สวัสดีครับ วันนี้ Biztalk Gadget จะมา รีวิว CardiacSense Watch 3 เป็นสมาร์ทวอทช์ที่ถูกพัฒนามาแบบเฉพาะทาง เพื่อคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจโดยเฉพาะ เดี๋ยวเราจะมาดูกันตั้งแต่การออกแบบ การใช้งาน และฟีเจอร์ที่เป็นไฮไลต์ กันครับ
เริ่มจากหน้าตากันก่อนเลยครับ เจ้าตัวนี้ทรงกล่องจะยาวๆ คือเขาวางนาฬิกาพาดยาวมาในกล่องเลย ส่วนการชาร์จ มาเป็นแท่นเลยครับ ซึ่งจะต่างจากสมาร์ทวอทช์ในยุคนี้ที่มักจะใช้เป็นแถบแม่เหล็กแปะชาร์จ
ตัวเครื่องวัสดุเป็นพลาสติก ตัวเรือนแข็งแรงดีครับ แต่อาจจะดูหนาไปนิดนึง ซึ่งเพราะเขาใส่เซ็นเซอร์เข้ามาหลายตัวครับ เพื่อให้การวัดอัตราการเต้นของหัวใจมีความแม่นยำเทียบเท่ากับอุปกรณ์การแพทย์
ตัวเรือนมีปุ่มที่กดได้ปุ่มเดียว ใช้สำหรับเปิด/ปิด ตัวเครื่อง มี ECG sensor หรือเซ็นเซอร์วัดการเต้นของหัวใจ ทางด้านซ้ายล่างของตัวเรือน ส่วนด้านขวาบนเป็น SpO2 Sensor ช่วยวิเคราะห์ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด เดี๋ยวจะมาบอกอีกทีว่าทั้ง 2 เซ็นเซอร์นี้ใช้ทำอะไร
ส่วนด้านใต้ตัวเรือน จะมีทั้ง ECG และ PPG sensor ซึ่งทั้ง 2 ตัวเอาไว้ช่วยในการวัดค่าหัวใจ
สำหรับตัวสายใช้ซิลิโคนที่ยืดหยุ่นได้ระดับนึงครับ เพื่อให้ใส่แล้วสบายข้อมือ
เจ้าตัวนี้ใช้งานได้โดยการ Sync ผ่าน Bluetooth ครับ เบื้องต้นจะต้องโหลดแอปพลิเคชัน CardiacSense มาก่อน จากนั้นก็ทำการ Pair Device หรือจับคู่อุปกรณ์นั่นแหละครับ ที่ตัวนาฬิกาจะขึ้นเลขรหัสมาก็ให้เราพิมพ์เข้าไปที่สมาร์ทโฟน แค่นี้ก็จับคู่กันเรียบร้อยครับ
หลังจากเชื่อมต่อแล้ว หน้าจอก็จะเป็นแบบนี้เลยครับ โดยหน้าแรกจะบอกเวลา วันที่ สถานะแบตเตอรี่ และสถานะการเชื่อมต่อ ซึ่งเราก็สามารถใช้นิ้วปัดไปหน้าต่อได้ไป เพราะหน้าจอเป็นทัชสกรีน โดยหน้าถัดไปจะบอกจำนวนแคลอรี่ จำนวนก้าวที่เดิน ในแต่ละวัน รวมถึงอัตราการเต้นของหัวใจแบบเรียลไทม์
ปัดมาอีกจะพบกับหน้าที่มีสัญลักษณ์ให้เราเอานิ้วแตะไปที่ 2 จุดของตัวเรือน คือเซ็นเซอร์ ECG และ SpO2 ที่ผมบอกไปในข้างต้น ซึ่งตรงนี้คือการวัดค่าหัวใจแบบละเอียดครับ ซึ่งขณะวัดจะต้องเปิดแอปพลิเคชันเอาไว้ด้วย
หน้าถัดไปคือการแสดงสถานะเชื่อมต่อ และรหัสของตัวเรือนที่เรากรอกไปตอนจับคู่นาฬิกากับมือถือเราครับ
และหน้าสุดท้ายคือ Factory Reset หรือการคืนค่าเริ่มต้น
เมนูของเครื่องก็มีแค่นี้เลยครับ ไม่ซับซ้อนเหมือนกับสมาร์ทวอทช์ทั่วไป เพราะอย่างที่บอกไปว่า มันออกแบบมาเพื่อคนที่มีปัญหาโรคหัวใจโดยเฉพาะ
ส่วนที่ตัวแอปพลิเคชัน ตรงนี้ขอไม่ลงลึกครับ เพราะมันเป็นฟังก์ชันที่เราต้องเข้าไปปรึกษากับแพทย์ก่อนเพื่อดูข้อมูลตามที่แพทย์แนะนำครับ ซึ่งทางโรงพยาบาลเองก็ต้องใช้แพลตฟอร์มเดียวกันครับ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้จากทั้ง 2 ฝั่ง
เรามาดูการวัดค่าแบบละเอียดกันดีกว่าครับ หลังจากเราเอานิ้วแตะไปที่ลัญลักษณ์ถูก ก็ให้เอานิ้วไปกดไว้ตรงเซ็นเซอร์ทั้ง 2 จุด จากนั้นจะเห็นว่า หน้าแอปพลิเคชันจะถูกเปลี่ยนเป็นหน้าวัดค่าการเต้นหัวใจแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะมีกราฟให้ดูกันชัดๆ เหมือนกับเวลาเราไปหาหมอเลยครับ
ตรงนี้วิธีดูไม่ยากครับ เราจะเห็นเส้นแนวตั้งที่เป็นเส้นยาวๆ ถ้าหัวใจปกติ ความห่างของแต่ละเส้นจะเท่ากันครับ นั่นคือหัวใจเราเต้นปกติ แต่กับคนที่มีปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เราจะเห็นชัดเจนเลยว่าเส้นแนวตั้งยาวๆ มันจะมีช่องว่างที่ไม่เท่ากัน ห่างมากบ้าง น้อยบ้าง ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลเข้าไปปรึกษาแพทย์ต่อได้ครับ
ข้อดีอีกอย่างของการได้วัดหัวใจด้วยตัวเองจากทุกที่คือ เวลาเราไปพบแพทย์ บางครั้งเราตื่นเต้น ทำให้อาจจะได้ข้อมูลที่คาดเคลื่อน หรือบางคนหัวใจเต้นผิดจังหวะแค่บางช่วงเวลา และช่วงเวลานั้นไม่ตรงกับช่วงที่ไปพบแพทย์ ทำให้แพทย์ไม่สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้
สุดท้าย หลังจากวัดเสร็จแล้ว รีพอร์ทจะถูกส่งเข้าไปที่อีเมลที่เรากรอกเอาไว้ในแอปพลิเคชัน สำหรับใช้เป็นข้อมูลให้แพทย์วิเคราะห์ได้ครับ
ก็ประมาณนี้ครับ สำหรับการ รีวิว CardiacSense Watch 3 ส่วนตัวผมก็ต้องบอกว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจทีเดียวครับ เพราะมันทำสิ่งที่สมาร์ทวอทช์ทั่วไปทำไม่ได้ คือการวัดค่าหัวใจแบบละเอียดที่มากกว่าการโชว์แค่ตัวเลข ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้คงจะถูกพัฒนาไปมากขึ้น คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้เราป้องกันอาการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจกันได้ดีขึ้นไปอีกครับ
แล้วคุณผู้ชมคิดเห็นยังไงก็คอมเมนต์มาพูดคุยกันได้ครับ สำหรับวันนี้ ผม แสบ ทรงกลด ลาไปก่อนครับ สวัสดีครับ