เตรียมปรับโฉม! สะพานพุทธสู่แลนด์มาร์คทางประวัติศาสตร์

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เปิดเผยว่า ทช. มีแผนงานการบำรุงรักษาและบูรณะสะพานเหล็กในความดูแลของ ทช. ซึ่งมีทั้งหมด 3 แห่ง คือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า , สะพานกรุงธน และ สะพานกรุงเทพ โดยมีเพียงสะพานกรุงเทพ และ สะพานพุทธฯ เท่านั้นที่สามารถเปิด-ปิด ได้ โดยในส่วนของสะพานพระพุทธยอดฟ้านั้น ทช. ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการปรับปรุงให้เป็นแลนด์มาร์คสำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ซึ่งตามแผนการบำรุงรักษาของ ทช.จะมีการตรวจสอบสภาพทุกปี และทำการซ่อมบำรุงรักษาใหญ่ทุก ๆ 5-10 ปี โดยในปีที่แล้ว(2562) ได้มีการทาสีโครงสร้างสะพานและซ่อมแซมชิ้นส่วนที่ชำรุดเสียหายไปแล้ว

และในปีนี้ (2563) ได้ทำการจ้างสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลับธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาในการสำรวจความเสียหายสภาพสะพานในปัจจุบันและประเมินความเป็นไปได้ในการใช้งานระบบเปิด-ปิดสะพาน เพื่อหาแนวทางการบูรณะสะพานให้สามารถ เปิด-ปิด ได้อีกครั้ง หลังจากที่ไม่สามารถทำการเปิด-ปิด มานานหลายปี และแม้ปัจจุบันตัวโครงสร้างจะยังคงแข็งแรง แต่จะบูรณะซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพดั้งเดิมเหมือนสมัยก่อนมากที่สุด เพื่อให้เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ รวมถึงมีแผนติดตั้งกล้องวงจรปิด ดูแลความปลอดภัย , ระบบ Traffic Intelligence System, ระบบMonitoring Behavior คอยตรวจสอบพฤติกรรมของสะพาน รวมถึงติดตั้งไฟประดับเพื่อเสริมความสวยงามในยามค่ำคืนอีกด้วย

ล่าสุดได้ประสานไปยังบริษัท Dorman Long ของอังกฤษ ที่เป็นบริษัทก่อสร้างสะพานแห่งนี้ เพื่อขอแบบและพิมพ์เขียว สำหรับนำมาปรับปรุงให้อยู่ในสภาพเดิม รวมถึงประสานผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมฟื้นฟูกลไกการเปิด-ปิด สะพานแล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษา ประมาณ 1 ปี จากนั้นจะตั้งงบและเริ่มบูรณะซ่อมแซมได้ภายในปีงบประมาณ 2565 คาดว่าใช้เวลาบูรณะซ่อมแซม ราว 2 ปี ถึง 2 ปีครึ่งจะแล้วเสร็จ โดยในช่วงปรับปรุง จะให้รถยนต์ไปใช้เส้นทางสะพานพระปกเกล้าฯ แทน ส่วนงบประมาณบูรณะ จะต้องรอผลการศึกษาอีกครั้ง

สำหรับสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุนานถึง 88 ปี เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2472 และเปิดใช้งานเมื่อ 6 เมษายน 2475 เป็นสะพานโครงเหล็กที่สามารถเปิด-ปิดได้ (แต่ปัจจุบันไม่มีการใช้ระบบดังกล่าว) ขณะที่สะพานแห่งนี้สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ ราว 70,000-80,000 คัน / วัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อการบูรณะแล้วเสร็จ จะเปิดสะพานนี้ให้ทำการสัญจร ได้ตามปกติ แต่จะไม่อนุญาตให้รถบรรทุกใช้เส้นทางนี้ และจะทำการเปิด-ปิดสะพาน เฉพาะช่วงโอกาสสำคัญ หรือ ตามที่มีการร้องขอมาเท่านั้น

Related Posts

Scroll to Top