564 นี้
เพื่อให้ ทางเท้าที่ถนนพระราม 1 เป็น “ต้นแบบทางเท้า” ที่สมบูรณ์ที่สุด 📲ช่วยกันแสดงความคิดเห็นเสนอแนะ “รูปแบบทางเท้า” กันด้วยนะครับ